มาทำความรู้จัก 'Metaverse' ประเภทต่างๆ

มาทำความรู้จัก 'Metaverse' ประเภทต่างๆ

Metaverse คือ เทคโนโลยีที่สามารถสร้างโลกเสมือนจริงให้เกิดขึ้น และเป็นพื้นที่ให้ผู้คนสามารถเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม การใช้งาน Metaverse ถือว่ามีความหลากหลายไม่ว่าจะใช้ในรูปแบบของ B2C หรือ B2B ก็ตาม เรามาดูกันว่า Metaverse สามารถแบ่งการใช้งานได้กี่รูปแบบ และแตกต่างกันในจุดใด

Social Metaverse

คือ แพลตฟอร์มที่มีจุดประสงค์หลักในการสร้างโลกหรือสังคมใหม่ขึ้นในรูปแบบเดียวกับสื่อสังคมออนไลน์ที่เปิดให้ผู้คนเข้ามามีกิจกรรมร่วมกันหรือสร้างคอนเทนต์ของตัวเอง และเผยแพร่ให้กับผู้คนในแพลตฟอร์มได้รับรู้

จุดสำคัญของ Metaverse ประเภทนี้คือ การทำงานในรูปแบบ Decentralized โดยใช้บล็อกเชนเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถถือครองสินทรัพย์ของตัวเองในรูปแบบดิจิทัลได้

ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มนี้ก็คือ The Sandbox และ Decentraland ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุด ซึ่งมีทั้งการเสนอขาย Land รวมถึงสิ่งต่างๆ ที่ใช้ภายในแพลตฟอร์มในรูปแบบของ NFT นอกจากนี้ยังมีโทเคนของตัวเองเพื่อทำหน้าที่ใช้เป็นสกุลเงินภายในแพลตฟอร์ม

Game Metaverse

คือ Metaverse ที่มีจุดประสงค์หลักในการสร้างขึ้นเพื่อเล่นเกมเป็นหลักไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของ 2D หรือ 3D ซึ่งแพลตฟอร์มจะเป็นตัวกลางให้ผู้เล่นจากทั่วโลกสามารถเข้ามาเล่นเกมหรือแข่งขันกันได้ทางออนไลน์

ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ก็คือ Roblox ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเกมแบบสามมิติที่ต้องใช้แว่นตา VR เป็นหนึ่งในอุปกรณ์การเล่นโดยเน้นกลุ่มเด็ก และเยาวชนเป็นหลัก ถึงอย่างไร Roblox ยังไม่ได้นำบล็อกเชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม การใช้จ่ายต่างๆ ยังใช้ระบบการเงินดั้งเดิมอย่างเช่น บัตรเติมเงิน และบัตรเครดิต

Corporate Metaverse

เป็น Metaverse ที่สร้างขึ้นจากภาคเอกชน สมาคมฯ หรือหน่วยงานภาครัฐโดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อใช้งานภายในองค์กรหรือใช้เป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์องค์กรหรือภาคธุรกิจให้กับคนทั่วไปรับรู้ โดยอาจไม่มุ่งหวังผลตอบแทนทางรายได้หรือต้องสร้าง Users จำนวนมาก ขณะเดียวกันไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริมอย่าง VR หรือต้องมีบล็อกเชนเป็นโครงสร้างพื้นฐาน

Metaverse สำหรับภาคธุรกิจ

คือ Metaverse ที่ภาคธุรกิจสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของช่องทางการตลาดหรือเติมเต็มธุรกิจที่ทำอยู่ให้มีความสามารถในการให้บริการกับลูกค้าได้มากขึ้น ตัวอย่าง เช่น บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่สร้าง Metaverse ขึ้นมาเพื่อให้ลูกค้าทดลองชมบ้านตัวอย่างก่อนตัดสินใจซื้อหรือเข้ามาเยี่ยมชมโครงการจริง ถ้าหากภาคธุรกิจใดที่มีเงินทุน และความพร้อมในแง่ของฐานลูกค้าก็สามารถที่จะสร้าง Metaverse เป็นของตัวเองได้

Metaverse ที่ใช้เฉพาะทาง

Metaverse ประเภทนี้จะถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้งานเฉพาะกลุ่มหรือมีเทคนิคพิเศษเพื่อจับกลุ่มผู้ใช้งานที่ต้องการคุณสมบัติพิเศษที่ Metaverse เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานบนออนไลน์ที่เปิดให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาด้วยตัวเองอย่างเช่น การประชุมทางไกล การศึกษาทางออนไลน์

ตัวอย่างเช่น การสอนผ่าตัดโดยใช้ศพจริง ถ้าเป็นการสอนรูปแบบเดิมก็จะจำกัดจำนวนผู้ที่เข้าร่วมได้จำนวนไม่มาก แต่ถ้านำ Metaverse มาใช้ การสาธิตผ่าตัดก็จะส่งถึงกลุ่มผู้เข้าร่วมได้ในวงกว้างแทนที่จะถูกจำกัดเฉพาะกลุ่ม

เห็นได้ว่า Metaverse คือ แพลตฟอร์ม Web3 ที่มีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย และไม่จำเป็นว่าจะต้องทำงานบนบล็อกเชนหรือขาย Land แต่อย่างไร ผู้ใช้งานหรือภาคธุรกิจจึงต้องเลือกแพลตฟอร์มที่ตรงกับวัตถุประสงค์ และกลุ่มเป้าหมายของตัวเองเป็นหลักเพื่อที่จะนำมาใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและคุ้มค่ากับการลงทุน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์