‘บิทคับ’ มองไทยต้องเปลี่ยน เร่งเคลื่อนอนาคตเศรษฐกิจ ‘ดิจิทัล’

‘บิทคับ’ มองไทยต้องเปลี่ยน  เร่งเคลื่อนอนาคตเศรษฐกิจ ‘ดิจิทัล’

รายการ Deep Talk ของ “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ท็อป - จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา" ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “บิทคับ” บริษัทสตาร์ตอัปฟินเทคที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดพร้อมกับตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงาน “World Economic Forum”

เมื่อไม่นานมานี้ “จิรายุส” ได้รับเชิญเข้าร่วม World Economic Forum of the New Champions หรือ Summer Davos 2023 ครั้งที่ 14 ณ นครเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 27-29 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งงานนี้มีผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวนกว่า 1,500 คนทั่วโลก ได้เข้าร่วมหารือแนวทาง และจุดยืนในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงการพัฒนาในระดับระหว่างประเทศ

ภายใต้ธีม “ผู้ประกอบการยุคใหม่กับพลวัตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ทำให้จิรายุสมองเห็นทิศทางในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งประเทศไทยต้องรีบ “เปลี่ยน” ใน 3 สิ่ง เพื่อสามารถขับเคลื่อนอนาคตที่การซื้อขายจะเปลี่ยนไปสู่รูปแบบ “ดิจิทัล” อย่างแรกคือ การ “รีสกิล” (Reskill) ความรู้ ความสามารถ ของคนทั้งประเทศในเรื่องของ “เทคโนโลยี” และ “กรีน รีโวลูชั่น” ที่เกี่ยวกับเน็ต ซีโร่ คาร์บอนไนเซชั่นที่จะเข้ามามีบทบาทให้การทำงานมากขึ้น ทำให้ทุกทักษะที่ใช้ในการทำงานในปัจจุบันไม่สามารถใช้ได้กับอนาคตที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็ว

สู่การประยุกต์ใช้ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น”ในซัพพลายเชน (Supply Chain) ที่โลกใกล้เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนด้วยการซื้อขาย ที่จะถูกขับเคลื่อนด้วย “ดิจิทัลซัพพลายเชน” เป็นหลัก ท่ามกลางการเกิดขึ้นของรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่จะถูกเปลี่ยนแปลงด้วย AI, Big data, 3D printing technology รวมทั้งเทคโนโลยี Virtual Reality(VR) และ Augmented Reality (AR) และบล็อกเชน

และการนำ “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI เข้ามาลดต้นทุนสินค้า และบริการ โดยในทุกปีค่าสินค้า และบริการจะถูกลงเรื่อยๆ จากการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อนำมาลดต้นทุนการผลิต ซึ่ง AI จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาครั้งต่อไป โดย AI ถือเป็นเรื่องร้อนแรงที่จะถูกพูดถึงมากขึ้นในปีหน้า และเป็นหนึ่งในธีมสำคัญของงาน World Economic Forum ครั้งต่อไปด้วย ซึ่งทุกประเทศให้ความสำคัญจึงต้องมีกฎหมายดูแลการใช้ข้อมูลสำหรับ AI ระหว่างประเทศ 

เพื่อตอบรับประเทศมหาอำนาจอย่าง “จีน” ที่เผยว่า “ดิจิทัล อีโคโนมี” จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 44% จาก GDP ของประเทศในปี 2573-2578 และคาดว่าประชากรกลุ่มชนชั้นกลาง (Middle Class) จะเพิ่มขึ้นถึง 800 ล้านครัวเรือน สะท้อนถึงกำลังซื้อมหาศาล ในขณะเดียวกันจีนได้เปิดกว้างการลงทุนกับทั่วโลก โดยเฉพาะการลงทุนด้านเทคโนโลยี ทำให้ประเทศที่จะสามารถสร้างความมั่งคั่งในอนาคตได้ ต้องเป็นประเทศที่ถูกขับเคลื่อนด้วย “เศรษฐกิจดิจิทัล” ด้วยการมีชุดข้อมูล และการพัฒนาทางเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานที่ตามทันประเทศเศรษฐกิจหลัก

โครงสร้างพื้นฐาน หรือ infrastructure จะเข้ามาเปลี่ยนกฏของ "โลกธุรกิจ” จากรูปแบบการทำงาน “ซูเปอร์แอป” ที่โดดเด่นในปัจจุบันด้วยการใช้งานหลายๆ แอป อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป เนื่องด้วย AI ที่สามารถประมวลผล และรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการ และคัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดมาให้ผู้บริโภคแล้วทำให้รูปแบบธุรกิจจะกลับไปสู่ “ซิงเกิลแอป”

รวมทั้งมีผู้นำใน “ภูมิภาคอาเซียน” มีการหารือกันหาหนทางในการผลักดันเพื่อดึงเม็ดเงินเข้าสู่อาเซียนเพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นตรงกันว่าในปี 2567 จะมีเม็ดเงินหลั่งไหลเข้ามาสู่ทวีปอาเซียน สู่การตั้งคำถามที่ว่าจะขับเคลื่อนทวีปอย่างไรเพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุด และการสร้าง "ระบบการโอนเงินในอาเซียน” เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการชำระเงินของทวีปที่ไม่ใช้ช่องทางการโอนเงินระหว่างประเทศ

โดยเห็นพ้องต้องกันว่าการที่ทั่วโลกกำลังมองหาพื้นที่การลงทุน และต้องการพื้นที่ ที่สงบซึ่งภายในอาเซียนได้ประโยชน์จากคุณสมบัติทั้ง 3 ด้าน คือ การเป็นพื้นที่ ที่มีกลุ่มแรงงานทั้งด้านแรงงาน และความสามารถ การมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ และพื้นที่มหาสมุทรในท้องทะเลแถบนี้ ที่มีพื้นที่อีกกว่า 86% ยังไม่ถูกค้นหา ซึ่งอาจค้นพบแหล่งน้ำมัน หรือแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ยังไม่ถูกค้นพบ

ดังนั้นแล้วการที่ประเทศไทยจะสามารถอยู่ในโลกนี้ได้ จึงต้องปรับ 3 ด้าน โดยไทยจะต้องมีการทำงานร่วมกับประเทศจีนเพื่อเรียนรู้ Climate Tech เป็นเทคโนโลยีที่ควบคุมหรือลดการปล่อยก๊าซเรียนกระจก เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในซัพพลายเชนของประเทศไทยโดยด่วน และภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึง SME จะต้องปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าชนชั้นกลาง ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต และการเข้ามาของ AI ทำให้เราต้องเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาทักษะ ในเมื่อ AI เข้ามาครองคอนเทนต์ ทำให้ต้องกล้าทดลองสิ่งใหม่ๆ และเน้นพัฒนา 3 ด้าน คือ การต่อลอง การสื่อสาร และทักษะความเป็นผู้นำ

ในครั้งนี้ จิรายุสในฐานะนักธุรกิจจากประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี และเศรษฐกิจดิจิทัล ได้ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “Education Disrupt-Ed” และ “Beyond the Hype: Non-Fungible Tokens for Business” ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติ ถือเป็นก้าวสำคัญที่นักธุรกิจรุ่นใหม่จากประเทศไทยได้ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์บนเวทีระดับโลก

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป” เป็นองค์กรเอกชนจากประเทศไทย ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลบล็อกเชน และสินทรัพย์ดิจิทัล สะท้อนความพร้อมเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อผู้คนระหว่างโลกเดิมไปสู่โลกดิจิทัล ตลอดจนเชื่อมต่อคนไทยสู่สากล ตามพันธกิจของบิทคับ

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์