'อียู' คลอดกฎหมาย MiCA ยกระดับตลาด’คริปโทโลก'

'อียู' คลอดกฎหมาย MiCA ยกระดับตลาด’คริปโทโลก'

จุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับของอุตสาหกรรมคริปโท คือ"กฎระเบียบและข้อบังคับ" ขณะนี้สหภาพยุโรป (EU) กลายเป็นผู้นำด้านกฏหมายสำหรับตลาดคริปโท โดยมีการร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า MiCA

MiCA หรือ Market in Crypto Acts เพื่อกำกับดูแลความปลอดภัยให้กับตลาดคริปโททั้งด้านผู้ประกอบการและนักลงทุน 

 

ข้อเสนอนี้เกิดขึ้นครั้งแรกจากการหารือของคณะกรรมาธิการยุโรปเกือบ 3 ปีก่อน จนกระทั่งฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐสภาสหภาพยุโรป ผ่านการอนุมัติร่างกฎหมายที่ครอบคลุม สำหรับการกำกับดูแลอุตสาหกรรมคริปโทด้วย MiCA เพื่อลดความเสี่ยงของนักลงทุน และสร้างเสถียรภาพในระบบการเงิน ในขณะเดียวกันก็ยังเปิดโอกาสในการสร้างนวัตกรรมทางการเงินได้เป็นที่แรกของโลก 

MiCA ระเบียบดูแลคริปโทโลก 

Markets in Crypto-Assets Act หรือ MiCA เป็นกรอบกฎหมายที่ใช้กำกับสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายการเงินฉบับเดิม โดยธุรกิจหรือผู้ให้บริการด้านคริปโทเคอร์เรนซีจะต้องมีใบอนุญาตดำเนินการและจะต้องเปิดเผยปริมาณการใช้พลังงานด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการวางแนวทางสำหรับการดำเนินการและโครงสร้างการบริหารของเหล่าผู้ออกเหรียญโทเคน รวมไปถึงความโปร่งใสของการออกและซื้อขายคริปโท

วัตถุประสงค์หลักของ MiCA คือการทำให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีมาตรฐานการกำกับดูแลสินทรัพย์คริปโท ที่เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมและนักลงทุนมีความมั่นใจในด้านกฎหมาย

 เอฟเฟกต์ MiCA

จากข้อมูลของ Chainalysis ระบุว่า กฎหมาย MiCA ที่เกี่ยวข้องกับ"สเตเบิลคอยน์" (stablecoin) จะมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม ปี 2567 ส่วนที่เหลือทั้งหมด รวมถึงในส่วนที่ใช้ควบคุมผู้ให้บริการด้านคริปโทฯ จะตามมาในเดือนมกราคม ปี 2568

อย่างไรก็ตามข้อกฎหมาย MiCA ไม่ครอบคลุมชัดเจนถึงตลาด NFT และสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง หรือ CBDC ทั้งในระดับชาติหรือระดับธนาคารกลางยุโรป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมองว่าจะมีผลกระทบไปยังตลาด NFT ในบางสถานการณ์  และไม่มีการกล่าวถึง DeFi เลย และไม่สามารถใช้ควบคุมในส่วนของการ Lending และ Staking คริปโทได้

อุตสาหกรรมคริปโทต่างให้การต้อนรับร่างกฎหมายฉบับใหม่  MiCA อย่างล้นหลาม เนื่องจากมีข้อกฎหมายที่ชัดเจนนำไปสู่การบังคับใช้อย่างแพร่หลายทั่วทั้งสหภาพยุโรป อีกทั้งกฎหมายด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะมีอิทธิพลไปยังทั่วโลก

แพทริค แฮนเซ่น ( Patrick Hansen ) k Hansen ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของบริษัท Circle ในสหภาพยุโรป กล่าวว่าการมีร่างกฎหมาย MiCA ซึ่งมีผลกระทบไปในทางที่ดี ทั้งนี้ความชัดเจนด้านกฎระเบียบดึงดูดเงินทุนและผู้ประกอบการจากทั่วโลก โดยกล่าวถึง “เอฟเฟกต์ MiCA” ที่สะท้อนจากสถิติการสร้างแบรนด์ในอุตสาหกรรมคริปโทในพื้นที่ทวีปยุโรป ซึ่งสามารถดึงดูดการลงทุนจาก VC มากถึง 47.6% ในไตรมาสแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 5.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ไทยเร่งปรับใช้ โตทัดเทียมสากล

นายปรีชา ไพรภัทรกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การกำกับดูแลตลาดคริปโทกำลังเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ตลาดคริปโทสามารถทำงานเข้ากับกฎเกณฑ์ระดับโลก จึงทำให้หน่วยงานกำกับดูแลของไทยต้องปรับระบบและขั้นตอนหลายเรื่อง ซึ่งจะสามารถทำให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยดำเนินงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีความลื่นไหลมากขึ้น

สำหรับแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลหรือเอ็กซ์เชนจ์ต่างๆในประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) จะต้องมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อให้ตอบรับกับกฎเกณฑ์ใหม่ที่มีการยกระดับความปลอดภัยเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือที่จะสามารถทัดเทียมกับพื้นฐานระดับโลก

ขณะนี้เอ็กซ์เชนจ์แทบทุกแห่งในประเทศไทยต้องปรับปรุงระบบหลังบ้าน เช่นจากเดิมใช้ระบบความปลอดภัยด้วยระบบ Know Your Customer  หรือ KYC จะต้องเปลี่ยนเป็นการยืนยันตัวตนด้วยการแสดงตัวตน ซึ่งระบบนี้เป็นระบบที่มีแค่ธนาคารใช้เท่านั้น แต่เอ็กซ์เชนจ์ในตลาดจะต้องปรับรูปแบบ ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ลูกค้าคริปโทต้องทำร่วมด้วย

นายสรัล ศิริพันธ์โนน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มองถึงความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะทำให้กฏหมายที่ใช้กำกับดูแลตลาดสินทรัพดิจิทัลมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้กฎหมายในประเทศไทยมีความเท่าเทียมและทัดเทียมระดับโลก จะเป็นการยกระดับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ให้มีความน่าเชื่อถือในระดับสากล และยังเป็นการเปิดโอกาสให้เหรียญคริปโทที่ออกโดยคนไทยในประเทศไทย สามารถซื้อขายในระดับโลกได้อย่างไร้ข้อจำกัด