ตลท.เผย ‘4 โจทย์ท้าทาย’ ขับเคลื่อนตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

ตลท.เผย ‘4 โจทย์ท้าทาย’  ขับเคลื่อนตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

ย้อนไปในอดีตสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโทฯ เป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีอายุได้ประมาณ 5-10 ปี ซึ่งวันนี้ในปีที่แล้ว ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ แต่มาในปีนี้หายไปกว่า 70% เหลือเพียง 0.93 ล้านล้านดอลลาร์ เนื่องจากเหรียญสกุลหลักอย่าง บิตคอยน์ และอีเธอเรียม ที่มีมาร์เก็ตแชร์สูง ปรับตัวลดลงไปมาก

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Thai Digital Assets Exchange” ชวนเปิดมุมมอง “ถอดรหัส ดิจิทัลแอสเสท รุ่งโรจน์ หรือ ร่วงโรย” และตั้งคำถามถึงความหมายของ “ดิจิทัลแอสเสท” ที่ไม่ได้มีเพียงแค่ “คริปโทเคอร์เรนซี” เท่านั้น ว่าถูกใช้ในรูปแบบใด การเป็น “ตัวกลางในการแลกเปลี่ยน” ถูกใช้เป็น “ยูทิลิตี้” หรือ“หลักทรัพย์” ซึ่งถ้าหากเป็นหลักทรัพย์ก็ต้องมีการเข้ามากำกับดูแล 

ตลท.เผย ‘4 โจทย์ท้าทาย’  ขับเคลื่อนตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

นายแมนพงศ์ มองว่า คริปโทฯไม่ใช่หลักทรัพย์ในตลาดแคปปิตอลมาร์เก็ต และไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นสิ่งที่ให้ความหมายในด้านการเทรดดิ้ง และเพลย์เมนท์ จึงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมตลาดหลักทรัพย์ถึงไม่ได้ทำเกี่ยวคริปโทฯ เนื่องจากดูแลเกี่ยวกับแคปปิตอลมาร์เก็ตโดยประเทศไทย มีพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งแต่ปี 2561 รวดเร็วกว่าหลายๆ ประเทศ ขณะที่สิงคโปร์ยังเป็นการร่างแผน และทยอยปล่อยกฎระเบียบที่เข้ามาดูแลเรื่องมาตั้งแต่ปี 2563

4 ความท้าทายตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

นายแมนพงศ์ กล่าวถึง 4 ความท้าทายในการพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย คือ 1. มาตรการด้านภาษีจากการซื้อขาย จาก Capital gain tax ปัจจุบันผ่อนปรนสามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกับกำไรในปีภาษีเดียวกันสำหรับธุรกรรมที่ผ่าน Exchange ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ในขณะเดียวกันด้าน Value-added tax ปัจจุบันผ่อนปรนให้ยกเว้น VAT สำหรับธุรกรรมที่ผ่าน Exchange ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. 

ถัดมาคือ 2.มาตรการด้านภาษีจากการออก token และการเสนอขาย token ที่ยังคงต้องเสีย VAT อยู่ และ 3. ลักษณะทางบัญชีของสินทรัพย์ดิจิทัล Instrument อาจไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจของ Issuer เนื่องจากเงินที่ Issuer ได้รับจากการออกขาย  Token อาจต้องบันทึกบัญชีของสินทรัพย์ดิจิทัลเป็น Debt 

และ 4. ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Securities Token Offering หรือ STO ปัจจุบันยังไม่สามารถทำ STO ได้ เนื่องจากต้องแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เพื่อรองรับการออกเสนอขายหลักทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัล และประเด็น voting rights ที่อาจต้องมีการแก้ไขใน พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด

อย่างไรก็ดี เทรดิชั่นนอลแอสเสทที่ ตลท.ดำเนินการมาเกือบ 50 ปีคงไม่จางหาย และจากไปง่ายๆ ไม่อย่างนั้นตลาดหลักทรัพย์ใหญ่ๆ เช่น ตลาดหุ้นแนสแด็ก และตลาดหุ้นสหรัฐจะไม่สามารถอยู่รอดได้เช่นกัน 

DRX-TDX โอกาสสู่โลกดิจิทัล

แต่เมื่อพูดถึงโอกาสในการพัฒนาสู่โลกดิจิทัล กลับมองเห็นการที่สินทรัพย์ดิจิทัล ออนบอร์ดง่าย และการทำธุรกรรมมีความรวดเร็ว และมีเงินทุนเท่าไร ก็สามารถซื้อได้ ทำให้เป็นที่มาในระหว่างที่กฎระเบียบในการกำกับดูแลกำลังพัฒนา ทางตลาดหลักทรัพย์จึงออก การลงทุนหุ้นต่างประเทศผ่าน DRX เข้ามาในตลาด และเปิดตลาดบริการตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน เพื่อทดลองกลุ่มนักลงทุนว่าตลาดดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักลงทุนและคนรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง

รวมถึงการเปิดตลาดรองสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง  TDX บริษัทในกลุ่มของ ตลท.ในการประกอบธุรกิจเป็นศูนย์กลางหรือเครือข่ายสำหรับการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) โดยมุ่งเน้นให้บริการแก่ผู้ประกอบกิจการในทุกกลุ่มธุรกิจ และอุตสาหกรรม

TDX ถือเป็นไพรเวทเชน ไม่ใช่พับลิกเหมือนกับคริปโทฯ โดยกำหนดให้มีวอลเล็ต hot wallet หรือ exchange wallet กระเป๋าเงินคริปโทฯ เพื่อใช้ในการทำธุรกรรมในการซื้อขาย ในขณะเดียวกัน ก.ล.ต. กำหนดว่าเพื่อป้องกันการโดนขโมยสินทรัพย์ ให้แยกสินทรัพย์ลูกค้าเป็น 2 ส่วน คือ Hot wallet 10% และ Cold wallet 90% 

โดยได้นำเทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology - DLT) เข้ามาช่วยสนับสนุนการให้บริการของศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัลทำให้กระบวนการซื้อขายโทเคนดิจิทัลมีประสิทธิภาพ และสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าการทำธุรกรรมบนศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัลของ TDX นั้นมีความปลอดภัย โปร่งใส และเป็นกลาง

ปรับโฉมตลาดทุนไทย

ทั้งนี้ ตลท. ยังได้เข้าไปลงทุนใน ADDX ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกำไรให้บริการศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัล (Digital Securities Exchange) แบบครบวงจร โดยบริษัทอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ Monetary Authority of Singapore ที่มีผู้ถือหุ้นหลัก อาทิ ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX), บริษัท Heliconia (บริษัทในเครือของเทมาเส็ก), ธนาคารเกียรตินาคิน ภัทร, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารยูโอบี, บลจ. ฮันฮวา, โตไก โตเกียว ไฟแนนเชียล โฮลดิงส์ เป็นต้น 

ที่มีรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) เน้นการเชื่อมต่อกับตัวกลาง และพันธมิตร (Re-intermediary) และผลิตภัณฑ์ของ ADDX เป็น digital token บน private assets เช่น PE, real estate, yield product, equity linked

อย่างไรก็ตาม จากพัฒนาการในตลาดทุนได้ปรับโฉมตลาดทุนไทย มีการเริ่มธุรกิจใหม่ และการร่วมลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล  ขณะนี้ SET มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 19.3 ล้านล้านบาท เติบโต 63.5% จากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว  ทำให้มองภาพตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในอีก 10 ปีข้างหน้า จากตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx), ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย หรือ TDX โตขึ้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์