Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 27 May 2024

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 27 May 2024

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลัง OPEC+ คาดขยายเวลาลดกำลังการผลิต ขณะที่ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงไม่แน่นอน

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 79-89 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 27 May 2024

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (27 - 31 พ.ค. 67) 

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตลาดจับตาการประชุมกลุ่มโอเปคพลัสในสัปดาห์นี้ ที่มีแนวโน้มขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิตไปจนถึงสิ้นไตรมาส 3/67 ขณะที่ความไม่สงบในตะวันออกกลางยังมีความไม่แน่นอน หลังประเทศในยุโรปประกาศรับรองฐานะความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ให้มีฐานะเป็นรัฐเอกราช อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันและเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน หลังตลาดคาด Fed ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

- ตลาดจับตาการประชุมกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 1 มิ.ย. 67 ณ กรุงเวียนนา โดยรอยเตอร์เผยว่ากลุ่มโอเปคพลัสมีแนวโน้มขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิต 2.2 ล้านบาร์เรลไปจนถึงสิ้นไตรมาส 3/67 จากปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในไตรมาส 2/67 ซึ่งในปัจจุบันการผลิตน้ำมันดิบเดือน เม.ย. 67 ของซาอุดิอารเบียอยู่ที่ระดับ 8.99 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าโควต้าที่ได้รับอยู่ที่ระดับ 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ผลิตอยู่ที่ระดับ 2.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าโควต้าที่ได้รับอยู่ที่ระดับ 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่การส่งออกของโอมานเดือน เม.ย.67 ลดลง 6.4% จากเดือน มี.ค.67 มาอยู่ที่ระดับเดียวกับโควตาการผลิตที่ 0.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน สอดคล้องกับนโยบายของกลุ่มในการลดการผลิตเพื่อรัษาสมดุลตลาดน้ำมัน
 


 

-  ความไม่สงบในตะวันออกกลางยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง หลังล่าสุดประเทศในยุโรปได้แก่ นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ และสเปน ประกาศรับรองฐานะความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ให้มีฐานะเป็นรัฐเอกราชตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 67 เป็นต้นไป โดยการประกาศครั้งนี้เป็นการแสดงความสนับสนุนของฝ่ายสายกลาง อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ ซึ่งถือเป็นการกดดันประเทศอิสราเอลอย่างมาก ทั้งนี้สถานการณ์ความตึงเครียดที่ดำเนินอยู่จะยังคงไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุปทานน้ำมันดิบ แต่ยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบที่อาจขยายตัวเพิ่มเติมหรือไม่

-  อย่างไรก็ตาม นโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยยังคงไม่แน่นอน โดยล่าสุดผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ นาย Christopher Waller มองว่าโอกาสในการปรับลดอาจจะชะลอออกไปเป็น เดือน ก.ย. 67 นี้ เนื่องจากต้องการรอดูตัวเลขอัตราเงินเฟ้อให้มีแนวโน้มลดลงสู่เป้าหมาย 2% มากขึ้น ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภค ในเดือน เม.ย. 67 อยู่ที่ 3.4% ซึ่งยังคงสูงกว่าเป้าหมายดังกล่าว ขณะที่ Goldman Sach คาด FED อาจจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเปราะบาง

-  บริษัทพลังงาน IIR คาดความต้องการนำน้ำมันเข้ากลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 24 พ.ค.67 ปรับลดลง 0.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 0.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะลดลงไปอยู่ที่ 0.09 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 31 พ.ค.67 จากการปิดซ่อมบำรุงตามแผนและกะทันหัน ขณะที่การนำเข้าน้ำมันดิบอินเดียเดือน เม.ย. 67 ลดลง 6.5% จากมี.ค. 67 มาอยู่ที่ระดับ 4.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่สัดส่วนการนำเข้าจากรัสเซียเพิ่มขึ้น 8.2% มาอยู่ที่ 38% ของการนำเข้าทั้งหมด
 

 

- ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 67 ตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 1/67 อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 67 และดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน เดือน เม.ย. 67 ตัวเลขที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 67 และดัชนีราคาผู้บริโภค เดือน พ.ค. 67 และตัวเลขที่สำคัญของจีน ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 67
 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 - 24 พ.ค. 67)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.34 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 77.72 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 1.86 ดอลลาร์สหรัฐฯ  มาอยู่ที่ 82.12 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 82.40 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงต่อไป ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะแสดงสัญญาณการชะลอตัวลงก็ตาม นอกจากนี้ Joint Organizations Data Initiative (JODI) มีการเปิดเผยข้อมูลการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบีย ปรับเพิ่มขึ้น 1.5% ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. อยู่ที่ระดับ 6.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันดิบแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน นอกจากนี้ ตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 17 พ.ค. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล แตะระดับที่ 458.8 ล้านบาร์เรล โดยปรับขึ้นสวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 2.5 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ดี  การเสียชีวิตของนายอิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่าน จากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลต่อความไม่สงบในตะวันออกกลางที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น แม้จะไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่าอิสราเอลมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่