Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 8 April 2024

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 8 April 2024

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนในระดับสูง หลังสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ยังตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 83-93 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 88-98 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
 

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 8 April 2024

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (8 - 12 เม.ย. 67) 

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนในระดับสูง เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางตึงเครียดที่สุดนับแต่ช่วงต้นปี ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน มีแนวโน้มตึงเครียดมากขึ้นเช่นเดียวกัน หลังโดรนของยูเครนโจมตีเข้ามาในพรมแดนรัสเซียมากที่สุดนับตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้น ด้านตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ภายหลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเริ่มกลับมาสูงกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน นอกจากนี้ตลาดยังได้รับแรงสนับสนุนจากการที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบมีมติขยายระยะเวลากำลังผลิตจนถึงไตรมาสที่ 2/67 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากการที่สหรัฐฯ มีแผนยกเลิกการประมูลซื้อน้ำมันดิบเติมเข้าคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ ภายหลังราคาน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมาปรับสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

-  สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางตึงเครียดที่สุดนับแต่ช่วงต้นปี ภายหลังอิสราเอลโจมตีทางอากาศต่อสถานกงสุลอิหร่านในซีเรีย ส่งผลให้ผู้บัญชาการอาวุโสของหน่วยรบพิเศษคุดส์ (Quds) และสมาชิกกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (IRGC) เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 7 ราย จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้กระทรวงการต่างประเทศของอิหร่านออกมากล่าวว่า อิหร่านจะมีมาตรการตอบโต้ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งหากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางมีการเผชิญหน้ากันโดยตรงระหว่างอิสราเอลและอิหร่านย่อมส่งผลกระทบให้อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น
-  สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรปตะวันออกกลางระหว่างรัสเซียและยูเครนก็มีความตึงเครียดมากขึ้นเช่นเดียวกัน ภายหลังยูเครนยังคงเดินหน้าโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของรัสเซีย และล่าสุดได้มีการโจมตีโรงกลั่นน้ำมันดิบแห่งหนึ่งในเมืองเนซนีกัมสก์ ซึ่งมีระยะห่างจากพรมแดนกว่า 1,500 กิโลเมตร โดยการโจมตีดังกล่าวถือเป็นการโจมตีที่ห่างจากพรมแดนมากที่สุดนับตั้งแต่ความขัดแย้งดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในเดือน ก.พ. 65 
- ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ภายหลังสำนักสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต ในเดือน มี.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 50.8 สูงขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.1 โดยตัวเลขที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ถึงภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยตัวเลขดังกล่าวถือเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ตัวเลขเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลดัชนียอดค้าปลีกและดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 67 ซึ่งรายงานออกมาก่อนหน้า ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นเช่นเดียวกันในเดือน ก.พ. 67 

 


 

-  Reuters ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปี 2567 มาอยู่ที่ระดับ 82.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าที่ระดับ 81.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 78.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  จากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าที่ระดับ 76.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยการปรับคาดการณ์ขึ้นดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 67 ภายหลังอุปทานน้ำมันดิบยังคงตึงตัวจากการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC) ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ที่เข้าสร้างความกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบเพิ่มมากขึ้น
-  กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ยกเลิกการประมูลซื้อน้ำมันดิบเติมเข้าคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ หลังก่อนหน้านี้สหรัฐฯ มีแผนที่จะซื้อน้ำมันดิบปริมาณ 3 ล้านบาร์เรล สำหรับส่งมอบเดือน ส.ค.-ก.ย. 67 ภายหลังราคาน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออก

-  ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 67  ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน เดือน มี.ค. 67 ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตและตัวเลขนำเข้า-ส่งออก

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (1 - 5 เม.ย. 67)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 3.74 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 86.91 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 3.69 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 91.17 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 90.80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากยูเครนโจมตีโรงกลั่นน้ำมันและโครงสร้างพื้นฐานในรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางก็มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จากการที่อิสราเอลโจมตีทางอากาศใส่สถานกงสุลของอิหร่าน ในกรุงดามัสกัสของซีเรีย ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ภายหลังสถาบันจัดการด้านอุปทานสหรัฐฯ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 50.3 จากระดับ 47.8 ในเดือน ก.พ. 67 ซึ่งถือเป็นระดับสูงกว่า 50 ครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 65 นอกจากนี้ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (JOLTS) เปิดเผยตัวเลขการรับสมัครงานและอัตราหมุนเวียนแรงงาน พบว่าในเดือน ก.พ. 67 ปรับตัวสู่ระดับ 8.76 ล้านตำแหน่ง เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 67 ที่อยู่ในระดับ 8.75 ล้านตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ราคายังคงได้รับแรงกดดัน ภายหลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 29 มี.ค. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3.2 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 451.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล