KBANK ต่อจิ๊กซอว์ดิจิทัลไฟแนนซ์ วางเป้า 3 ปี ลูกค้าออร์บิกซ์เทรดแตะ 3 แสนราย

KBANK ต่อจิ๊กซอว์ดิจิทัลไฟแนนซ์  วางเป้า 3 ปี ลูกค้าออร์บิกซ์เทรดแตะ 3 แสนราย

ภายหลังธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัทย่อยชื่อว่า บริษัท ยูนิด้า แคปิทัล จำกัด (Unita Capital) เข้าซื้อหุ้น 97% ของ Satang Pro พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ออร์บิกซ์ เทรด จำกัด หรือ "Orbix” ที่ได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว

ชาญวิทย์ รุ่งเรืองลดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออร์บิกซ์ เทรด จำกัด กล่าวว่า ออร์บิกซ์ไม่ได้มุ่งเป้าแข่งขันด้านวอลุ่มเทรด เนื่องจากขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่เข้ามามีผลกระทบ แต่จะมุ่งเป้าในแง่การเพิ่มจำนวนลูกค้ามากกว่า โดยปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ประมาณ 200,000 ราย ซึ่งคาดว่าภายใน 3 ปีจะขยายฐานลูกค้าให้ขึ้นมาอยู่ในระดับ Top 3 และจะสามารถทำกำไรภายใน 2 ปี 

จากโครงสร้างใหญ่แล้ว บริษัทจะอยู่ภายใต้ร่มเงาของธนาคารกสิกรไทย หรือเปรียบเสมือนเป็น “หลาน” แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรม แม้จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทั้งฝั่งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายใต้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และในฝั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะที่เป็นบริษัทในกลุ่มธนาคารกสิกรไทย แต่ทั้งสองหลักเกณฑ์จากสองหน่วยงานกำกับไม่ได้มีอะไรที่ขัดแย้งกัน แต่ส่งเสริมกัน หลักๆ คือ การคุ้มครองลูกค้า

โดยมีการให้ความสำคัญด้านคุณภาพมากกว่าเพื่อให้ลูกค้ามีความสบายใจในการเทรดกับออร์บิกซ์ ดังนั้น จึงไม่เน้นปริมาณเหรียญบนกระดาน พร้อมกันนี้ ออร์บิกซ์ยังมี 3 ฟีเจอร์ที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า

1. Wallet Lock ที่มีระบบการล็อกกระเป๋าสองชั้น 

2. Price Alert ตั้งเตือนราคาต้องการ โดยไม่พลาดทุกโอกาสการซื้อขาย 

3. Orbix Balance ระบบช่วยคำนวณต้นทุนเหรียญแบบอัตโนมัติ ทำให้รู้กำไรขาดทุนทุกเหรียญ (เริ่มใช้งานได้ในเดือนธ.ค.66)

ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงาน Corporate Strategy and Innovation Division ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับทาง "กรุงเทพธุรกิจ” ว่า “ออร์บิกซ์ เทรด” เป็นผลการทำงานของธนาคารกสิกรไทยที่ใช้เวลากว่า 3 ปีในการต่อจิ๊กซอว์ของการเงิน "ดิจิทัล” ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวของธุรกิจ ที่มีจุดเริ่มต้นที่ทำให้ธนาคารกสิกรไทยต้องการตอบสนองกลุ่มลูกค้าในกลุ่มสิทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องการผู้ให้บริการที่ “ไว้ใจได้” แต่ความเสี่ยงของสกุลเงินดิจิทัลลูกค้าสามารถรับความเสี่ยงได้ หลังจากในช่วงที่ผ่านมาราคาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนขึ้น-ลง ทำให้ธนาครกสิกรไทยจึงอยากเป็นหนึ่งในตัวเลือกของนักลงทุน

ด้วย "จุดแข็ง" จากการที่ธนาคารส่งบริษัทย่อยเข้าซื้อกิจการบริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Satang Pro) ที่สามารถเสริมกันและกัน มองว่าสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดคือ “ทีมงาน” เพราะทีมนี้มีทั้งความกลมเกลียวและลงมือทำจริง อีกทั้งมายด์เซตของเขาใกล้เคียงกับเรา คือ ไม่ได้เน้นความหวือหวา เน้นการให้บริการ ซึ่งการที่เราเข้าไปซื้อกิจการมองว่าเราจะช่วยพัฒนาต่อยอด และช่วยยกระดับมาตรฐานต่อการกำกับดูแลมากขึ้นด้วย

