กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ : บล.เคจีไอฯ ไซด์เวย์ เงินเฟ้อสหรัฐฯ + การเมืองไทย

กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ : บล.เคจีไอฯ ไซด์เวย์ เงินเฟ้อสหรัฐฯ + การเมืองไทย

แกว่งตัวช่วงแคบ ก่อนประเด็นเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญทั้งในสหรัฐ และไทย ในสัปดาห์ที่แล้ว (3-7 กรกฎาคม) ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างผันผวน และปิดลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งแย่กว่าที่เรามองเอาไว้

โดยในช่วงต้นสัปดาห์ ดัชนี SET ยังขึ้นต่อจากปลายเดือนมิถุนายน เพราะมีการเข้ามาเก็งกำไรจากความคาดหวังว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะมีความชัดเจนมากขึ้น และราคาหุ้นในตลาดไทยน่าสนใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีแรงขายกลับเข้ามาในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากที่มีการออกรายงานการประชุม FOMC ซึ่งออกไปในเชิง hawkish และข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่างเช่น ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน ADP และดัชนี ISM ภาคบริการออกมาสูงกว่า consensus ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐวิ่งขึ้นมา และเกิดแรงขายในตลาดหุ้นเอเชีย ซึ่งรวมถึงหุ้นไทยด้วย

 

สำหรับในสัปดาห์นี้ (10-14 กรกฎาคม) เราคาดว่าดัชนี SET จะพักฐานในช่วงต้นสัปดาห์ จากการที่นักลงทุนยังชะลอการซื้อขายก่อนเพื่อรอดูปัจจัยสำคัญของตลาด อย่างเช่น i) การประกาศดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิถุนายนของสหรัฐในวันที่ 12 กรกฎาคม และ ii) การที่สภาจะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคม เราคาดว่าดัชนี CPI จะส่งผลต่อตลาดไม่มากนัก เพราะ consensus คาดว่าตัวเลขจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ผลจากการลงมติเลือกนายกจะส่งผลอย่างมากต่อตลาดหุ้นไทย เรามองว่ามีโอกาสสูงที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนมากพอที่จะเป็นนากยกได้ เราคิดว่าในช่วงปลายสัปดาห์ ทิศทางของดัชนี SET จะขึ้นกับกระแสข่าวการเมืองอย่างมากเกี่ยวกับการนำ plan B หรือ plan C มาใช้หากต้องมีการลงมติเลือกนายกครั้งที่สอง หรือ สาม ซึ่งเบื้องต้นกำหนดไว้ในวันที่ 19-20 กรกฎาคม

 

 

จับตาตัวเลข CPI สหรัฐเดือนมิถุนายน และการที่รัฐสภาจะลงมติเลือกนายกคนใหม่

ปัจจัยภายนอก: หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐโดยส่วนใหญ่ค่อนข้างแข็งแกร่งในสัปดาห์ที่แล้ว และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนน่าจะติดตามตัวเลข CPI เดือนมิถุนายน ซึ่งเรามองว่าเป็นตัวเลขสำคัญเพียงตัวเดียวในสัปดาห์นี้ โดย consensus คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะชะลอลงมาอยู่ที่ 3.1% YoY (จาก 4.0% YoY ในเดือนพฤษภาคม) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะชะลอลงมาอยู่ที่ 5.0% YoY (จาก 5.3% YoY ในเดือนพฤษภาคม) เรามองว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่ลงมาง่าย ๆ จะเป็นลบกับภาวะของสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกก่อนการประชุม FOMC ในปลายเดือน
กรกฎาคม

ปัจจัยภายในประเทศ: ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ประเด็นการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของสภาในวันที่ 13 กรกฎาคมจะเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุด โดยในช่วงหลายวันมานี้ มีวุฒิสภาบางท่านออกมาบอกว่าจะไม่สนับสนุนทั้งผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกจากพรรคก้าวไกล หรือ เพื่อไทย เว้นแต่ว่าพรรคเพื่อไทยจะสลับขั้วมาตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน ดังนั้น ความไม่แน่นอนทางการเมืองจึงยังสูง และเรามองว่าน่าจะเห็นความชัดเจนในสัปดาห์หน้า ไม่ใช่สัปดาห์นี้

 

 

 

สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง แนะนำให้เข้าลงทุนในหุ้นที่อ่อนไหวกับนโยบายรัฐ

เนื่องจากเรามองว่าอาจจะมีการเปลี่ยนขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงอาจจะเข้าลงทุนกลุ่มที่เผชิญแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของพรรคก้าวไกล ซึ่งได้แก่ GULF*, CPALL*, TRUE*, OR*, CPN* และ CRC* เรายังคงแนะนำหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและอาหารอย่างเช่น AAV*, ERW*, GFPT และ SUN เป็นหุ้นหลักตามกลยุทธ์การลงทุนใน 3Q66 ของเรา… นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบดูมีแรงหนุนมากขึ้นในช่วงสั้น หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และมีความคาดหวังว่าจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ อาจเป็นโอกาสเก็งกำไรระยะสั้นในหุ้น PTTEP*