โทเคนดิจิทัลสำหรับการบริหารจัดการหนี้เสีย อีกหนึ่งทางเลือกของการลงทุน

โทเคนดิจิทัลสำหรับการบริหารจัดการหนี้เสีย อีกหนึ่งทางเลือกของการลงทุน

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤติ โดยจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าปัจจุบันหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยสูงถึง 86.9% ต่อ GDP ซึ่งคิดเป็นหนี้เสีย (Non-Performing Loan: NPL) ค้างชำระอยู่ที่ระดับประมาณ 5 แสนล้านบาท 

ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (Assets Management Company: AMC) จึงมีความสำคัญอย่างมากในการบริหารจัดการหนี้เสียจากสถาบันการเงิน เพื่อเจรจาและปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ดังกล่าว ให้ได้ข้อตกลงที่เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายและทำให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ของตนเองได้

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการดำเนินการในรูปแบบดังกล่าวอาจสร้างผลประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ AMC เพียงอย่างเดียวแต่ความจริงแล้ว ธุรกิจดังกล่าวสามารถปรับโครงสร้างโดยใช้การระดมทุนผ่าน “โทเคนดิจิทัล” ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยได้เข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจ AMC และยังอาจได้รับส่วนแบ่งรายได้จากการดำเนินการบริหารหนี้ NPL ของผู้ประกอบธุรกิจ AMC ได้อีกด้วย โดยทั้งผู้ประกอบธุรกิจ AMC และนักลงทุนไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากซึ่งเป็นผลดีกับทั้งสองฝ่าย

พูดมาถึงตรงนี้แล้วเพื่อนๆคงอยากรู้แล้วใช่ไหมว่าการระดมทุนผ่าน “โทเคนดิจิทัล”ในธุรกิจ AMC จะออกมาเป็นรูปแบบอย่างไร? แต่ก่อนอื่นเราจำเป็นต้องให้ท่านทั้งหลายทำความเข้าใจในการระดมทุนรูปแบบดังกล่าวอย่างถี่ถ้วนเสียก่อนว่าจริงๆแล้ว Tokenization คืออะไร?

Tokenization คืออะไร

- “Tokenization” คือ การแปลงสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่มีมูลค่าในโลกจริงให้กลายเป็นโทเคนดิจิทัลและนำมาเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป โดยเมื่อมีการแปลงสินทรัพย์แล้ว สินทรัพย์นั้นจะถูกนำมาเป็นสินทรัพย์อ้างอิงสำหรับโทเคนดิจิทัลที่สร้างขึ้นมา โดยผู้ถือจะมีสิทธิต่าง ๆ ในสินทรัพย์ที่อ้างอิงนั้น ตามแต่ที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลกำหนด ข้อดีของการแปลงสินทรัพย์เป็นโทเคนดิจิทัลคือจะทำให้เกิดสภาพคล่องสำหรับการซื้อขายแลก หรือโอนเปลี่ยนมือ อีกทั้งผู้ลงทุนยังอาจได้รับผลตอบแทนจากการเปลี่ยนแปลงของราคาโทเคนนั้นๆ (Capital Gain) ได้อีกด้วย

หนี้เสีย (Non-Performing Loan: NPL) สามารถนำมาแปลงเป็นโทเคนดิจิทัลได้หรือไม่?

- NPL หรือ หนี้เสีย คือ สินเชื่อที่ลูกหนี้ค้างชำระมากกว่า 3 เดือนกับผู้ปล่อยสินเชื่อ หรือ ธนาคารพาณิชย์ โดยปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ได้มีการกระจายสินเชื่อค้างชำระก้อนนี้ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ (Assets Management Company: AMC) ที่มีความสามารถในการบริหารและจัดการหนี้เสียเหล่านี้ เช่น บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM) บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) บริษัท บริหารสินทรัพย์ เอ็กซ์สปริง เอ เอ็ม ซี จำกัด (XSpring AMC) เป็นต้น 

โดยผู้ประกอบธุรกิจ AMC เหล่านี้จะเข้าประมูลสินเชื่อค้างชำระเพื่อนำเข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งรวมถึงการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ให้สามารถกลับมาผ่อนชำระ และสามารถกลับมาเป็นลูกหนี้ที่สามารถกู้ยืมเงินกับธนาคารพาณิชย์ได้อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ รูปแบบของธุรกิจดังกล่าว ในปัจจุบันอาจนำเทคโนโลยีบล็อคเชนมาช่วยให้เกิดรูปแบบการลงทุนแบบใหม่ให้แก่ผู้ลงทุนรายย่อยผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อนำมาใช้ในการระดมทุนและนำเอาผลประโยชน์จากกระแสเงินที่ได้รับจากการบริหารหนี้ NPL มาเป็นส่วนแบ่งรายได้ให้กับผู้ถือโทเคนดิจิทัลได้ 

