พลิกโฉมโลกการเงินด้วย Uniswap ตลาดแลกเปลี่ยนที่ไร้ศูนย์กลาง

พลิกโฉมโลกการเงินด้วย Uniswap ตลาดแลกเปลี่ยนที่ไร้ศูนย์กลาง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในตอนนี้ Cryptocurrency เป็นอะไรมากกว่า การเก็งกำไรของคนเฉพาะกลุ่มแล้ว โดยในตอนนี้แม้แต่ประเทศบางประเทศยังยอมรับให้ใช้ Bitcoin ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย หรือใช้เป็นทุนสำรองของบางบริษัทแล้วด้วยซ้ำ แต่นั่นเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

ปัจจุบันมี Cryptocurrency ที่สามารถเขียนสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ลงไปบนบล็อกเชนได้ ทำให้เกิดการประยุกต์ใช้ในกิจกรรมทางการเงินต่างๆที่น่าสนใจ เช่น ระบบการเงินไร้ศูนย์กลาง (Decentralized Finance: DeFi) ที่มีประสิทธิภาพด้านต้นทุนสูงมาก ยกตัวอย่าง เช่น แพลตฟอร์ม Decentralized Excahnge (DEX) ชื่อ Uniswap ที่ปัจจุบันมีพนักงานประมาณ 100 คน แต่มีคนเข้ามาแลกเปลี่ยนซื้อขายกว่า 635 ล้านดอลลาร์ ภายใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา เทียบกับ Bitkub Exchange ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่มีพนักงานมากกว่า 500 คน (มากกว่า 5 เท่า) แต่มียอดซื้อขายเพียง 68 ล้านดอลลาร์(น้อยกว่า 11 เท่า)

ระบบการเงินรูปแบบใหม่นี้ จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่มีโอกาสเข้ามาเปลี่ยนระบบการเงินของโลกได้ในอนาคต บทความนี้จะพาผู้อ่านท่องโลกที่ไร้ศูนย์กลางของ Cryptocurency ว่าตอนนี้ไปไกลกว่าการใช้เพื่อการเก็งกำไรเพียงเท่านั้น

ในยุคแรกของ Cryptocurrency ก็คือ Bitcoin ซึ่งเหรียญต้องการสร้างระบบเงินสดแบบดิจิทัลโดยไร้ศูนย์กลางอย่างแท้จริง การออกแบบนั้นจึงเป็นแบบเรียบง่ายที่สุด เพื่อให้โค้ดมีช่องโหว่น้อย อย่างไรก็ตาม Vitalik Buterin เป็นคนหนึ่งที่หลงไหลใน Bitcoin จนถึงขั้นก่อตั้งนิตยสาร Bitcoin Magazine และมองเห็นศักยภาพว่าบล็อกเชนที่เป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังทำอะไรได้มากกว่านั้น จึงเกิดเป็นการสร้าง Ethereum บล็อกเชนซึ่งสามารถเขียน Smart Contract ภายหลังจากการเกิด Bitcoin ประมาณ 6 ปี

สัญญาอัจฉริยะหรือ Smart Contract เป็นการทำสัญญาแบบไม่ผ่านตัวกลาง แต่ใช้บล็อกเชนแทนซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากปัญหาเก่าของการทำสัญญาผ่านตัวกลางคือ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือหากคู่สัญญาผิดจริงแต่เบี้ยวหนี้ก็ต้องมีการฟ้องร้อง เสียทั้งเงินและเวลาเราเพิ่มเติม ซึ่งนี่ก็เป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้แม้ว่าจะมีตัวกลางคอยควบคุมแล้ว (Counterparty Risk)

แต่สำหรับ Smart Contract จะไม่ต้องมีตัวกลาง ทำให้ไม่มีต้นทุนด้านตัวกลางหรือมีน้อยมาก มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้จากโค้ดที่เขียนแบบเปิดเผยบนบล็อกเชน คู่สัญญามีสินทรัพย์ค้ำประกันจริงจึงทำสัญญาได้ และทุกอย่างเกิดขึ้นแบบอัตโนมัติตามข้อตกลงที่เราร่างไว้ ปัจจุบันมีการเขียน Smart Contract เพื่อทำกิจการทางการเงินมากมายเช่น ธนาคาร โรงจำนำ ประกันภัย ตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้า และตลาดแลกเปลี่ยนแบบไร้ศูนย์กลาง (DEX) ซึ่งในบทความนี้เราจะมาเจาะเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ตลาดแลกซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยปกติ อย่างเช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่เปิดให้นักลงทุนซื้อขายหุ้นได้นั้นจะเป็นแบบ Order Book หรือกระดานราคาซื้อขายที่เราต้องการซื้อ หรือขายเท่าไหร่ก็จะพิมพ์ราคานั้นลงไป และมี Market Maker หรือผู้เสริมสร้างสภาพคล่องให้กับระบบ DEX ในยุคแรกเริ่มอย่าง EtherDelta นั้นก็ใช้ Order Book แต่สุดท้ายแพลตฟอร์มนี้ก็หยุดให้บริการไป เนื่องจากไม่สะดวกเพราะการทำธุรกรรมบนบล็อกเชนทุกครั้งจะมีต้นทุน

ทำให้ระบบ Order Book ใช้งานยาก จึงมีคนใช้น้อย สภาพคล่องแลยต่ำ และมีเรื่องการทำผิดกฎหมายเข้าไปด้วย ทำให้แพลตฟอร์มน้องใหม่อื่นๆที่เรียนรู้ความผิดพลาดจาก EtherDelta พัฒนาขึ้นมาจากจุดนี้ จึงเปลี่ยนไปใช้ระบบ Automated Market Maker (AMM) เนื่องจากเป็นระบบที่ทำงานโดยอัตโนมัติ ผู้ซื้อขายจะได้ราคา ณ ราคาตลาดทันที

