MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 27 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2566

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 27 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2566

เงินบาทลดช่วงบวกบางส่วน หลังแตะจุดแข็งค่าสุดรอบ 4 เดือน ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อน

•    เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 4 เดือน ก่อนอ่อนค่ากลับมาหลังการประชุมกนง. ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวได้เล็กน้อยตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ

•    SET Index ปรับตัวลงต่อ จากความกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจไทยและผลกระทบจาก MSCI Rebalance 
 

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 4 เดือนที่ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะกลับมาทยอยอ่อนค่าลงช่วงปลายสัปดาห์ 

เงินบาทแข็งค่าขึ้นตามภาพรวมของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดเริ่มสะท้อนท่าทียอมรับว่า วัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ อาจจะสิ้นสุดไปแล้ว นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยกดดันจากการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และตัวเลขยอดขายบ้านใหม่เดือนต.ค. ของสหรัฐฯ ซึ่งปรับตัวลงมากกว่าที่คาดด้วยเช่นกัน 

อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่ากลับมาบางส่วน หลังกนง. มีการปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2566-2567 ลงมาในการประชุมวันที่ 29 พ.ย. ประกอบกับมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากการกลับมาขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย หลังเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายส่งสัญญาณว่า เฟดยังไม่มีการพิจารณาเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในปีหน้า

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 27 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2566

ในวันศุกร์ที่ 1 ธ.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.09 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.49 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 พ.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 27 พ.ย.-1 ธ.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,912.2 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 4,508.9 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 4,505.4 ล้านบาท และมีตราสารหนี้หมดอายุ 3.5 ล้านบาท) 
 

สัปดาห์ถัดไป (4-8 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.50-35.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย. ของไทย รวมถึงสัญญาณเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนต.ค. ดัชนี ISM/PMI ภาคบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนพ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคบริการเดือนพ.ย. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ รวมถึงตัวเลขการส่งออกเดือนพ.ย. ของจีนด้วยเช่นกัน

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้หุ้นไทยขยับขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ โดยมีปัจจัยบวกจากการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ก่อนจะทยอยปรับตัวลงในเวลาต่อมา โดยมีปัจจัยลบ อาทิ ความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังกนง. ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้และปีหน้าลง แม้จะมีมติคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.50% ก็ตาม การปรับ MSCI Rebalance ซึ่งมีผลในวันที่ 30 พ.ย. ประกอบกับแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ แรงขายต่อเนื่องของหุ้นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยานก็ยังคงมีส่วนกดดันดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ด้วยเช่นกัน

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 27 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2566

ในวันศุกร์ที่ 1 ธ.ค. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,380.31 จุด ลดลง 1.23% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,744.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.39% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.64% มาปิดที่ระดับ 397.61 จุด


 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (4-8 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,375 และ 1,360 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,410 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพ.ย. ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนพ.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการบริการเดือนพ.ย. ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนตัวเลขนำเข้าและส่งออกเดือนพ.ย. ของจีน