สรรพากรออกกฎหมายดึงข้อมูลการเงินคนไทยในต่างประเทศ

สรรพากรออกกฎหมายดึงข้อมูลการเงินคนไทยในต่างประเทศ

กรมสรรพากรเดินหน้าออกกฎหมายดึงข้อมูลการเงิน ทั้งประกัน เงินฝาก ทรัพย์สิน ของคนไทยในต่างประเทศ เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษี หลังสภาฯเห็นชอบให้ไทยทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ คาดกฎหมายมีผลบังคับใช้ในปี 66

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างจัดทำกฎหมายรองรับการขยายความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนการเงินของคนไทยในต่างประเทศ เช่น ข้อมูลเงินฝาก ทรัพย์สิน ประกันและ หลักทรัพย์ต่างๆ กับหน่วยงานสรรพากรระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศ  ที่ไทยเป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี)

การจัดกฎหมายดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ป้องกันเงินนอกกฎหมายและไม่ให้เกิดการหลบเลี่ยงภาษีจากกลุ่มผู้มีรายได้ที่อยู่นอกประเทศ หรือมีการนำเงินออกไปต่างประเทศเพื่อเลี่ยงการตรวจสอบ

ทั้งนี้ ขณะนี้ กรมสรรพากร ได้นำข้อตกลงดังกล่าวเสนอต่อรัฐสภาและผ่านความเห็นชอบไปแล้วตามกฎหมายรัฐธรรมนูญหากไทยจะต้องทำสัญญาระหว่างประเทศ ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปจะมีการเปิดรับฟังความเห็นต่อการจัดทำร่างกฎหมาย และเสนอต่อสภาฯเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาออกกฎหมาย หากผ่านความเห็นชอบ จะมีการออกเป็น พ.ร.บ. เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในปีงบ 66

“ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรไทย ได้พัฒนาความร่วมมือในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว เช่น การเปิดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลด้านภาษีของชาวต่างชาติที่มีรายได้และเสียภาษีในไทยกับประเทศต้นทางที่เป็นเจ้าของสัญชาติ และแผนต่อไปจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ข้อมูลเกี่ยวข้องภาษี ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายอยู่ หากทำสำเร็จจะช่วยป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีและเงินนอกกฎหมายได้มาก เพราะหลายประเทศ เช่น เกาะบริติช เวอร์จิน ที่เป็นสวรรค์นักลงทุน ก็เข้ามาเป็นสมาชิกของโออีซีดี แล้ว”

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากความร่วมมือดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะทำให้สถาบันการเงินต่างประเทศที่มีคนไทยฝากเงินอยู่ จะต้องรายงานข้อมูลการฝากเงินของคนไทยไปให้สรรพากรของประเทศต้นทาง ก่อนที่จะแจ้งกลับมาให้กรมสรรพากรไทยรับทราบ  ในทางกลับกัน กรมสรรพากรไทยจะต้องรายงานข้อมูลการฝากเงินของชาวต่างชาติ ที่ฝากเงินในประเทศไทย ให้กับประเทศต้นทางที่เป็นเจ้าของสัญชาติเช่นกัน  

นอกจากนี้ กรมสรรพากรได้หารือร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ที่มีสมาชิก 139 ประเทศทั่วโลก เพื่อจัดทำมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ  เช่นมาตรการกำหนดให้บริษัทข้ามชาติต้องเสียภาษีเงินได้ โดยปันส่วนกำไรมาให้กับประเทศผู้ใช้บริการ ถึงแม้จะไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศที่ให้บริการ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการจัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิส จากแพลตฟอร์มออนไลน์ของไทยในปัจจุบัน 

 “การเจรจาหารือกันในกลุ่มสมาชิกโออีซีดี เป็นการต่อยอดการจัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิส เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้เสียภาษีทุกราย ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ของไทยที่ต้องการขยายฐานการจัดเก็บภาษีให้ไทยมีแหล่งรายได้ใหม่จากบริษัทข้ามชาติที่เคยหลบเลี่ยงภาษี กลับมาจ่ายภาษีให้กับประเทศ หากเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 66 และมีผลบังคับใช้ในปี 67 และขณะนี้มีการเจรจาขอเลื่อนการบังคับใช้เป็นปี 68”

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากรเผยว่า ขณะนี้ กรมฯอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร เมื่อดำเนินการรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จจะมีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯทันที คาดว่า กฎหมายจะมีผลบังคับใช้เร็วๆนี้

ทั้งนี้ การออกกฎหมายดังกล่าว เป็นไปตามกรณีที่ประเทศไทยมีพันธกรณีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีอากรแบบร้องขอตามความตกลงหรืออนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรและความตกลง พหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี

รวมทั้ง มีพันธกรณีในการแลกเปลี่ยนข้อมูล บัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยน ข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Informationfor Tax Purposes ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีอากรขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisationfor Economic Co-operation and Development) ซึ่งมีผลผูกพันให้ประเทศไทย ในฐานะสมาชิกต้องดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีอากรและข้อมูลบัญชีทางการเงินกับคู่สัญญาตามความตกลงดังกล่าว 

ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีและข้อผูกพัน ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีอากรและข้อมูลบัญชีทางการเงินดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติดังกล่าว

“การแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวนั้น หมายความว่า เราจะต้องให้ข้อมูลทางภาษีอากรและข้อมูลบัญชีทางการเงิน เช่น หลักทรัพย์ ประกัน เงินฝาก และสินทรัพย์ ของคนต่างชาติในกลุ่มประเทศโออีซีดีทั้งหมดที่อยู่ในประเทศไทย ในทางกลับกัน ประเทศดังกล่าวก็ต้องส่งข้อมูลดังกล่าวมาให้กับเราเหมือนกัน โดยกำหนดการส่งทุกปี ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนก.ย.ปีหน้าเป็นต้นไป”