วิเคราะห์แนวโน้มตลาด : บล.ยูโอบี เคย์ เฮียนฯ ตลาดตอบรับเชิงบวกประธานสภาจากพรรคที่ 3

วิเคราะห์แนวโน้มตลาด : บล.ยูโอบี เคย์ เฮียนฯ ตลาดตอบรับเชิงบวกประธานสภาจากพรรคที่ 3

เรามองบวกต่อการประนีประนอม เสนอประธานสภาจากพรรคที่ 3 พรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ร่วมกันแถลงข่าวยืนยันการเสนอชื่อนายวันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา (วันนอร์) หัวหน้าพรรคประชาชาติ เข้ารับตำแหน่งประธานสภา

เรามองตลาดมีแนวโน้มตอบรับเชิงบวกจาก 1) ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาณประนีประนอม ซึ่งแสดงให้ตลาเห็นว่าการผลักดันนโยบายต่างๆของก้าวไกลอาจทำไม่ได้ง่ายนักหากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคอื่น ความกังวลของตลาดและนักลงทุนจากมาตรการที่ไม่เป็นมิตรต่อกลุ่มทุนน่าจะผ่อนคลายลง 2) วันนอร์ เป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์ และเคยเป็นประธานสภา ทำให้การเสนอชื่อดังกล่าวน่าจะได้รับการสนับสนุนจากส.ส.ฝั่งตรงข้าม และน่าจะมีส่วนช่วยพันธมิตร 8 พรรค ในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้น 3) เรามองบวกต่อสถานการณ์การเมือง ไม่ว่าคุณพิธา จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และการมีประธานจากพรรคที่ 3 ทำให้หากคุณพิธาไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ว.มากพอ มีโอกาสที่จะเห็นการเสนอชื่อแคนดิเดตจากเพื่อไทย ซึ่งด้วยนโยบายที่เป็นมิตรกับตลาดทุนมากกว่า เราเชื่อว่าตลาดจะตอบรับเชิงบวก 4) ตลาดตอบรับข่าวร้ายและมุมมองเชิงลบจากนโยบายที่อาจเกิดขึ้นของรัฐบาลใหม่ แต่ไม่ได้ตอบรับมุมมองเชิงบวกของนโยบาย อาทิ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะบวกต่อกำลังซื้อและมาตรการลดค่าไฟที่จะช่วยลดต้นทุนของธุรกิจ
 

ความชัดเจนด้านการเมืองและโอกาสตั้งรัฐบาลที่เร็วขึ้นเป็นบวกกับบรรยากาศลงทุน หากขั้นตอนการโหวตนายกรัฐมนตรี และการตั้งครม.เดินหน้าไปโดยไม่สะดุด คาดจะได้รัฐบาลใหม่ภายในปลายก.ค.-ต้น ส.ค. ซึ่งเร็วกว่าคาดการณ์ของหลายฝ่ายประมาณ 1 เดือน ซึ่งจะบวกต่อการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่จะปรับดีขึ้น ซึ่งเรามองเป็นปัจจัยหนุนต่อหุ้นเกี่ยวกับการบริโภคที่มีแนวโน้มประมาณการกำไรในเชิงบวก อาทิ ค้าปลีก ท่องเที่ยว และธนาคาร โดยหุ้นเด่นที่เราชอบ ได้แก่ CPALL, BJC, AOT, ERW, AWC, SCB, AEONTS // อย่างไรก็ตามหุ้นบางกลุ่มอาจยังมีความเสี่ยงของความเปลี่ยนแปลงในอนาคต อาจทำให้การฟื้นตัวมีปัจจัยถ่วง ซึ่งได้แก่ PTTGC และ GULF 

คงมุมมองหุ้นไทยในช่วง 1-2 สัปดาห์หน้า มีโอกาสฟื้นตัวจากหลายปัจจัย 1) ประเมินแรงกดดันของนักลงทุนรายย่อยจากความกังวลหุ้น STARK ที่มีต่อตลาดรวมลดลง 2) การปรับพอร์ตของนักลงทุนสถาบันทั้งบลจ.และประกันที่น่าจะแล้วเสร็จ 3) ความชัดเจนการเมืองที่มากขึ้น 4) เข้าสู่ช่วงการรายงานผลประกอบไตรมาส 2/66 ที่ช่วงแรกน่าจะออกมาดีนำโดยกลุ่มธนาคาร แต่อาจต้องระวังการผลกระทบต่อการตั้งสำรองการลงทุนในหุ้น/หุ้นกู้ของ STARK ที่น่าจะมีในบจ.หลายแห่ง โดยเฉพาะกลุ่มประกัน 

ภาพรวมกลยุทธ์: ยังคงมุมมอง ระยะ 1-2 สัปดาห์ มีโอกาสฟื้นจากการเมืองในประเทศที่ชัดเจนขึ้น ขณะที่ระยะ 2 เดือน มีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกกดดันให้เกิด de-rating ทำให้ในเชิงกลยุทธ์ ต้องกลับมาเน้นหุ้นที่โมเมนตัมกำไรเป็นบวก / Valuation ไม่แพง / ปันผลสูง (มี 1 หรือหลายข้อนี้รวมกัน) 

หุ้นแนะนำ: SCB*, OR*, GFPT*, AWC*

แนวรับ: 1,489 / แนวต้าน : 1,510-1,525 จุด 

สัดส่วนลงทุน: เงินสด 40% vs พอร์ตหุ้น 60%


 

ประเด็นการลงทุนที่น่าสนใจ

ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐหดตัว – ปรับตัวลงสู่ระดับ 46.0 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 47.0 จากระดับ 46.9 ในเดือนพ.ค. โดยเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ดัชนีได้รับผลกระทบจากการลดลงของการจ้างงาน แม้ว่าคำสั่งซื้อใหม่ปรับตัวขึ้น

ดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยุโรปหดตัว – โดยหดตัวในอัตราที่เร็วกว่าคาดในเดือนมิ.ย. ปรับตัวลงสู่ระดับ 43.4 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 44.8 ในเดือนพ.ค. นับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และต่ำกว่าระดับที่คาดไว้ที่ 43.6 จากนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ ECB ส่งผลกระทบด้านการเงิน และบ่งชี้ถึงแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมที่ซบเซา

RATCH ปิดดีล ซื้อโรงไฟฟ้าไพตันอิเหนา – โดยซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าไพตัน อินโดนีเซีย 36.26% พ่วงลงทุน 65% ในธุรกิจเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าของ IPM Asia มูลค่ารวม 25,000 ล้านบาท 

 

ประเด็นติดตาม: 5 ก.ค. – EU Services PMI, TH CPI / 6 ก.ค. – US ISM Non-Manufacturing PMI, Job Openings, Nonfarm Employment, Initial Jobless Claims 

(* หมายถึง หุ้นทางกลยุทธ์ ซึ่งอาจมีคำแนะนำต่างกับพื้นฐาน หรือที่ไม่ ได้อยู่ในการวิเคราะห์ของ UOBKH ซึ่งนักลงทุนควรพิจารณาตั้งจุดตัดขาดทุน 3-5% ของราคาที่เข้าซื้อ)