'บิตคอยน์' มีมากกว่า 21 ล้านเหรียญได้หรือไม่

'บิตคอยน์' มีมากกว่า 21 ล้านเหรียญได้หรือไม่

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีบล็อกเชนโดยเฉพาะบิตคอยน์ได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นจำนวนมาก ด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีการเงินใหม่ที่ทำงานในรูปแบบกระจายศูนย์โดยปราศจากตัวกลางเช่น ธนาคารกลางหรือสถาบันการเงิน เป็นต้น

บิตคอยน์ เป็น สินทรัพย์รูปแบบดิจิทัลที่มีความคล่องตัวสูงในโลกออนไลน์ และที่สำคัญมีจำนวนจำกัดที่ 21 ล้านเหรียญ แต่เป็นไปได้ไหมที่จำนวนจำกัดนี้อาจถูกเปลี่ยนและจะมีเหตุการณ์อะไรที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ วันนี้เรามาศึกษากันเพิ่มเติมครับ

บิตคอยน์ ทำงานด้วยระบบ Proof-of-Work (PoW) เป็นกลไกฉันทามติในการตรวจสอบความถูกต้องและยืนยันธุรกรรมบนระบบบิตคอยน์ ซึ่งในการทำงานจำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าและฮาร์ดแวร์ กระบวนการนี้เรียกว่าการขุดหรือ Mining และผู้ที่มีส่วนร่วมในการขุดถูกเรียกว่า Miner โดยนักขุดจะได้รับผลตอบแทนสำหรับการยืนยันธุรกรรมบนเครือข่ายในรูปแบบของ Block reward ที่ประกอบไปด้วย Transaction fees และ Block Subsidy

Transaction Fees คือ ค่าธรรมเนียมที่ผู้ทำธุรกรรมเป็นคนจ่ายให้แก่นักขุด ส่วน Block Subsidy คือเหรียญใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นหลังการสร้างบล็อกสำเร็จ เช่นสำหรับบิตคอยน์ปัจจุบันอยู่ที่ 6.25 BTC ทุก ๆ 10 นาที Block reward มีความสำคัญต่อระบบของบิตคอยน์เพราะเป็นแรงจูงใจให้กับนักขุดในการทำหน้าที่ของตน ซึ่งมีต้นทุนที่ต้องจ่าย เช่น ค่าเครื่องขุด และ ค่าไฟ เป็นต้น 

การสร้างแรงจูงใจให้กับนักขุดมีอยู่ 2 เหตุผลหลัก ๆ ได้แก่

1.การรักษาความปลอดภัยของเครือข่าย โดย Block reward สร้างแรงจูงใจให้นักขุดนำเครื่องขุดของตนมาทำการสร้างบล็อก ซึ่งการที่มีเครื่องขุดมาเข้าร่วมมากขึ้นจะก่อให้เกิดกำลังประมวลผลในเครือข่ายที่สูงขึ้น และช่วยทำให้เครือข่ายบล็อกเชนปลอดภัยมากขึ้น กำลังประมวลผลในเครือข่ายที่สูงมาก ๆ จะทำให้ผู้ที่ต้องการโจมตีเครือข่ายจำเป็นต้องมีกำลังประมวลผลที่สูงกว่า

เช่น ในกรณีของ บิตคอยน์ ที่มีกำลังประมวลผลในเครือข่ายเทียบเท่ากับ CPU ของคอมพิวเตอร์หลายล้านเครื่องมารวมกัน ผู้ที่จะโจมตีบิตคอยน์ก็จะต้องมีกำลังประมวลผลที่มากกว่า หรือที่เรียกกันว่า 51% Attack

 

2.การปลดปล่อยเหรียญสู่เครือข่าย ซึ่งทางคุณ ‘Satoshi Nakamoto’ ผู้สร้างบิตคอยน์ได้ออกแบบให้ปริมาณเหรียญของบิตคอยน์มีจำนวนจำกัดที่ 21 ล้าน BTC และได้กำหนดให้ Block Subsidy ของบิตคอยน์ลดลงครึ่งหนึ่งทุก ๆ 4 ปีโดยประมาณ หรือที่เรียกว่า ‘Halving’ ซึ่งในช่วง 4 ปีแรกตั้งแต่ปี 2552 นักขุดได้รับ Block Subsidy เป็นจำนวน 50 BTC และได้ลดลงมาทุก ๆ 4 ปี จนปัจจุบันอยู่ที่ 6.25 BTC และจะเกิดการลดครั้งต่อไปในช่วงเดือนเมษายน ปี 2567 ลงมาอยู่ที่ 3.175 BTC ทุก ๆ 10 นาที

ถึงแม้จะว่าใช้เวลาอีกประมาณ 100 กว่าปีจนกว่าบิตคอยน์ทั้งหมดจะถูกขุดขึ้นมา และนักขุดจะไม่ได้รับ Block reward ในรูปแบบของ Block subsidy อีกต่อไปเหลือแค่ Transaction fees หรือค่าธรรมเนียม นักลงทุนและนักวิเคราะห์ต่างมีข้อสงสัยว่าค่าธรรมเนียมจะเพียงพอสำหรับนักขุดไหม ข่าวดีคือ บิตคอยน์มีระบบการปรับความยากในการขุด หรือ Difficulty adjustment ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนทุก ๆ 2016 บล็อกหรือประมาณทุก ๆ 2 อาทิตย์โดยการปรับจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงใน Hash rate ของเครือข่าย และจะเกิดขึ้นเป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่าเครือข่ายยังคงมีบล็อกใหม่เกิดขึ้นทุก ๆ 10 นาที

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 คุณ ‘Peter Todd’ ผู้พัฒนา Bitcoin Core ที่มีชื่อเสียงได้แสดงความคิดเห็นว่าใน 10-20 ปีข้างหน้า การเพิ่มจำนวนบิตคอยน์ให้มีมากกว่า 21 ล้านเหรียญ อาจไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจและมีความเป็นไปได้

โดยได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ค่าธรรมเนียมอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในการจูงใจนักขุดที่มากพอและอาจก่อให้เกิดความมั่นคงของระบบที่ลดน้อยลงและตกเป็นเหยื่อของการโจมตี 51% Attack

โดยคุณ ‘Peter Todd’ ได้เสนอคอนเซ็ปต์ของ ‘Tail emission’ หรือการเพิ่มจำนวนบิตคอยน์ทุก ๆ ปีในอัตราระหว่าง 0.1%-1% เพื่อใช้เป็นแรงจูงใจให้นักขุดเข้ามามีส่วนร่วมบนระบบบิตคอยน์มากขึ้น แต่จะหมายความว่าจำนวนของบิตคอยน์ทั้งหมดนั้นจะไม่ถูกจำกัดอยู่ที่ 21 ล้านเหรียญอีกต่อไป 

มุมมองดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในวงการคริปโทฯ เนื่องจากการมีจำนวนจำกัดที่ 21 ล้านเหรียญเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของบิตคอยน์และเป็นสิ่งที่หลายคนเชื่อว่าทำให้บิตคอยน์มีมูลค่า

อย่างไรก็ตามหัวข้อของ Block reward ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับความปลอดภัยของระบบบิตคอยน์โดยตรงเป็นปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งนอกเหนือจาก คุณ ‘Peter Todd’ แล้วยังมีผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเช่น คุณ ‘Jori Alexander’ ผู้ก่อตั้ง Selini Capital ที่เห็นด้วยว่าถึงความจำเป็นในการคิดถึงหนทางต่าง ๆ ในการพัฒนาบิตคอยน์เพื่อที่จะสามารถเป็นระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ที่ยั่งยืนได้