Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 10 February 2025

ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวนหลังทรัมป์ขึ้นกำแพงภาษี ท่ามกลางความกังวลการคว่ำบาตรส่งออกอิหร่าน
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 66-76 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 69-79 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (7 - 13 ก.พ. 68)
ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวนระดับสูงเนื่องจากสหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีขึ้นภาษี ต่อแคนาคา เม็กซิโก และจีน ให้เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวลง ขณะที่ความขัดแย้งในตะวันออกกลางมีแนวโน้มคลี่คลายลงเนื่องจากสหรัฐฯ เสนอให้ชาวปาเลสไตน์อพยพย้ายถิ่นฐานออกไปหลังจากสหรัฐฯ ยึดครองพื้นที่ เพื่อเสถียรภาพในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม นาย Donald Trump มีมติคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบอิหร่าน ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบอาจตึงตัวมากขึ้น นอกจากนี้ความตึงเครียดในยุโรปตะวันออกยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องหลังรัสเซียโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครน ส่งผลให้ตลาดยังคงกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่ออุปทานน้ำมันดิบ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
• ตลาดกังวลนโยบายการขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ ที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยล่าสุดสหรัฐฯ และเม็กซิโกชะลอการเก็บภาษีต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน โดยเม็กซิโกจะส่งทหาร 10,000 นาย เข้าสกัดกั้นการลักลอบขนเฟนทานิล และผู้อพยพผิดกฎหมายบริเวณชายแดนสหรัฐฯ ขณะที่สหรัฐฯ จะช่วยแก้ปัญหาการลักลอบนำอาวุธเข้าประเทศเม็กซิโก ทั้งนี้ทรัมป์เพิ่งประกาศภาษี 25% ต่อเม็กซิโกและแคนาดา และ 10% ต่อจีน ในวันที่ 4 ก.พ. 68 ส่งผลให้บริษัทในสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค และพลังงานต่างได้รับผลกระทบ ต่อมากระทรวงการคลังของจีนแถลงตอบโต้นโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐฯ โดยประกาศจัดเก็บภาษีนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ 10% ขณะที่การนำเข้า LNG และถ่านหิน
จากสหรัฐฯ จะถูกเรียกเก็บภาษีกว่า 15% มีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 ก.พ. 68 เป็นต้นไป ส่งผลให้ตลาดกังวลว่าความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะทำให้อุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงลดลง เป็นปัจจัยกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ
• ตลาดยังคงจับตาความไม่สงบในตะวันออกกลาง ซึ่งมีแนวโน้มจะคลี่คลายลง โดยล่าสุด ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump เผยว่าได้หารือกับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล Benjamin Netanyahu ในประเด็นอนาคตของฉนวนกาซาที่กำลังได้รับผลกระทบจากสงคราม โดย นาย Donald Trump เสนอให้สหรัฐฯ ยึดครองฉนวนกาซา และให้ชาวปาเลสไตน์อพยพย้ายถิ่นฐานออกไป เพื่อเสถียรภาพในตะวันออกกลาง
• อย่างไรก็ตาม ตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว เนื่องจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามบันทึกคำสั่งของประธานาธิบดีให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กดดันเศรษฐกิจอิหร่าน รวมถึงการคว่ำบาตร เพื่อไม่ให้อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 68 ที่ผ่านมา ทั้งนี้อิหร่านเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับที่ 3 ของกลุ่ม OPEC โดยกำลังการผลิตน้ำมันดิบ เดือน ธ.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 3.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 3% ของปริมาณผลิตน้ำมันดิบทั่วโลก
• สถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรปตะวันออกยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุดกองทัพรัสเซียเปิดฉากโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครน ส่งผลให้ความตึงเครียดในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ประธานาธิบดียูเครนนาย Volodymyr Zelensky เรียกร้องให้มีการสนับสนุนระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย ขณะที่สหภาพยุโรปประกาศจะคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม เพื่อกดดันไม่ให้รัสเซียรุกคืบเข้าสู่ดินแดนของยูเครนไปมากกว่านี้
• ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 68 ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน เดือน ม.ค. 68 ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือน ม.ค. 68 ยอดขายปลีกเดือน ม.ค. 68 ดัชนีราคาส่งออกเดือน ม.ค. 68 ดัชนีราคานำเข้าเดือน ม.ค. 68 และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 68 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค. 67 ตัวเลขการจ้างงานไตรมาส 4/67 และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/67
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (31 – 6 ก.พ. 68)
• ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.12 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 70.61 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.58 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 74.29 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 77.46 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลัง OPEC+ มีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันราว 0.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 68 ตามแผนเดิมที่หารือกันในการประชุมนำโดยรัสเซีย จากการประชุมเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 68 ที่ผ่านมา ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เผยผลสำรวจตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครเดือน ธ.ค. 67 ลดลง 0.56 ล้านตำแหน่ง เทียบกับเดือน พ.ย. 67 อยู่ที่ 7.6 ล้านตำแหน่ง นอกจากนี้ด้านสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ หรือ EIA เผยตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น 8.7 ล้านบาร์เรล แตะระดับที่ 423.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้อยู่ที่ 2 ล้านบาร์เรล สะท้อนถึงความต้องการใช้น้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ลดลงเนื่องจากโรงกลั่นหลายแห่งเร่งทำการซ่อมบำรุง เนื่องจากปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงในช่วงนี้