เปิดกลลวงล่อ‘เม่าคริปโท’  ผลตอบแทนสูง ดูดนักลงทุนลุย‘ไฟ’

เปิดกลลวงล่อ‘เม่าคริปโท’  ผลตอบแทนสูง ดูดนักลงทุนลุย‘ไฟ’

หากเอ่ยถึงคำว่า “เม่า” ในวงการ "คริปโทเคอร์เรนซี" (Cryptocurrency) คงหมายความถึง “นักลงทุนรายย่อย” ซึ่งถือเป็นนักลงทุนกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

"ชัชวาล วัฒนะโชติ" เจ้าของเพจเฟซบุ๊กและยูทูปช่อง “Kim Property Live" เป็นหนึ่งนักวิเคราะห์ในวงการคริปโทเคอร์เรนซี ที่มีประสบการณ์ตั้งแต่การเป็น “เม่า” ที่เคยหลงเชื่อการหลอกให้ลงทุนมาก่อน แต่ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามข่าวสารการลงทุนในตลาดคริปโทฯ อยู่เสมอ “ชัชวาล” เล่าประสบการณ์ผ่านรายการ #คริปโท101 ที่จัดโดยทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ในหัวข้อ “รู้ทันลับลวงพลาง ล่อเม่าเข้ากองไฟ”

“ผลตอบแทนสูง” เปรียบเสมือน “ไฟ” ที่ล่อตาล่อใจนักลงทุนรายย่อย (เม่า) พร้อมกระโดดเข้ากองไฟ และตนเองก็เคยเป็นหนึ่งในเม่าที่โบยบินเข้ากองไฟมาแล้ว ! จากจุดเริ่มต้นที่ถูกชักชวนลงทุนในรูปแบบต่างๆ ที่ล่อกิเลสด้วยผลตอบแทนระดับสูง ซึ่งการรับผลตอบแทนเกินจริงนั้น ถือเป็นข้อควรระมัดระวังอันดับแรก และยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกและเข้าถึงได้ง่ายๆ ทำให้เกิดบริบทในรูปแบบใหม่ๆ ในการสร้างสิ่งล่อลวง ที่สามารถดึงดูดนักลงทุน  

เปิดกลลวงล่อ‘เม่าคริปโท’  ผลตอบแทนสูง ดูดนักลงทุนลุย‘ไฟ’

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดคริปโทฯ จะอยู่ในช่วง “ตลาดหมีตัวใหญ่” หรือ “คริปโทวินเทอร์” ถือเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่เหมาะแก่การศึกษาการลงทุนให้รู้ถ่องแท้ ! 

“ชัชวาล” เปิดประเด็นชวนตั้งข้อสั่งเกตวิธี “ปั่นราคาเหรียญ” ในตลาดคริปโทฯ ที่ราคาเหรียญมีการปรับขึ้นลงนั้น เกิดขึ้นได้จาก 2 ฝั่ง คือ “คนซื้อ” และ “คนขาย” สมมติว่าปริมาณหลักทรัพย์ที่ถูกเทรดในตลาดคิดเป็น 5% ของมาร์เก็ตแคป และอีก 95% ถูกถือไว้โดยนักลงทุนรายใหญ่ที่ไม่มีการซื้อหรือขาย แต่เมื่อ 5% ที่ถูกเทรดกันอยู่ในตลาดมีราคาปรับขึ้นไปสูง หากมองในมุมของมาร์เก็ตแคปทำให้มูลค่าทั้งหมดถูกดันขึ้น ซึ่งนับรวม 95% ที่ไม่ได้ถูกเทรดในตลาดด้วย ทำให้มูลค่าโดยรวมปรับตัวสูงขึ้น

หากพูดถึง “สภาพคล่อง” กลับไม่ได้ตรงไปตรงมาเหมือนในตลาดหุ้น จากสภาพคล่องในตลาดคริปโทฯ มีน้อยมาก เช่น “ตลาด DeFi” เมื่อดันราคาสินทรัพย์ที่อาจเป็นซัพพลายเพียง 2-3% ที่ถูกเทรดในตลาด ที่มีการซื้อขายเพื่อดันราคาไม่กี่ครั้งก็ทำให้ราคาพุ่งขึ้นสูง เพราะมีตัวช่วยจาก AMM หรือ ผู้ช่วยให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลแบบกระจายอำนาจบน DEX อัตโนมัติ แต่มีข้อดีที่ทำให้เสริมสภาพคล่อง แต่ข้อเสียอาจทำให้ราคาสูงเกินจนถึงขึ้นเรียกว่า “To The Moon” เพราะไม่มีใครเข้าซื้อในราคาที่ถูกตั้งไว้ ทำให้ราคาไหลขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งสามารถไหลได้ถึง 10 เท่า