ขณะที่ ในช่วงเวลาของการเปิดตัวธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และกระดานเทรดฯ มองว่ามีความ “สุกงอม” พอแล้ว เพราะตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มมีความชัดเจนของการกำกับดูแลมากขึ้น ทั้งกฎหมาย Markets in Crypto-assets regulation หรือ MiCA และกฏหมายการกำกับดูแลโทเคนของสหราชอาณาจักรที่คาดว่าจะมีความชัดเจนในกลางปีหน้า ซึ่งทำให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งธนาคารก็พร้อมจะให้บริการก็จะทำให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้มากขึ้น ดังนั้น การเปิดตัวในช่วงเวลานี้มองว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสม

รวมไปถึงการต่อจิ๊กซอร์ธุรกิจในเพื่อเติมเต็มอีโคซิสเตมที่สมบูรณ์ เริ่มมาจากการให้บริการธุรกิจ ICO portal ผ่าน Kubix และเมื่อมีตลาดแรกแล้วจึงจะต้องมีตลาดรองที่เหมาะสม คือ เอ็กซ์เชนจ์ หรือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ตามด้วยธุรกิจ Fund Manangement ที่จะได้เห็นช่วงต้นปี 2567 และ ธุรกิจ Custodian Wallet ที่จะเห็นไตรมาส 3 ปี 2567 

ดังนั้น ในกลุ่มธุรกิจต้องเชื่อมโยงกันสู่โลกการเงินใหม่ โดยมี “บล็อกเชน” เป็นของตัวเองที่เป็น Private chain คือ ออร์บิกซ์เทค (orbix Tech)ที่เปิดตัว Quarix chainไปเมื่อปลายเดือนพ.ย.2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเปรียบ Quarix chain เป็น “รางรถไฟ” ดังนั้น ให้มองว่าทั้งธุรกิจกระดานเทรดฯ บริหารจัดการกองทุน เป็นเหมือน “สถานี” และมีการเอาของลงมาแลกเปลี่ยนที่ชานชาลา ทำให้กสิกรไทยจะต้องสร้างชานชาลาที่รองรับคนไทย สร้างรางรถไฟให้เหมาะกับการกำกับดูแลในไทย จึงพยายามทำให้มีสิ่งที่เรียกว่า “เงิน” อยู่ในบล็อกเชน

และก่อนหน้านี้ธนาคารได้มีการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ขับเคลื่อนการพัฒนาแหล่งระดมทุนและบริการทางการเงินเพื่อพัฒนา EEC ซึ่งกจะทำให้สามารถเอาบล็อกเชนมาหา real world use case ที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนและการเงินที่สร้างอิมแพคให้กับธุรกิจการเงิน  ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Future of Finance ของประเทศได้จริง

รวมทั้งบล็อกเชน Quarix chain อยู่ระหว่างพัฒนาเนทีฟโทเคน (Native Token) ประจำเชน ซึ่งดร.กรินทร์ กล่าวว่า อยู่ในช่วงของการออกแบบ เพราะเราเป็นเชนที่เรียกว่าถูกกำกับดูแลโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานก.ล.ต. และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งถือว่ามีความเข้มข้นมาก ดังนั้นดีไซน์ของเหรียญของเชนที่จะออกมา คาดว่าน่าจะแตกต่างจากแบบเดิมที่มีอยู่อย่างแน่นอน

ทำให้การเงินดั้งเดิมและสินทรัพย์ดิจิทัลเริ่มมีจุดที่มีความเกี่ยวโยงมากขึ้น และมองว่า 2 โลกนี้จะไม่ห่างกันอีกต่อไป รวมทั้งเป็นโจทย์ใหญ่ของธนาคารร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลในการหาจุดเชื่อมโยงเพื่อไม่ให้วิกฤตทางการเงินในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ลุกลามเหมือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารเข้ามาในธุรกิจดังกล่าวนี้ ไม่ได้ถึงขั้นจะกลายเป็น New S-Curve ให้กับธนาคารขนาดนั้น หากมองที่จำนวนคน และเงินลงทุนที่ไม่ได้เป็นก้อนใหญ่มากเมื่อเทียบกับทุนของธนาคาร ส่วนการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นจะสามารถมีรายได้แบบมีนัยสำคัญกับการเติบโตโดยรวมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง