MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 6-10 พฤศจิกายน 2566

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 6-10 พฤศจิกายน 2566

เงินบาทพลิกอ่อนค่า ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน เงินบาทกลับมาอ่อนค่าช่วงท้ายสัปดาห์ตามแรงขายหุ้นและบอนด์ของต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่า หลังเฟดไม่ปิดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยต่อ

•    SET Index ปรับตัวลงท่ามกลางแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ จากความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยและทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ
 

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนที่ 35.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะพลิกอ่อนค่าตลอดช่วงที่เหลือของสัปดาห์ 

เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงแรกสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังจากที่ตลาดทยอยปรับลดโอกาสของการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งของเฟดในระยะข้างหน้าลงมา อย่างไรก็ดี เงินบาทเริ่มพลิกกลับมาอ่อนค่าลงในระหว่างสัปดาห์ตามทิศทางเงินหยวน ซึ่งมีปัจจัยลบจากตัวเลขการส่งออกของจีนเดือนต.ค. ที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง และตอกย้ำสถานะที่เปราะบางของเศรษฐกิจจีน   

นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดสะท้อนว่า เฟดยังคงไม่ปิดโอกาสของการขึ้นดอกเบี้ยต่อเพื่อควบคุมให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ กลับไประดับเป้าหมายที่ 2% เงินบาทยังอ่อนค่าลงเพิ่มเติมตามจังหวะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยในช่วงท้ายสัปดาห์ของนักลงทุนต่างชาติ หลังทางการมีการเปิดเผยรายละเอียดของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 6-10 พฤศจิกายน 2566

ในวันศุกร์ที่ 10 พ.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.71 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (3 พ.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 6-10 พ.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 9,343 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 10,679 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 13,467 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 2,789 ล้านบาท)
 

สัปดาห์ถัดไป (13-17 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.40-36.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ในอิสราเอล และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อจากมุมมองของผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนต.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก และผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนพ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของอังกฤษและยูโรโซน และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนต.ค. ของจีน อาทิ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีก   

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
 

ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงและหลุด 1,400 จุด อีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยเผชิญแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติตลอดสัปดาห์ โดยปัจจัยกดดันหลักๆในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ความกังวลต่อสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟดช่วงปลายสัปดาห์ที่ระบุว่า ไม่มั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เพียงพอจะคุมเงินเฟ้อได้หรือไม่ สำหรับสัปดาห์นี้ หุ้นไทยเผชิญแรงกดดัน นำโดย หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีประเด็นการควบรวมกิจการ กลุ่มพลังงานหลังราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลง รวมถึงไฟแนนซ์และแบงก์

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 6-10 พฤศจิกายน 2566

ในวันศุกร์ที่ 10 พ.ย. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,389.57 จุด ลดลง 2.13% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 44,239.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.21% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.30% มาปิดที่ระดับ 393.77 จุด
 

 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (13-17 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,375 และ 1,350 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,415 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของบจ.ไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนต.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนต.ค. ของยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนต.ค.ของจีน อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร