เปิดธุรกิจ Blockchain ไทยใครทำบ้าง? เจาะลึกทิศทางบล็อกเชนไทยไปถึงไหนแล้ว

เปิดธุรกิจ Blockchain ไทยใครทำบ้าง? เจาะลึกทิศทางบล็อกเชนไทยไปถึงไหนแล้ว

หลังจากที่รัฐบาลไทยมีนโยสำหรับเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศไทย โดยใช้ ”บล็อกเชน” เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบาย ทำให้คนคุ้นหูและรู้จักกับบล็อกเชนมากขึ้น วันนี้”กรุงเทพธุรกิจ” จะพาไปอัพเดทถึงอุตสาหกรรมบล็อกเชนในไทยว่าตอนนี้ พัฒนาไปถึงจุดไหนแล้ว

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “บล็อกเชน” คือ ระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์แบบไร้ตัวกลาง(Distributed Ledger) ทำให้ต้นทุนนั้นต่ำกว่า และมีการกระจายอำนาจข้ามพรมแดน ทำให้ระบบการเงินโลกเข้าสู่กระบวนการโลกาภิวัตน์ที่ไร้ขอบเขตยิ่งกว่าเดิม

ตลาด Blockchain ในประเทศไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมบล็อกเชนทั่วโลกยังผูกติดให้เกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมคริปโท จึงซบเซาไปตามกัน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่ศึกษาและทำความเข้าใจมากขึ้นถึงโครงสร้างเทคโนโลยีบล็อกเชนในไทย จนเป็นรากฐานและนำมาประยุกต์ใช้สร้างกรณีการใช้งานในแง่ต่างๆ มากขึ้น ทำให้เกิดธุรกิจ และบริษัทใหม่ๆ ในประเทศ

ตลาดบล็อกเชนในไทยเริ่มเติบโตขึ้น โดยเฉพาะความนิยมที่ล้นหลามในช่วงตลาด Bitcoin Bull Run ปี 2561 จวบจนถึงปัจจุบัน 

โดยในอุตสาหกรรมบล็อกเชนไทยแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ผู้ที่ “ผลิต” และ ผู้ “ใช้งาน”

4 บล็อกเชนสัญชาติไทย

ผู้ผลิตบล็อกเชน ที่สร้างและพัฒนาเชนขึ้นมาเพื่อใช้งานในอีโคซิสเต็มภายในและพัฒนาโซลูชั่นต่างๆ

  • Bitkub Chain  ของ บริษัท บิทคับ บล็อคเชน จำกัด บริษัทในเครือ บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด
  • JFIN Chain ของ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จํากัด (JVC) บริษัทในเครือ บมจ.เจ มาร์ท (JMART)
  • SIX Potocol ของ บริษัท ซิคซ์ เนทเวิร์ค (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ SIX Network 
  • TKX Chain ของ บริษัท เอสซีบี เทคเอกซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนภายใต้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ (SCBX)

รวมทั้งยังมีบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาบล็อกเชน ที่ให้บริการเกี่ยวกับการพัฒนาโซลูชั่นต่างๆเพื่อประยุกต์ใช้เข้ากับธุรกิจต่างๆ ได้แก่ Tokenine, kulab , kubix และ finstable

รูปแบบการใช้งาน’บล็อกเชน’ในไทย

ท่ามกลางตลาดที่ซบเซา สิ่งที่ตามมาคือ “การศึกษาเทคโนโลยีบล็อกเชน” ที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักลงทุนสถาบันทางการเงิน บริษัทเอกชน หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐ ทำให้ช่วงปี 2022 ถึงปัจจุบัน เราเริ่มเห็นบริษัทบล็อกเชนใหม่ๆ เกิดขึ้น หรือแม้แต่การพัฒนา CBDC หรือเงินดิจิทัลในประเทศไทย

ปัจจุบันองค์กรที่ใช้ระบบ ERP (ERP, WPS, MES, CRM) อยู่ เริ่มมีการทดสอบและนำบล็อกเชนมาใช้ เพื่อช่วยในการจัดการธุรกรรมทางการเงิน การติดตามการซื้อและส่งสินค้า และการดูแลลูกค้า ให้มีประสิทธิ์ภาพมากขึ้น เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วของลูกค้า ในกรณีตัวอย่าง เช่น

  • ความปลอดภัย ยกตัวอย่างเช่น Toyota ที่นำบล็อกเชนมาปรับใช้กับระบบภายใน เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดเก็บข้อมูลจากผู้ผลิตรถยนต์และผู้ใช้งาน มาวิเคราะห์และเสริมความปลอดภัยทางด้านข้อมูลภายใน จากการโจมตีจากภายนอก
  • สำรองข้อมูล บล็อกเชน เป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อการสำรองข้อมูลภายในที่ดี เพราะจะไม่ถูกทำลายหรือถูกเปลี่ยนแปลงจากผู้ไม่หวังดีอย่างแน่นอน หากระบบการตรวจสอบแบบกระจายศูนย์ภายในถูกออกแบบเอาไว้ได้ดีพอ
  • ลิขสิทธิ์ ยกตัวอย่างเช่นแพลตฟอร์ม Streaming ชื่อ Peer Tracks ผู้ฟังสามารถจ่ายเงินได้โดยตรงไปยังศิลปินเจ้าของเพลง โดยไม่ต้องผ่านทางค่าย นอกจากนี้ยังมีตลาด NFTs ต่างๆ ที่ศิลปินสามารถขายงานของตนเองได้โดยตรง
  • การแพทย์ ในอนาคตอาจมีการนำบล็อกเชนมาเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลข้ามหน่วยงานของผู้ป่วย ที่จะช่วยในการวินิจฉัยและรักษาโรคได้รวดเร็วมากขึ้น แทนระบบปัจจุบันที่ต้องรอการส่งมอบแฟ้มประวัติเวลาย้ายสถานที่การรักษา

เทรนด์การลงทุนยุคเทคเฟื่องฟู

ในยุคที่เทคโนโลยีมีความเฟื่องฟู การลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ถือเป็นเทรนด์การลงทุนที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น AI การผลิตชิพ รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงบล็อกเชนด้วย

จะเห็นได้ว่าราคาหุ้นของบริษัทที่ทำเทคโนโลยีบล็อกเชนเติบโตอย่างก้าวกระโดดไม่ว่าจะเป็น Mastercard (MA), Amazon (AMZN), NVIDIA Corp (NVDA) , IBM Corp (IBM) และ Microsoft (MSFT)  

รวมทั้งบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งในประเทศไทยมีกองทุนด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ที่ทำเกี่ยวกับบล็อกเชน ด้วยเช่นกัน เช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Blockchain SCBBLOC(A) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ , กองทุนเปิดเคแทม Blockchain Economy (ชนิดสะสมมูลค่า) (KT-BLOCKCHAIN-A) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด(มหาชน)

อย่างไรก็ตาม ความสนใจในด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มากขึ้นเรื่อยๆ จากทั้งสถาบันทางการเงิน กลุ่ม Fintech และการใช้งานสำหรับธุรกิจหรือองค์กรภายใน

นอกจากนี้สำหรับประเทศไทย องค์กรการกำกับดูแลก็มีการสนับสนุนทางด้านนี้ด้วยเช่นกัน ดังที่จะได้เห็นจากนโยบายทางด้านภาษี เพื่อผลักดันการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลและ RWA หรือ Tokenized Real-world Asset รวมทั้งยังมีการผลักดันให้ไทยเป็น Fintech Hub ในอาเซียนด้วย