JP Morgan คลอด JPM Coin ชูระบบชำระเงินผ่าน Blockchain คลอบคลุม ‘ดอลลาร์-ยูโร’

JP Morgan คลอด JPM Coin ชูระบบชำระเงินผ่าน Blockchain คลอบคลุม ‘ดอลลาร์-ยูโร’

JP Morgan เปิดตัวเหรียญ JPM Coin เพื่อใช้งานระบบชำระเงินผ่าน 'บล็อกเชน' ในโซนสหภาพยุโรปแล้ว หลังจากพัฒนาและทดสอบการใช้งานภายในองค์กรมากว่า 4 ปี ยอดธุรกรรมพุ่ง 3 แสนล้านดอลลาร์ต่อวัน

Key Point: 

  • JP Morgan เปิดตัวเหรียญ JPM Coin เพื่อใช้งานระบบชำระเงินผ่าน 'บล็อกเชน'
  • คลอบคุมสกุลเงินดอลลาร์และยูโร สำหรับการทำธุรกรรมของลูกค้าภายในธนาคารเท่านั้น
  • มุมมองระยะยาวของ JP Morgan ต่อบล็อกเชน และโทเคนไนเซชั่น สู่ผู้นำธนาคารในตลาดดิจิทัล

JPMorgan หนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของ Wall Street ได้เปิดตัวระบบการชำระเงินด้วยระบบ Blockchain ผ่านเหรียญ JPM Coin

JPMorgan เปิดตัวแผนก Coin Services เป็นครั้งแรกในปี 2562 ซึ่งอนุญาตให้โอนระหว่างบัญชีลูกค้าต่างๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันโดยใช้บล็อกเชนแทนช่องทางการชำระเงินแบบดั้งเดิม เช่น การโอนเงินผ่านธนาคาร ธุรกรรมในบัญชีแยกประเภทสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวันหรือเวลาใดก็ได้ แทนที่จะถูกจำกัดเฉพาะในเวลาทำการ

 

ในเวลากว่า 4 ปี ที่ผ่านมา ธุรกรรมที่เกิดขึ้นโดยเหรียญ JPM มีมูลค่าเพิ่มสูงถึง 300 พันล้านดอลลาร์ และยังมีโอกาสที่จะมีการใช้งานสูงขึ้นอีก เพราะปัจจุบันทางบริษัทประมวลผลการชำระเงินที่มีมูลค่าสูงถึง 9.8 ล้านล้านดอลลาร์ ต่อวันอยู่แล้ว

ระบบ JPM Coin จะรองรับเฉพาะการดำเนินธุรกรรมภายในธนาคาร JP Morgan สำหรับการโยกย้ายเงินระหว่างธนาคารต่างสาขาหรือระหว่างลูกค้าของ JP Morgan ด้วยกัน คล้ายกับบัญชีธนาคารที่ทำงานอยู่บนเครือข่ายบล็อกเชน

โดยการเปิดตัวในยุโรปครั้งล่าสุด ยังให้บริการเฉพาะกลุ่มลูกค้าสถาบันเพียงเท่านั้น  โดยก่อนหน้านี้เปิดรองรับเพียงสกุลเงิน ดอลลาร์(USD) แต่ปัจจุบันมีบริการค่าเงิน ยูโร(EURO) แล้ว ซึ่งบริการนี้ได้ใช้ในการชำระเงินยูโรเป็นครั้งแรกโดยบริษัท Siemens AG ของเยอรมัน

ธุรกรรมฉลุย ใน 24 ชั่วโมง 7 วัน

บาซัค โทพาร์ค (Basak Topark)หัวหน้าแผนก Coin System รายงานว่าฝ่ายการเงินขององค์กรสามารถใช้ระบบเพื่อจัดการสภาพคล่องได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น สามารถเริ่มชำระเงินเพื่อที่จะสามารถรับรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากได้มากขึ้น

“การจ่ายเงินในเวลาที่เหมาะสมจะทำให้เราสามารถบริหารเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

การชำระเงินด้วย JPM Coin สามารถดำเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งแตกต่างจากระบบการทำธุรกรรมแบบดั้งเดิมที่ใช้ได้ในเฉพาะเวลาที่กำหนดเท่านั้นและมันสามารถดำเนินได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

ยอดธุรกรรมพุ่ง 3 แสนล้านดอลลาร์

ในขณะที่หลายคนยังตั้งคำถามว่าเทคโนโลยี Blockchain จะสามารถนำมาแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้หรือไม่ แต่ JPM Coin ก็ประสบความสำเร็จสะท้อนจากมีการใช้ทำธุรกรรมไปแล้วกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์นับตั้งแต่เปิดตัว

อย่างไรก็ตาม นี่ถือเป็นส่วนเล็ก ๆ ของธุรกิจการชำระเงินที่ดำเนินการโดยบริษัท JPMorgan มีเม็ดเงินหมุนเวียนในการให้บริการกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ต่อวัน

มองไกล Blockchain - Tokenization 

ขณะนี้ธนาคารยักษ์ใหญ่หลายแห่งได้เริ่มศึกษาเทคโนโลยี Blockchain มาเป็นเวลานานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร เช่น ธนาคาร Goldman Sachs Group, Banco Santander และ Societe Generale ที่กำลังผลักดันโปรเจกต์ Blockchain และสินทรัพย์ดิจิทัล

ด้านธนาคาร Goldman Sachs ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถออกสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น อสังหาริมทรัพย์ เป็นแบบสินทรัพย์ดิจิทัล

ธนาคาร JPMorgan ยังคงเป็นแนวหน้าด้านเทคโนโลยี Blockchain และการทำ Tokenization ที่มองว่าเทคโนโลยีนี้สามารถนำมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินข้ามพรมแดนได้

โดยในช่วงปลายเดือนเม.ย.66 ธนาคารกำลังเดินหน้าผลักดันให้สินทรัพย์ทางการเงินแบบดั้งเดิมเป็นแบบ Token แม้ว่าตลาดจะซบเซาในปีที่แล้ว

ในเวลานั้น นาย Tyrone Lobban หัวหน้าฝ่ายสินทรัพย์ดิจิทัลของ JPMorgan และแพลตฟอร์ม Onyx ได้กล่าวว่า ธนาคารได้ดำเนินการให้กู้ระยะสั้นไปแล้วผ่านแพลตฟอร์ม Onyx ไปแล้วเกือบ 7 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ โดยเขาได้เสริมว่า

“เราคิดว่าการทำ Tokenization เป็น Killer app สำหรับระบบการเงินแบบดั้งเดิม”

“ถ้าคุณนึกถึง Private market (สินเชื่อส่วนบุคคล หุ้นบริษัทเอกชน และอสังหาริมทรัพย์) ตลาดเหล่านี้ค่อนข้างมีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของ Public market แต่คำสั่งซื้อที่มีสภาพคล่องน้อยกว่าจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมาก”

และย้อนไปในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ธนาคาร JPMorgan ยังเปิดเผยด้วยว่ากำลังสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับการทำ Digital Wallet ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างอิสระบน Web3 ด้วยวิธีที่มีความปลอดภัย โดยสามารถใช้ Digital ID เพียงอันเดียวสำหรับการใช้งานหลายๆช่องทาง