บล็อกเชน - คริปโทฯ เทรนด์ธุรกิจฟินเทคปีนี้

บล็อกเชน - คริปโทฯ  เทรนด์ธุรกิจฟินเทคปีนี้

อุตสาหกรรม “ฟินเทค” เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงโรคระบาดโควิด-19 ทั้งประเทศไทย และต่างประเทศ ซึ่งกระแสคำว่าฟินเทคเกิดขึ้น เพราะการมาของบริษัทสตาร์ตอัปสายเทคโนโลยี ที่เข้ามา เปลี่ยนโฉมการเงินได้รวดเร็วกว่าบริษัทการเงินอย่างธนาคาร

ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ บริษัท อุ๊คบี (Ookbee) ซึ่งดำเนินธุรกิจหนังสืออิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของไทย และเจ้าของเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีสัญชาติไทย “SIX Network” หรือ SIX กล่าวถึง อนาคตของ"ฟินเทค" ผ่านหัวข้อ The Next Big Thing of Fintech ภายในงาน CTC 2023 festival ถึงอนาคตของฟินเทคในครึ่งปีหลังของปี 2566 ว่า เทคโนโลยีบล็อกเชน และคริปโทเคอร์เรนซีเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นในตลาดฟินเทคปีนี้และปีหน้า

โดยในช่วงที่ผ่านมา ตลาดฟินเทคในประเทศไทยมีพัฒนาการที่น่าสนใจ จากการที่ประเทศไทยเป็นผู้ประสบความสำเร็จด้าน "ดิจิทัลเพย์เมนท์" ที่มีผู้ใช้ในทุกตลาด ไม่ว่าจะเป็นบริการเพย์เมนท์ การโอนเงินผ่านระบบดิจิทัล หรือ บริการเลนดิ้ง ให้บริการสินเชื่อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งประเทศไทยเป็นผู้นำดิจิทัลเพย์เมนท์อันดับ 2 ของโลก รองจากสิงคโปร์

รวมทั้งรูปแบบของธุรกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี มีโปรเจกต์เกี่ยวกับการ “โทเคนไนเซชั่น” โครงการเสนอขาย “อินเวสเมนท์โทเคน” ที่มีการอ้างอิงทรัพย์สินประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ คอนโดมิเนียม และอีกหลายโปรเจกต์  แม้ว่าจะไม่ใช่รูปแบบธุรกิจฟินเทคโดยตรง แต่ในธุรกิจดังกล่าวมีกระบวนการ การทำงานเกี่ยวกับไฟแนนเชียลที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชน

ณัฐวุฒิ เป็นหนึ่งในผู้ที่ลงทุนในฟินเทคสตาร์ตอัปกว่า 100 บริษัท ซึ่ง “การเงิน” ถือเป็นหนึ่งในหมวดที่เติบโต และประสบความสำเร็จ  รวมทั้งยังมีความสนใจในการทำกองทุนคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งโปรเจกต์เหรียญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดคริปโทฯ เปรียบเหมือน “เทคสตาร์ตอัป” ที่มีฟาวเดอร์ และรูปแบบโปรเจกต์ที่มีการเติบโต แตกต่างจากตลาดการเงินแบบดั้งเดิม

“แน่นอนว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง หากว่านักลงทุนกำลังมองหารูปแบบการลงทุนที่แตกต่างไปจากเดิม ”โอกาสและผลตอบแทน“ คือ ความแตกต่าง”

 

ฟินเทคจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเงินกระแสหลัก 2 เรื่องที่ชัดเจนคือ รูปแบบการใช้งาน และรูปแบบธุรกิจ  โดยรูปแบบการใช้งานในระยะยาวเรื่องของ “ความปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย” อาจไม่ใช่สาระสำคัญอันดับแรก เพราะอะไรที่ดีกว่า เร็วกว่า ถูกกว่า มีประโยชน์มากกว่า จะกลายเป็นรูปแบบการเงินที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย จนไม่สามารถถอนออกจากระบบได้ 

