อุปสรรคของโทเคนดิจิทัล: ปัญหาด้านภาษี

อุปสรรคของโทเคนดิจิทัล: ปัญหาด้านภาษี

ในตอนก่อน ๆ เราได้เห็นโอกาสของโทเคนดิจิทัลไปบ้างแล้วว่าอาจจะเข้ามา disrupt ตลาดการเงินได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีสินทรัพย์ใหม่ ๆ ที่มีโอกาสในการลงทุนใหม่ ๆ หลาย ๆ คนมักจะมองข้ามประเด็นเรื่องภาษีไป ซึ่งนักลงทุน และผู้ออกควรจะต้องเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจน

เนื่องจากโทเคนดิจิทัลเป็นกลุ่มสินทรัพย์ใหม่ และยังไม่มีความชัดเจนมากนัก เมื่อมีการออก พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ก็ได้มีออก พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2561 ให้รายได้/ผลตอบแทนจากการถือหรือครอบครองสินทรัพย์ดิจิทัล และกำไรจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4) และต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่อัตรา 15%

ซึ่งไม่มีความชัดเจนในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะประเด็นการคิดภาษีเงินได้ว่ามีเงินได้เท่าไร คิดต้นทุนอย่างไร นำขาดทุนมาหักกลบกำไรได้หรือไม่

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 กรมสรรพากรจึงได้ออกคู่มือแนะนำการเสียเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล (https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/lorkhor/newsbanner/2022/03/Instructions_for_paying_personal_income_tax.pdf) ซึ่งได้ชี้แจงไว้หลัก ๆ ดังนี้

  • การจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลให้แก่บุคคลอื่น เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนถือเป็นเงินได้ มาตรา 40(4)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร โดยการคำนวณต้นทุนให้ใช้วิธีที่มาตรฐานการบัญชีรับรองทั่วไป เช่น moving average หรือ FIFO เป็นต้น โดยคำนวณแบบแยกตามเหรียญ 
  • ต้นทุนนั้นนอกจากค่าซื้อ ยังสามารถรวมถึงต้นทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลและต้นทุนการได้มาซึ่งเงินได้ เช่น ค่าธรรมเนียมการซื้อ ค่าธรรมเนียมการขาย และค่าโอน เป็นต้น 
  • ผลขาดทุนไม่ว่าจะเกิดจากคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลประเภทใด ๆ ที่เกิดขึ้นในปีเดียวกัน สามารถนำมาหักกลบกับกำไรที่เกิดจากคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลประเภทใดก็ได้ทั้งนี้เฉพาะธุรกรรมที่ กระทำผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น ไม่สามารถหักกลบข้ามปีได้ 
  •  ส่วนภาษีหัก ณ ที่จ่ายก็สามารถนำมาใช้เป็นเครดิตภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90 ได้ 
  •  แต่เงินได้เหล่านี้ถึงแม้ถูกหักภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้ แต่ก็ยังต้องนำมาร่วมคำนวณเป็นรายได้เมื่อยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่เหมือนกับเงินได้จากเงินปันผล และดอกเบี้ยที่ผู้เสียภาษีเงินได้มีทางเลือกว่าจะนำมารวมคิดเป็นฐานภาษีหรือไม่ก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาต และการซื้อขาย CBDC จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566

แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นของการหักภาษี ณ ที่จ่ายก็ยังมีประเด็นอยู่ว่า ผู้ขายจะทราบได้อย่างไรว่าผู้ซื้อมีต้นทุนที่เท่าไร การซื้อขายเกือบทั้งหมดในทุกวันนี้ จึงไม่ได้มีการหักภาษีกันต่างที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหากโทเคนดิจิทัลได้รับความนิยม ประเด็นนี้ก็คงเป็นหนึ่งในประเด็นที่เราต้องแก้ไขให้เกิดความชัดเจนในที่สุด

Disclaimer: บทความนี้จัดทำขึ้นโดยผู้เขียน บนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่เชื่อว่า มีความน่าเชื่อถือ และ/หรือ มีความถูกต้อง และถือเป็นลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาของผู้เขียน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ปรากฏในข้อมูลบทความแต่อย่างใด