วิเคราะห์แนวโน้มตลาด : บล.ยูโอบี เคย์ เฮียนฯ ติดตามความเสี่ยง Unwind Yen Carry Trade จากประชุม BOJ

วิเคราะห์แนวโน้มตลาด : บล.ยูโอบี เคย์ เฮียนฯ ติดตามความเสี่ยง Unwind Yen Carry Trade จากประชุม BOJ

ธนาคารกลางอังกฤษคงดอกเบี้ยที่ 5.25% ติดตามประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นวันนี้ หุ้นสหรัฐฯ และยุโรปปรับลดลงมากกว่า 1% ตอบรับแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่น่าจะทรงตัวในระดับสูง

และผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษที่คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25% (จากที่ตลาดคาดว่าน่าจะปรับขึ้น) ซึ่งมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังที่มีทิศทางชะลอตัวลง วันนี้นักลงทุนรอติดตามการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ถึงการส่งสัญญาณปรับกรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่อาจ trigger ให้นักลงทุนที่มีการกู้ยืมเงินไปซื้อสินทรัพย์เสี่ยง เทขายทำกำไรและคืนเงินกู้ยืมในสกุลเยน (Unwind Yen Carry Trade) ซึ่งอาจจะทำให้ภาพการลงทุนระยะสั้นเพิ่มความผันผวนได้

ผลตอบแทนพันธบัตรกดความน่าสนใจของการลงทุนในหุ้น ลุ้นการปรับเพิ่มประมาณการกำไรช่วงประกาศงบไตรมาส 3/66 แนวโน้มของการคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงเป็นเวลานาน (อาจถึงช่วงไตรมาส 3/67) ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรขยับขึ้นกดดันความน่าสนใจของการลงทุนในหุ้น (Earnings yield gap: EYG) ทำให้ EYG ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำในรอบหลายปี ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ทำให้หุ้นมีโอกาสผันผวนและปรับฐาน อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญที่จะทำให้หุ้นยืนได้ คือ การปรับเพิ่มประมาณการกำไรบจ.จะช่วยให้ EYG กว้างขึ้น ดังนั้นติดตามการปรับเพิ่มประมาณกำไรของ SET Index ที่ผ่านจุดต่ำสุดแล้วเมื่อ 22 ส.ค. หากเดินหน้าต่อเนื่อง จะทำให้ SET Index ยืนได้ แม้อาจมีแรงทำกำไรสลับบ้างก็ตาม
 

เงินบาทยังทรงตัวในทิศทางอ่อนค่าบวกต่อกลุ่มส่งออก ค่าเงินบาทในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา แข็งค่าจากองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่าง ได้แก่ 1) ส่งออกแข็งแกร่ง 2) ราคาน้ำมันถูกช่วยการเกินดุล 3) ท่องเที่ยวดีเพิ่มดุลบริการ 4) ดอกเบี้ยไทยสูงกว่าสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงปัจจัยด้านการท่องเที่ยวที่พอไปได้ ดังนั้นอาจต้องระวังเงินบาทที่จะทรงตัวในทางอ่อนค่า ซึ่งจะบวกต่อกลุ่มส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรและอาหารที่มีการถือครองต่ำ เช่น CPF, BTG, TU, CFRESH เป็นต้น ขณะที่อิเล็กทรอนิกส์เน้นรอซื้อเมื่อ่อนตัว

ภาพรวมกลยุทธ์: ยังมีโอกาสบวกหากไม่หลุด low ที่ 1,503 จุด ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายไทย-สหรัฐฯ ที่กว้าง จะยังเป็นปัจจัยกดดันเงินทุนไหลออกที่กระทบหุ้นใหญ่ ทำให้การลงทุนจะอยู่ในรูปของการเก็งกำไรจนกว่าจะเห็นประมาณการกำไรบจ.ปรับขึ้นอย่างชั้ดเจน // หุ้นเด่นที่เราชอบในช่วง ก.ย.-ธ.ค. ได้แก่ PTTEP, TOP, PTG, OR / CPAXT, TIDLOR / AOT, AWC, SPA / CPN, AP

หุ้นแนะนำ: TRUE*, COM7*, ERW*, SAMART*

แนวรับ: 1,490-1,500 / แนวต้าน : 1,520 จุด 

สัดส่วนลงทุน: เงินสด 40% vs พอร์ตหุ้น 60%

 

 

ประเด็นการลงทุนที่น่าสนใจ

BoE สร้างเซอร์ไพรส์ เบรกขึ้นดอกเบี้ย - ที่ระดับ 5.25% สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่า BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50% ในการประชุมวันนี้ ถือเป็นการปิดฉากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ได้ดำเนินมาติดต่อกัน 14 ครั้ง หลังข้อมูลบ่งชี้การชะลอตัวของเงินเฟ้อโดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ชะลอตัวสู่ระดับ 6.7% ในเดือนส.ค. จากระดับ 6.8% ในเดือนก.ค.

บอนด์ยีลด์สหรัฐพุ่งสูงสุดในรอบ 17 ปี - อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 5.1970% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 4.4310% (21 ก.ย.) 

GULF ปิดจ๊อบเซ็น PPA - GULF เซ็นซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เขื่อนปากแบงกับกฟผ. มูลค่าโครงการ 100,000 ลบ. สัญญายาว 29 ปี ราคา 2.7129 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง กำหนดจัดหาแหล่งเงินกู้ภายในปีหน้า ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี พร้อมผลิตเชิงพาณิชย์จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ย้ำชัดสอดคล้องนโยบายรัฐบาลไทย มุ่งเน้นไฟฟ้าสะอาดและลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน

JPARK ดีเดย์ไอพีโอ – กำหนดราคาหุ้น IPO ที่ 3.80 บาทต่อหุ้น เตรียมเปิดเสนอขายหุ้นวันที่ 25-27 ก.ย. นี้ พร้อมลงเทรดกระดาน mai นำเงินลงทุนโครงการอาคารจอดรถโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

 

ประเด็นติดตาม: 18-24 ก.ย. BOI โรดโชว์พบนักลงทุนสหรัฐฯ/ 27 ก.ย. - ประชุม กนง. ซึ่งธปท.จะมีการปรับลดคาดการณ์ GDP ลง, US Core Durable Goods Orders/ 28 ก.ย. – US GDP, Pending Home Sales

(* หมายถึง หุ้นทางกลยุธ์ ซึ่งอาจมีคำแนะนำต่างกับพื้นฐาน หรือที่ไม่ ได้อยู่ในการวิเคราะห์ของ UOBKH ซึ่งนักลงทุนควรพิจารณาตั้งจุดตัดขาดทุน 3-5% ของราคาที่เข้าซื้อ)