MONEY AND STOCK MARKET REVIEW วันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567

MONEY AND STOCK MARKET REVIEW วันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567

เงินบาทกลับมาอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ ขณะที่หุ้นไทยร่วงลงตามแรงขายของต่างชาติ

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
 

• เงินบาทพลิกกลับมาแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ที่ 36.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน

เงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์สอดคล้องกับการดีดตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในอิหร่าน ประกอบกับน่าจะมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 1/67 ของไทยซึ่งขยายตัวมากกว่าคาด และจากแรงซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ และแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ที่ 36.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับภาพรวมของสกุลเงินเอเชีย และการกลับมาร่วงลงของราคาทองคำใน
ตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นตามแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าที่ตลาดคาด (อาทิ ดัชนี Composite PMI เดือนพ.ค. 67 ที่สูงสุดในรอบ 2 ปี และการปรับตัวลงของจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 พ.ค. 67) ประกอบกับสัญญาณจากเฟด ยังคงสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เฟดจะยังไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตอันใกล้

 

MONEY AND STOCK MARKET REVIEW วันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567

 

ในวันศุกร์ที่ 24 พ.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.21 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (17 พ.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 20-24 พ.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิหุ้นไทย 4,894 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 7,725 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 8,525 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 800 ล้านบาท)

 

• สัปดาห์ถัดไป (27-31 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.40-37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนเม.ย.ของธปท. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. รายงาน Beige Book ของเฟด ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 (Second Estimate) ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนเม.ย. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. และข้อมูล PMI เดือนพ.ค. ของจีน และตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ของยูโรโซน ด้วยเช่นกัน

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

• ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงจากปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ หลังปิดบวกติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์

ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงตลอดสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายสุทธิของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยมีปัจจัยลบจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทย (หลังสศช. ปรับประมาณการจีดีพีไทยสำหรับปี 2567 เหลือ 2-3% จากเดิม 2.2-3.2%) ความกังวลเกี่ยวกับประเด็นการเมืองภายในประเทศ รวมถึงการคาดการณ์ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานาน หลังเจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนพ.ค. ยังออกมาดีกว่าคาด ทั้งนี้ ปัจจัยลบข้างต้นกระตุ้นให้เกิดแรงขายทำกำไรในหุ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรม นำโดย พลังงาน อสังหาริมทรัพย์และไฟแนนซ์

 

ในวันศุกร์ที่ 24 พ.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,364.48 จุด ลดลง 1.32% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 41,150.43 ล้านบาท ลดลง 10.50% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.58% มาปิดที่ระดับ 382.05 จุด

 

MONEY AND STOCK MARKET REVIEW วันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567

• สัปดาห์ถัดไป (27-31 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,350 และ 1,340 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,375 และ 1,385 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 (Second Estimate) ยอดขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนเม.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพ.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน กำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. และดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนพ.ค. ของจีน รวมถึงยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.ของญี่ปุ่น