กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ : บล.เคจีไอฯ แกว่งตัวขึ้น ติดตามฟันด์โฟลว์ใกล้ชิด

กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ : บล.เคจีไอฯ แกว่งตัวขึ้น ติดตามฟันด์โฟลว์ใกล้ชิด

ตลาดหุ้นไทยน่าจะแกว่งขึ้นได้บ้าง แต่ต้องติดตามความต่อเนื่องของกระแสเงินทุนไหลเข้าในสัปดาห์ที่แล้ว (19 – 23 กุมภาพันธ์) ตลาดหุ้นไทยผันผวนแต่ปิดแทบไม่เปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นไปตามที่เราคาดไว้

โดยภาวะเศรษฐกิจโลกที่ประคองตัวได้ดี และภาวะตลาดที่แข็งแกร่งขึ้นจากเศรษฐกิจจีนช่วยหนุนให้หุ้นในตลาดเอเชียปรับตัวได้อย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ยังมีกระแสเงินทุนไหลเข้าหุ้นไทยเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มากจนถึงกับจะดันให้ตลาดวิ่งขึ้นได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่ม พบว่า กลุ่มธนาคาร outperform เพราะธนาคารสองสามแห่งประกาศจ่ายเงินปันผลสูงเกินคาด ในขณะที่หุ้นกลุ่มที่อ่อนไหวกับวัฏจักรเศรษฐกิจโลก (global cyclical) ปรับตัวดี เพราะนักลงทุนคลายความกังวล
เกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอยลงไป แต่ในอีกด้านหนึ่ง หุ้นหลักในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ถูกกดดันจากเป้าผลการดำเนินงาน 1H67 ที่ผู้บริหารตั้งไว้แบบระมัดระวัง

ในสัปดาห์นี้ (27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม) เราคาดว่าดัชนี SET จะขยับขึ้นได้บ้าง เนื่องจากเรามองว่าตลาดโลกได้ปรับความคาดหมายต่อการปรับลดดอกเบี้ยสหรัฐไปเป็นเดือนมิถุนายน 2567 แล้ว ดังนั้น เราจึงไม่คิดว่าตลาดจะตอบรับทางลบต่อปาฐกถาของผู้บริหาร Fed หลายรายในสัปดาห์นี้ ในขณะเดียวกัน ผลประกอบการ 4Q66 ของ บจ. ไทยน่าจะประกาศออกมาหมดในสัปดาห์นี้ ซึ่งเท่าที่ออกมาแล้ว เราเชื่อว่ามีความเสี่ยงจำกัดที่จะมีการปรับลดประมาณการกำไรลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนปัจจัยสำคัญที่สุดที่ต้องติดตามยังคงอยู่ที่ความต่อเนื่องของกระแสเงินทุนไหลเข้า ทั้งนี้เมื่อพิจารณาความน่าลงทุนเป็นรายประเทศ นักลงทุนยังคงไม่ชอบหุ้นไทยเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมหภาคที่ชะลอตัวลงและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

 

 

ติดตามผลสำรวจภาคการผลิตของสหรัฐ และจีน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนของไทย
ปัจจัยต่างประเทศ: ในช่วงต้นสัปดาห์ไม่มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก แต่ในวันที่ 1 มีนาคม จะมีการประกาศตัวเลข NBS PMIs ของจีน และ ดัชนีภาคการผลิต ISM ของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของตลาด ทั้งนี้ ดังที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้นว่าจะมีปาฐกถาของผู้บริหาร Fed หลายราย แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับตลาดการเงินมากนัก เพราะ consensus ในขณะนี้มองว่าดอกเบี้ยสหรัฐจะลดในเดือนมิถุนายน

ปัจจัยในประเทศ: เหตุการณ์สำคัญในประเทศไทยที่จะกระทบกับตลาดในสัปดาห์นี้ได้แก่ i) ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมกราคมที่จะประกาศในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ซึ่งนอกจากการบริโภคภาคเอกชนที่อาจจะออกมาแข็งแกร่งต่อเนื่องแล้ว ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวอื่น ๆ ในเดือนมกราคมอาจจะยังอ่อนแออยู่ii) บริษัทจดทะเบียนจะประกาศงบ 4Q66 ครบทุกบริษัท ทั้งนี้ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ว่าประมาณการ EPS น่าจะทรง ๆ มากกว่าจะมีการปรับลดลง ดังนั้น เราจึงมองว่า downside ของตลาด ซึ่งมักจะคำนวณจากแบบจำลอง earnings yield gap (EYG) น่าจะลดลงจากระดับที่คำนวณได้ในปัจจุบัน

 

 

เพิ่มสถานะเก็งกำไรในหุ้นใหญ่กลุ่ม cyclical, กลุ่มการบริโภค และกลุ่มท่องเที่ยว

เนื่องจากเรามองบวกเล็กน้อยในสัปดาห์นี้ เราจึงแนะนำให้นักลงทุนเพิ่มสถานะเก็งกำไรในหุ้นใหญ่ i) กลุ่มที่อ่อนไหวกับวัฏจักรเศรษฐกิจ (cyclical stocks) ที่จะได้อานิสงส์จากการที่เศรษฐกิจโลกประคองตัวได้ดี (PTTGC*, SPRC*, TOP*) ii) หุ้นกลุ่มการบริโภค (consumer plays) ที่ผลประกอบการออกมาแข็งแกร่ง และมี upside สูง (CPALL*) และ iii) หุ้นท่องเที่ยว ที่ยังคงได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจีน (AAV*, AOT* และ ERW*)