ฟินเทคคือ ไฟแนนซ์รวมกับเทคโนโลยี ในโลกคริปโทฯ จะกลายเป็นการเงินดิจิทัลในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช่เงินเฟียต ซึ่งปัจจุบันมีการยอมรับ และการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาควบคุมดูแลและลดความเสี่ยง ออกกฏหมายกำกับภายหลัง มีการควบคุมและถูกยอมรับ ถึงขั้นที่ว่ารัฐบาลของประเทศสามารถเก็บ เงินสำรองของประเทศของแบงก์ชาติแต่ละประเทศเก็บเป็นบิตคอยน์ในสัดส่วน 2% ของเงินสำรองทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

นอกเหนือจากการใช้งานที่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้จริงแล้ว ฟินเทคจะมีผลต่อ "รูปแบบธุรกิจ" ที่เกิดขึ้นบนตลาดการเงินสู่ DeFi (Decentralized Finance) หรือบริการทางการเงินแบบไม่รวมศูนย์ จากเมื่อก่อนที่มีการฝากเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร และการเริ่มใช้โมบายแบงกิ้งยุคก่อน แต่ในปัจจุบันด้วยรูปแบบการเงินและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่าน ทำให้มีการฝากเงินผ่านระบบดิจิทัล และธุรกิจการเงินบนโลกเว็บ 2.0 (Web2.0)จะกลายเป็นธุรกิจแบบ DeFi ไปโดยปริยาย

ณัฐวุฒิ  มองว่า ฟินเทคมีการพัฒนามานานแล้ว ทั้ง Credit card ถูกคิดค้นตั้งแต่ปี 1950, ATM ตั้งแต่ปี 1967, Online banking ที่แรก เริ่มตั้งแต่ปี 1980 โดยกว่าฟินเทคแต่ละตัวจะเกิดขึ้น ใช้เวลาห่างกันเป็นสิบๆ ปี จึงจะได้เห็นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ นั่นแปลว่ายังมีช่องว่างอีกมากมายที่จะทำให้ธุรกรรมทางการเงิน ดีขึ้น เร็วขึ้น ง่ายขึ้น ประหยัดขึ้น

รวมทั้งมีความมหัศจรรย์บนโลกการเงินแบบ DeFi เกิดขึ้นแล้ว คือการทำธุรกรรมในโลกคริปโท ด้วยการนำบิตคอยน์ หรือเหรียญคริปโทสกุลต่างๆ เข้าไปค้ำประกันและแลกเปลี่ยน เป็นสเตเบิลคอยน์ คริปโทสกุลเงินอื่น หรือเงินสด และการใช้งานยูทิลิตี้โทเคน อินเวสเมนท์โทเคน ที่มีการใช้งานและยูสเคสที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในตลาดประเทศไทยและต่างประเทศ

หัวใจสำคัญของการลงทุนในโลกฟินเทค คือ "ใช้ เข้าใจ ลงทุน" ถือเป็นโอกาสในการลงทุนฟินเทคของตัวเองในอนาคต โดยการลงทุนในฟินเทค คือการลงทุนแบบระยะยาว(Long Term) หากเปรียบเทียบตลาดคริปโทในปัจจุบัน กับวิกฤติฟองสบู่ดอทคอมหรือ “Dot-com Bubble” เมื่อ 20 ปีที่แล้ว บนตลาดหุ้นแนสแด็ก (Nasdaq) ในหุ้นกลุ่ม FAANG คือ กลุ่มหุ้นเทคโนโลยีตัวท็อปของสหรัฐ 5 ตัว อย่าง Facebook Apple Amazon Netflix และ Google 

โดยมีการเติบโตหลายร้อยเท่า ทั้ง Amazon มีการเติบโต 650 เท่า Apple มีการเติบโต 1300 เท่า ซึ่งหากใครที่ถือหุ้นกลุ่มนี้สู่การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจนถึงปัจจุบัน สามารถเรียกได้ว่าเป็นบิลเลี่ยนแนร์ 

บิตคอยน์ และอีเธอเรียม” เป็นสองตัวเด่นใน เทียบกับหุ้นกลุ่มFAANGของตลาดคริปโทฯ ซึ่งยังต้องเฟ้นหาสกุลเงินดิจิทัลอีก 3 ตัวที่เหลือในตลาดต่อไป

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์