ความแตกต่างระหว่าง Web3 และ Web3.0

Web3 และ Web3.0 เป็นคำศัพท์ที่มักถูกใช้เพื่อสื่อถึงความหมายเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นสองแนวคิดที่มีความแตกต่างกันพอสมควร Web3 หมายถึงเว็บไซต์ที่ทำงานแบบกระจายศูนย์โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน  ในขณะที่ Web3.0 เป็นเว็บเชิงความหมาย ที่ชาญฉลาด และมีความสามารถในการเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันต่างๆ ได้มากกว่า Web2.0 ที่พวกเราคุ้นเคย และใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน

คำว่า ‘Web3’ ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปี 2557 โดย คุณ ‘Gavin Wood’ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum โดยเขาได้ใช้คำศัพท์นี้เพื่ออธิบายถึงวิสัยทัศน์สำหรับเว็บไซต์แบบกระจายอำนาจที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง และมีระบบเบื้องหลังที่ทำงานด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเขาเชื่อว่าจะสามารถนำมาใช้เพื่อสร้างเว็บไซต์ที่มีความปลอดภัย ความโปร่งใส และความเท่าเทียมต่อผู้ใช้งานมากกว่าเว็บไซต์ที่มีอยู่ปัจจุบัน

ความสำคัญของ Web3 อยู่ที่โครงสร้างของระบบที่ทำงานในรูปแบบกระจายศูนย์ ถูกดูแล และขับเคลื่อนโดยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Node) ที่กระจายอยู่ทั่วโลก ทำให้ Web3 มีความปลอดภัย และยากต่อการถูกขัดขวาง (Censorship resistant) นอกเหนือจากนี้เทคโนโลยีบล็อกเชนยังเอื้อให้สามารถจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ง่าย ทำให้ Web3 เหมาะสมกับแอปพลิเคชันหลายรูปแบบ เช่น แอปพลิเคชันธุรกรรมทางการเงิน รวมไปถึงการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain management) เป็นต้น

ส่วน ‘Web 3.0’ ถูกนำเสนอครั้งแรกโดย คุณ ‘Tim O’Reilly’ ผู้ก่อตั้ง O’Reilly Media ในปี 2549 เพื่ออธิบายถึงวิสัยทัศน์สำหรับเว็บไซต์ที่มีความฉลาด และความสามารถในการเชื่อมต่อที่ลึกซึ้งมากกว่า Web2.0 ผ่านเว็บเชิงความหมาย (Semantic web) ซึ่งเป็นวิธีการหรือเทคโนโลยีที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจความหมายของสารสนเทศผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ วิสัยทัศน์ของ คุณ‘Tim O’Reilly’ สำหรับ Web 3.0 คือ เว็บที่เครื่องจักรสามารถเข้าใจความหมายของข้อมูลได้ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถโต้ตอบกับเว็บไซต์ด้วยวิธีที่เป็นธรรมชาติ และใช้งานง่ายยิ่งขึ้น

ข้อแตกต่างที่เด่นชัดที่สุดระหว่าง Web3 และ Web3.0 คือ Web3 มุ่งเน้นเรื่องการกระจายอำนาจ และความปลอดภัย ในขณะที่ Web3.0 มุ่งเน้นไปที่ความชาญฉลาดของเว็บ และการเชื่อมต่อที่ราบรื่นระหว่างแอปพลิเคชัน และบริการต่างๆ โดยทำให้เครื่องจักรสามารถเข้าใจ และตีความข้อมูลได้ อีกข้อแตกต่างที่สำคัญคือ เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังการทำงานซึ่ง Web3 ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน และสัญญาอัจฉริยะ ในขณะที่ Web 3.0 ใช้เว็บเชิงความหมาย และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน

ตัวอย่างแอปพลิเคชันของ Web3 มีมากมาย และถูกพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ DeFi หรือระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินเช่น การยืม กู้ หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลาง NFTs หรือ Non-fungible token ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่สามารถใช้แสดงความเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ ของสะสม จนกระทั่งของในเกม ซึ่งแต่ละชิ้นมีความแตกต่าง และไม่สามารถผลิตซ้ำหรือทดแทนกันได้

รวมไปถึง DAOs หรือ Decentralized autonomous organizations ซึ่งเป็นองค์กรแบบกระจายอำนาจ โดยสมาชิกทุกคนในองค์กรมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเพื่อการตัดสินใจขององค์กรแบบเป็นประชาธิปไตย และสามารถใช้ในการระดมทุน และกำกับดูแลในรูปแบบที่โปร่งใสมากขึ้น 

ตัวอย่างแอปพลิเคชัน และการใช้งาน Web 3.0 มีตั้งแต่ ระบบสั่งการด้วยเสียง (Voice assistants) เช่น Siri หรือ Google Assistant ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการพัฒนาระบบการจดจำเสียง การประมวลผลและสังเคราะห์เสียงพูด Personalized engines เหมือนที่ Netflix และแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ใช้ในการแนะนำเนื้อหา และผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้บริโภคตามพฤติกรรมในอดีต ผ่าน Machine learning เพื่อทำความเข้าใจการตั้งค่าของผู้ใช้ และเพื่อให้คำแนะนำที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นที่สนใจของผู้ใช้

ถึงแม้ว่าแนวคิด Web3 และ Web 3.0 อาจจะมีความแตกต่างกัน ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมองว่าในที่สุดแล้วทั้งสองจะมาบรรจบกันเมื่อเทคโนโลยีแบบกระจายอำนาจมีความชาญฉลาดมากขึ้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์