เปิดแพทเทิร์นกลลวง

ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทยมีกฎเกณฑ์การดูแลมากมายที่สามารถสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนได้ อย่างน้อยผู้ที่ออกหลักทรัพย์ต้องถูกตรวจสอบแล้ว หรือการมีใบอนุญาติเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ แต่ตลาด DeFi ยังไม่มีการตรวจสอบใดๆทั้งในตลาดไทยและตลาดโลก ซึ่งขณะนี้พึ่งพาการใช้ “โค้ด” ที่เป็นตัวอักษรและตัวเลขเพียงอย่างเดียว

การล็อก “โทเคน” มักเกิดขึ้นบ่อยในแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยนักลงทุนนำเหรียญมาฝากไว้ หรือที่เรียกว่า Stake ทำให้สภาพคล่องตรึงอยู่ในตลาด โดยมีการสร้างแรงจูงใจด้วยการให้รีวอร์ดเป็นเหรียญประจำระบบนิเวศน์ คล้ายกับการเสกเหรียญขึ้นมา ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้กลับไม่มีธุรกิจรองรับ

บทเรียนจากโปรเจกต์ Terra และ Luna มีการให้รีวอร์ดด้วยการให้เงินหรือสเตเบิลคอยน์ และมีการแจกเหรียญของตัวเองที่ทำให้นักลงทุนเห็นผลตอบแทนถึง 100-1000% ทำให้มีการซื้อเหรียญของแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปที่ราคาปรับตัวขึ้นทำให้คนคิดว่าเหรียญนี้ดี แต่ถ้ากลับไปดูผลตอบแทนไม่ได้มาจากตัวโปรเจกต์หรือธุรกิจรอบรับอย่างแท้จริง

สร้างกระแสข่าวดีดึงดูดนักลงทุน

เมื่อมีการประกาศข่าวดี การเติบโตที่ผิดปกติ มีการจับมือร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ในวงการคริปโทเป็นเรื่องที่”น่ากลัว”และ”ควรระวัง” เนื่องจากข่าวที่ออกมาป็นเรื่องที่สามารถสร้างขึ้นได้ รวมทั้งต้องรู้ให้ทันข่าวที่ออกมาว่าพยายามจะสื่อในมุมไหน บางคอนเทนท์มุ่งเสนอนักลงทุนเพื่อให้เกิดความสนใจและร่วมลงทุนในท้ายที่สุด

ถ้าเป็นนักลงทุนแนวซิ่ง หรือ เข้ามาในตลาดเพื่อ “เก็งกำไร” อาจชอบข่าวแนวนี้ เพราะจะเป็นตัวที่ทำให้ราคาเหรียญนั้นๆขึ้นหรือลงได้

ทั้งยังเป็นเรื่องที่ตลกร้าย จากการที่เหรียญต่างๆ มีข่าว “กระดานเทรด” หรือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจะได้ประโยชน์จากค่าธรรมเนียมหรือค่าคอมมิชชันในการซื้อขาย ฝากและถอน ยิ่งเหรียญที่เป็นกระแส เช่น เหรียญมีม

เทียบคริปโทเป็น"สตาร์ทอัป”

"ความเสี่ยง” ของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความแตกต่างจากตลาดอื่นๆ ในตลาดหุ้นมีการตรวจสอบที่เข้มงวด มีตลาดหลักทรัพย์ดูแล มีการทำซีลลิ่ง-ฟลอร์ มีการตรวจสอบบัญชี และทุกบริษัทมีรายได้คงที่ แต่ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลบางเหรียญยังไม่ทราบแม้แต่ผู้ออกเหรียญ ถ้าเทียบตลาดการลงทุน

คริปโทคือ "สตาร์ทอัป” ที่มีเติบโตสูง กำไรมหาศาลและผันผวนสูง มีความเสี่ยงสูง แม้ว่าระบบ "โค้ดดิ้ง” จะมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ท่ามกลางระบบกระจายศูนย์ ถือเป็นความมั่นคงเดียวที่แตกต่างจากตลาดดั้งเดิม แต่เมื่อเกิดความผิดพลาด ทุกอย่างหายไปชั่วข้ามคืนที่ไม่สามารถเรียกร้องได้

สุดท้ายแล้ว “แมงเม่าบินเข้ากองไฟ” เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในทุกตลาดการลงทุน มีการปั่นราคาในทุกๆตลาด จึงเป็นคำถามที่ส่งกลับไปยังนักลงทุนว่า “ต้องการลงทุนไปเพื่ออะไร?” ถ้าไม่มีความรู้ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเลยเรียกการลงทุนครั้งนี้ว่า “การเดิมพัน” เพราะตลาดเงินมีความเสี่ยงสูงและมีสิ่งที่ล่อลวงมากมายที่จะหลงเชื่อได้ง่ายถ้าเข้าสู่ตลาดแบบไม่มี “กลยุทธ์”