Bitkub เป็นตลาดซื้อขายสินทรัพย์แลกเปลี่ยน รายได้คือค่าธรรมเนียม 0.25% ทุกครั้งที่มีการซื้อขาย โดยเงินก้อนนี้อาจจะหักค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบ ค่าทำสภาพคล่อง เงินเดือนพนักงานฝ่ายต่างๆ รวมถึง C-Level ส่วนที่เหลือมาจึงคิดเป็นกำไรของบริษัท Bitkub

แต่สำหรับ DEX อย่าง Uniswap ที่ใช้ระบบ AMM สภาพคล่องที่มีนั้นไม่ได้เป็นของ Uniswap โดยมันเป็นเพียงแค่แพลตฟอร์มโล่งๆ ไม่มีสภาพคล่องอะไรเลย แต่ผู้สร้างได้เขียนเปิดให้นักลงทุนมาเพิ่มสภาพคล่องกันได้โดยไม่มีการปิดกั้น ใครก็เติมที่เข้ามาเพิ่มสภาพคล่องแล้วเกิดมีนักลงทุนซื้อขายเหรียญคู่นั้นก็จะได้รับค่าธรรมเนียมไป

ยกตัวอย่างเช่น นางสาวแนนมี 1,000 USDT และ 1,000 USDC (รวม 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ) จึงเอาเงินก้อนนี้ไปเพิ่มสภาพคล่องใน Uniswap โดยนางสาวแนนจะเพิ่มเงินทั้งก้อนนั้นเข้าไปใน Pool รวมของ USDT-USDC ซึ่งในนั้นอาจจะมีคนอื่นเพิ่มเงินเข้ามาด้วยได้เช่นกัน สมมติให้ Pool นี้มีเงินลงทุน 100,000 ดอลลาร์(50,000 USDC และ 50,000 USDT) แปลได้ว่านางสาวแนนมีสัดส่วนเงินใน Pool นี้อยู่ที่ 2% (2,000/100,000) ดังนั้น หากมีการแลกเปลี่ยนแล้วเก็บค่าธรรมเนียมได้ 10,000 ดอลลาร์ นางสาวแนนก็จะได้รับเงิน 2% จากค่าธรรมเนียมก้อนนั้นหรือ 200 ดอลลาร์นั่นเอง

ระบบนี้เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยที่ไม่มีเงินก้อนใหญ่หรือความสามารถเพียงพอที่จะเปิด Exchange เองได้ สามารถสร้างรายได้แบบ Passive Income เช่นเดียวกันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ โดยใครจะมีเงินมากหรือน้อยก็ไม่สำคัญเพราะทุกคนจะได้รับค่าธรรมเนียมในรูปเปอร์เซนที่เท่ากันเสมอตามแต่ละ Pool ที่เราได้เลือกไป

แพลตฟอร์มที่บุกเบิกวิธีการนี้คือ Uniswap ที่พัฒนาโดย Hayden Adams ในปี 2017 และเริ่มใช้งานจริงเป็น Version 1 ตอนปี 2018 ซึ่งในตอนนั้นการจับคู่เหรียญนั้นต้องทำผ่านเหรียญ ETH เสมอจึงทำให้การแลกจาก USDT เป็น USDC ต้องเสียค่าธรรเนียมสองครั้ง แม้ว่าจะดูไม่มีประสิทธิภาพแต่ก็เป็น Concept ที่น่าสนใจจนมีนักลงทุนชื่อดังอย่าง Paradigm ให้เงินทุน 1 ล้านดอลลาร์ เพื่อขยายทีม (ในตอนนั้นมี 3 คนเท่านั้น จนตอนนี้มีมากกว่า 100 คน)

หลังจากวันนั้นจนถึงปัจจุบันมี Uniswap V2 ที่ปรับปรุงในเรื่องการจับคู่เหรียญให้ดีมากขึ้นและเพิ่ม Function ใหม่ให้ตอบโจทย์นักลงทุนได้อย่างดีมากจนเป็นต้นแบบให้แพลตฟอร์มอื่นๆ ลอกเลียนโค้ดแล้วไปทำตามจนเกิด DEX ใหม่ๆที่ใช้หลักการเดียวกันอย่างเช่น Sushiswap และ Uniswap V3 ที่เป็นการเลือกเพิ่มสภาพคล่องเฉพาะช่วงที่เราต้องการ (Concentrated Liquidity) ทำให้มีการใช้เงินทุนได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ปัจจุบัน Uniswap มีปริมาณการซื้อขายต่อวันอยู่ที่ 635 ล้านดอลลาร์ เก็บค่าธรรมเนียมได้ 1.2 ล้านดอลลาร์ต่อวัน รองรับการแลกเปลี่ยนเหรียญกว่า 1,605 คู่

โดยสรุปแล้ว ในตอนนี้ Cryptocurrency ในตอนนี้ไม่ใช่เป็นเพียงการเก็งกำไรอย่างเเดียวท่านั้น DEX เป็นเพียงยอดในภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ซ่อนอยู่ภายใต้เบื้องหลังของราคาที่ผันผวน สิ่งนี้ได้เกิดการสร้างระบบการเงินใหม่ที่ไร้ศูนย์กลาง เปิดโอกาสให้รายย่อยเข้าถึงการลงทุนที่โลกปกติแทบจะไม่มีทางทำได้มาก่อน และมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมมหาศาลจากโลกของอินเทอร์เน็ตที่ไม่มีพรมแดนและขึ้นอยู่กับกฎหมายในประเทศไหน