แต่อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดภาพธุรกิจในเบื้องต้นเท่านั้น เพราะยังไม่มีการออกโทเคนดิจิทัลสำหรับสินทรัพย์ประเภทนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในการจะออกโทเคนดิจิทัลดังกล่าวจริง จะต้องมีการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติม รวมถึงปรับรูปแบบโครงสร้างการระดมทุนให้สอดคล้องกับเกณฑ์การออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ("สำนักงาน ก.ล.ต.”) ด้วย

ทำไมจึงควรลงทุนในโทเคนดิจิทัลสำหรับสินทรัพย์ประเภทหนี้เสีย?

- หากเปรียบเทียบกับการลงทุนในโลกปัจจุบัน แนวทางการระดมทุนดังกล่าวจะคล้ายคลึงกับตราสารประเภทหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนจากกระแสเงินสดจากการผ่อนชำระหนี้เป็นงวด ๆ และมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์ นั่นคือการลงทุนในตราสาร Mortgage Backed Security (MBS) ซึ่ง MBS เกิดจากการนำสินเชื่อบ้านที่ถูกคัดกรองแล้วมามัดรวมกันและเสนอขายโดยสถาบันการเงิน ซึ่งผู้ลงทุนจะได้ผลประโยชน์ในรูปแบบของดอกเบี้ย ในทางกลับกัน หาก AMC นำหนี้ NPL มาเสนอขายให้แก่นักลงทุนในรูปแบบของโทเคนดิจิทัลเพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการซื้อขาย หากลองเปรียบเทียบดูแล้วลักษณะก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก อีกทั้งข้อดีคือนักลงทุนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ได้ โดยไม่ต้องใช้เงินจำนวนมาก และไม่ต้องรับความเสี่ยงจากการบริหารหนี้ NPL ดังกล่าวเพียงคนเดียวอีกด้วย

ข้อดีของการลงทุนในโทเคนดิจิทัลสำหรับธุรกิจบริหารสินทรัพย์

- ในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าหากนักลงทุนสนใจจะลงทุนในธุรกิจบริหารสินทรัพย์สามารถทำได้ 2 กรณี ด้วยกัน คือการลงทุนในหุ้น หรือการซื้อตราสารหนี้ อย่างไรก็ตามในอนาคตหากมีการออกโทเคนสำหรับการลงทุนในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ก็สามารถเป็นไปได้เช่นกัน ซึ่งแต่ละการลงทุนจะมีข้อดี ข้อเสีย ที่แตกต่างกัน ดังนี้

โทเคนดิจิทัลสำหรับการบริหารจัดการหนี้เสีย อีกหนึ่งทางเลือกของการลงทุน

- การเข้าลงทุนในหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาด นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากราคาตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงสามารถซื้อขายในตลาดรองได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในรูปของดอกเบี้ย ในทางกลับกัน หากนักลงทุนต้องการความเสี่ยงที่ต่ำ ได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ นักลงทุนสามารถมองหาการลงทุนในตราสารหนี้ได้ โดยในปัจจุบัน AMC ที่เสนอขายตราสารหนี้ในตลาด ได้แก่ BAM และ SAM ซึ่งจะเสนอขายแก่นักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้น จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับนักลงทุนรายย่อยที่อยากมีส่วนร่วมในการลงทุน

- การลงทุนในโทเคนดิจิทัลถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายโทเคนดิจิทัลในตลาดได้อย่างง่าย อีกทั้งจะได้ผลตอบแทนที่เป็นกระแสเงินที่ได้จากการบริหารหนี้ของผู้ประกอบการ AMC ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับการลงทุนในตราสาร MBS แต่นักลงทุนมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น หากมีลูกหนี้บางรายมีการปิดบัญชี และไถ่ถอนหลักประกันออกก่อนระยะเวลาที่ได้ตกลงกันตอนแรก

แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่ดำเนินการออกโทเคนดิจิทัลสำหรับธุรกิจประเภทนี้ก็ตาม แต่ในอนาคตเราอาจจะเห็นการออกโทเคนดิจิทัลในลักษณะดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากมีท่านใดที่มองเห็นประโยชน์ของการระดมทุนผ่านโทเคนดิจิทัล และอยากจะออกโทเคนดิจิทัล สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด (XSpring Digital)ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.