ก.ล.ต.ยกระดับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หนุนเอกชนออก‘ไอซีโอ‘

ก.ล.ต.ยกระดับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หนุนเอกชนออก‘ไอซีโอ‘

ก.ล.ต. เดินหน้าขับเคลื่อนแผน "ยกระดับ" ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีมาตรฐานมากขึ้น ทั้งดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำ ,กฎขั้นพื้นฐานการลิสต์เหรียญ​ พร้อมปักหมุด! ผลักดันระดมทุนผ่าน​ Investment Token โดยเฉพาะกลุ่ม Green Project และ Soft Power

นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ก.ล.ต. มุ่งยกระดับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีมาตรฐานมากขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน ไม่ว่าจะเป็น การปรับเพิ่มการดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำจาก 15 ล้านบาทเป็น 25 ล้านบาท หรือมากกว่านั้น , กฎเกณฑ์ขั้นพื้นฐานของการจดทะเบียนเหรียญต่างๆ บนกระดานเทรด มีมาตรฐานของเกณฑ์พื้นฐานที่เข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม 

รวมถึง ก.ล.ต. อยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไขพ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลแยกโทเคนดิจิทัล เพื่อการลงทุนมาอยู่ใน พรบ. หลักทรัพย์และการพิจารณาให้นักลงทุนรายย่อย สามารถลงทุนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนได้อย่างไม่จำกัด จากปัจจุบันจำกัดอยู่ที่ไม่เกิน 300,000 บาท/คน  และยังมีการหารือกับสรรพากร เพื่อพิจารณาผ่อนคลายเกณฑ์ภาษี สำหรับโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนเพิ่มเติมด้วย  ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นตอนการเปิดรับฟังความเห็นและหารือกัน คาดว่าในปีนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น 

สำหรับโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ในปีนี้คาดว่าจะเห็นโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Project) รวมถึงโครงการที่เกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)  เป็นสิ่งที่ก.ล.ต.สนับสนุน เพื่อที่โครงการเหล่านี้ จะได้ระดมเงินทุนและนำไปพัฒนาโครงการให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ 

ปัจจุบัน มีผู้ที่สนใจระดมทุนเสนอขายเหรียญดิจิทัลให้นักลงทุน (ไอซีโอ) แล้วหลายสิบราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทั้งโครงการGreen Project ,Soft Power และasset-backed ICO  น่าจะมีความชัดเจนในปีนี้มากขึ้น 

“การออกไอซีโอในปีนี้จะได้มากหรือน้อย ขึ้นกับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ตลาดคริปโทฯ ยังทรงตัว และยังมีประเด็นหารือทางภาษี และการปรับปรุงกฎหมายให้ชัดเจน”  

ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มสถาบันการเงินให้ความสนใจที่จะยื่นขอใบอนุญาตผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Custodial Wallet Provider) ประมาณ 2-3 ราย  มองว่าการที่มีสถาบันการเงินให้ความสนใจ เป็นแนวโน้มที่ดี ก.ล.ต. พยายามขับเคลื่อนให้คัสโตเดียนในประเทศไทยที่มีความน่าเชื่อถือ 

กรณีของ zipmex หลังครบ 15 วันที่สั่งการให้แก้ไขการดำเนินงาน คณะกรรมการ ก.ล.ต.จะมาพิจารณาอีกครั้งว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อ เช่น กำหนดเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วหากยังไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ตามกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล​ ก.ล.ต.สามารถพิจารณาเสนอการเพิกถอนใบอนุญาตไปยังกระทรวงการคลังได้