NFT ตายหรือยัง

NFT ตายหรือยัง

ถ้าใครได้ติดตามวงการคริปโทฯอาจจะเห็นว่า Non-Fungible Token หรือ NFT นั้นเป็นที่สนใจค่อนข้างมากในปีที่ผ่านมา โดย NFT ที่เป็นที่พูดถึงกันมากๆ ก็คงไม่พ้นโปรเจ็กต์ชื่อดังอย่างเช่น Bore Ape Yacht Club, Cryptopunks และ CloneX ที่ก่อนหน้านี้ราคา Floor Price ก็ได้ปรับตัวขึ้นไปอย่างร้อนแรง อย่างไรก็ตามตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ตลาดคริปโทฯ โดยรวมได้เข้าสู่ภาวะตลาดหมี ซึ่งก็เลยทำให้ตลาด NFT เข้าสู่ภาวะตลาดหมีด้วยเช่นกัน

โดย NFT นั้นก็เป็นสินทรัพย์คริปโตอีกรูปแบบหนึ่งที่จะในเน้นการซื้อขายไปที่สินทรัพย์ประเภทของสะสมอย่าง งานศิลปะ และรูปโปรไฟล์(Profile Picture)

ถ้าเรามาดูกันที่ปริมาณการซื้อขายย้อนหลังของ NFT ในช่วงที่ผ่านมาก็จะพบว่ามีการลดลงอย่างมาก โดยอ้างอิงข้อมูลจาก TheBlock ก็จะพบว่าปริมาณการซื้อขาย NFT ของบล็อกเชนอันดับหนึ่งอย่าง Ethereum นั้น มีได้มีการลดลงจากจุดสูงสุดที่ 1.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ในช่วงสัปดาห์ของเดือนพฤษภาคม

แต่ปัจจุบันกลับมีปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ 80.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 3 พันล้านบาท หรือลดลงกว่า 95% และ NFT หลายๆ คอลเลคชั่น แม้จะเป็นตัวที่มี Market Cap อันดับต้นๆ ก็ยังคงมีราคา Floor Price ลดลงมากกว่า 80-90% ในช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน

เพราะฉะนั้นจิงเกิดคำถามที่สำคัญขึ้นก็คือ NFT นั้น “ตายแล้วหรือยัง”

แต่ก่อนจะตอบคำถามนั้นก็คงต้องมาดูซะก่อนว่าทำไมปัจจุบันแม้ NFT จะอยู่ในขาลงที่หนักแต่ก็ยังคงมีผู้คนให้ค่ากับมัน

คำตอบก็คือ NFT ในปัจจุบันนั้นได้สร้างคุณค่าบางอย่างที่สินทรัพย์อื่นๆ ให้ไม่ได้อย่างเช่น ความโปร่งใส หรือ Transparency 

เนื่องจากการที่บล็อกเชนนั้นมีความกระจายศูนย์และโปร่งใส ทุกๆ ธุรกรรมอย่างการซื้อ การขาย การเสนอราคา หรือแม้แต่ข้อมูลสำคัญอย่างเจ้าของสินทรัพย์ในอดีต เจ้าของสินทรัพย์ปัจจุบัน หรือแม้แต่ประวัติการฉ้อโกงของ NFT จะถูกบันทึกอยู่ในบล็อกเชนอยู่ตลอดเวลา และใครก็สามารถเข้าไปดูได้อย่างโปร่งใส ในขณะเดียวกันถ้าเราไปซื้อสินทรัพย์อย่างเช่น นาฬิกา กระเป๋าแบรนด์เนม หรืออื่นๆ ก็จะไม่มีสิ่งที่ให้เห็นหรือพิสูจน์ว่าธุรกรรมเคยเกิดขึ้นไปกี่ครั้ง ซื้อขายโดยใคร ณ ราคาที่เท่าไหร่ นอกจากจะมีการบันทึกไว้ซึ่งก็ยังพิสูจน์ยาก

ความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Digital Ownership โดยในปัจจุบันนั้นการที่เราแสดงอะไรก็ตามบนโซเชียลมีเดียก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นเจ้าของสิ่งนั้นอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่นถ้าเราต้องการประกาศว่าเราเป็นเจ้าของสินทรัพย์อะไรซักอย่างผ่านโซเชียลมีเดีย ส่วนมากก็จะถ่ายรูปของสิ่งนั้นและโพสต์เพื่อแสดงออกในเรื่องดังกล่าว อย่างเช่นการถ่ายรูปกระเป๋าแบรนด์เนม หรือรถยนต์ หรืออื่นๆ ลงพื้นที่โซเชียลมีเดียของเรา แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้เลยว่าเราเป็นเจ้าสินทรัพย์นั้นอย่างแท้จริง เราอาจจะเช่ามา อาจจะยืมเพื่อนมา หรืออาจจะซื้อมาจริงแต่ขายไปแล้วก็ได้ ซึ่ง NFT สามารถมาเติมช่องว่างในส่วนนี้ได้อย่างไร้รอยต่อ อย่างเช่นทวิตเตอร์ในปัจจุบันที่มีการเปิดให้ผู้คนสามารถพิสูจน์ความเป็นเจ้าของรูปโปรไฟล์ NFT ของตัวเอง แล้วจากนั้นกรอบของรูปโปรไฟล์เราจะเป็นทรงหกเหลี่ยมที่ใครก็ สามารถมาดูได้ว่าเราเป็นเจ้าของสินทรัพย์นี้จริงๆ

ความลงตัวในการเป็นสิ่งที่เอาไว้แสดงฐานะทางสังคม (Social Status) ซึ่งความลงตัวในที่นี้มาจากคุณสมบัติทั้งสองอย่างก่อนหน้า เพราะสินทรัพย์ที่เอาไว้แสดงฐานะทางสังคมในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น ของแบรนด์เนม เช่นกระเป๋าแบรนด์ Chanel หรือ Gucci ที่ผู้คนมักนิยมซื้อเพื่อคุณค่าในแบรนด์มากกว่าซื้อเพื่อคาดหวังคุณค่าในการใช้งาน หรืออย่างงานศิลปะระดับโลก หรืออื่นๆ นั้นยังคงขาดคุณสมบัติของทั้งสองสิ่งนั้น

และด้วยความที่เราเห็นเทรนด์ในการเติบโตของผู้ใช้งานโซเลียลมีเดีย และพฤติกรรมการแสดงออกของผู้คนที่อยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น เพราะฉะนั้น NFT จึงสามารถใช้แสดงเป็น Social Status ได้ ตัวอย่างเช่น ตอนนี้ศิลปินหรือดาราดังระดับโลกอย่าง Justin Bieber, Post Malone, Jimmy Fallon, Serena Willaims และคนดังอื่นๆ นำ NFT ของเคลเลคชั่นดังต่าง ๆ อย่าง Bored Ape Yacht Club, CloneX หรือ Cryptopunks ไปขึ้นเป็นรูปโปรไฟล์ และทำให้คุณค่าเกิดขึ้นไปยังตัว NFT มากขึ้น เปรียบเทียบได้กับการที่เราเห็นคนดังหรือศิลปินใช้อะไร ก็มักจะมีคนไปใช้ตามหรือซื้อตาม เพราะเหมือนว่าเราได้อยู่ใน Circle เดียวกับคนเหล่านี้ ซึ่ง NFT ก็เช่นกัน

โดยสามอย่างนี้เป็นตัวอย่างที่ NFT สามารถให้เพิ่มได้มากกว่าสินทรัพย์ในปัจจุบัน สังเกตุได้จากการที่ปัจจุบันเริ่มมีแบรนด์ต่างๆ กำลังเข้ามายังในพื้นที่ของ NFT อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น Nike ที่ซื้อกิจการของ RTFKT ที่เป็นเจ้าแห่งการออกแบบสินทรัพย์ที่เป็น Digital Based และ NFT เป็นหลัก

หรือ Adidas ที่ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ Bored Ape Yacht Club ในคอลเลคชั่น NFT ที่ชื่อ Into the Metaverse ของ Adidas ที่จะมีการส่งเสื้อผ้าจาก Adidas และเป็น Pass ในการเข้าไปเล่นในเมต้าเวิร์สของ Adidas ที่กำลังจะเปิดในอนาคตก่อนใคร นอกจากนั้นยังมีแบรนด์ใหญ่อย่าง Moët Hennessy Louis Vuitton (LVMH) เข้ามาร่วมอีก โดยอย่าง Tiffany and Co. ที่เปิดขายสร้อยอัญมณี Cryptopunks มูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาทต่อสร้อย และยังมี Tag Heuer ที่เปิดตัวนาฬิการุ่นใหม่ที่สามารถแสดง NFT ได้อีกด้วย

ที่จริงแล้วยังมีแบรนด์อื่นอีกมากที่กำลังเข้ามาสู่โลก NFT อย่างต่อเนื่อง นี่จึงเป็นเพียงตัวอย่างว่าแม้ในช่วงที่ตลาดอยู่ในขาลงก็ยังคงมีแบรนด์เข้ามาไม่หยุด โดยแบรนด์ที่เห็นส่วนมากจะเป็นแบรนด์ที่เน้นในด้านสถานะทางสังคม(Social Status) อย่างแบรนด์ Luxury หรือแบรนด์แฟชั่นดังกล่าวตามที่กล่าวมา

สรุป NFT ตายหรือยัง

ถึงแม้ตลาด NFT จะมีการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง แต่เมื่อเรามาดูคุณค่าที่ตัว NFT เองสามารถมอบให้ผู้ถือ และการเข้ามาของแบรนด์ต่างๆ ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ จึงอยากขอสรุปว่า NFT ยังไม่ตาย แต่ก็มีหมายเหตุไว้ว่า NFT ที่จะอยู่ได้ในระยะยาวนั้นต้องทำหน้าที่เป็น “แบรนด์” ของตัวเองได้อย่างที่ Bored Ape Yacht Club แสดงถึงการแสดงฐานะอันดับหนึ่งของ NFT ประเภทรูปโปรไฟล์, CloneX ที่แสดงถึงรูปโปรไฟล์ที่มาจากแบรนด์ Nike หรืออย่าง Pudgy Penguin ที่ได้มีการนำ IP(Interectual Property) ใช้ต่อยอดในสินค้าต่างๆ

และเกิดการจดจำของผู้คนที่มากกว่าการเป็นแค่โปรเจค NFT ดังนั้นภาพของ NFT ที่เราจะเห็นในอนาคต คงจะออกไปเป็นแนวที่แสดงออกถึงสถานะทางสังคมและการเอาประโยชน์ในคุณสมบัติของ NFT อย่างความโปร่งใส และความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ดิจิทัลมาปรับใช้กับธุรกิจในปัจจุบันที่มากขึ้นอย่างแน่นอน