แกว่งตัวแต่โมเมนตัวหุ้นรายตัวยังบวก

แกว่งตัวแต่โมเมนตัวหุ้นรายตัวยังบวก

ติดตามการเจรจาเพดานหนี้และรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ การเจรจาเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐฯ ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยง

ขณะที่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (ประชุมเมื่อ 2-3 พ.ค.ที่ผ่านมา) ที่จะออกวันนี้ จะให้ภาพที่ชัดเจนขึ้นของการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งตลาดอยากเห็นการเริ่มหยุดขึ้นดอกเบี้ยซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น อย่างไรก็ตามมีมีความเป็นไปได้ที่การหยุดขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้เงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ มากขึ้นจากส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเทียบกับประเทศทั่วโลกที่ค่อนข้างกว้าง ซึ่งอาจทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผ่อนคลาย แต่การฟื้นตัวจะค่อยเป็นค่อยไปจากทิศทางสกุลเงินของหลายประเทศที่อาจอ่อนค่าเทียบกับสหรัฐฯ 

 

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่กว้างทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า บวกต่อกลุ่มส่งออกอาหารและเกษตร อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.75% ต่ำที่สุดในอาเซียน (มาเลเซียอยู่ที่ 2.75%) ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ-ไทย อยู่ที่ 3.5% ซึ่งกว้างกว่าระดับเฉลี่ยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาที่ 2.5% อยู่มาก ส่งผลให้ทิศทางเงินทุนโดยเฉพาะในตราสารหนี้ มีโอกาสไหลออกต่อเนื่อง และกดดันให้เงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่า โดยเฉพาะในภาวะที่การส่งออกที่ 70-80% เป็นสินค้าอุตสาหกรรม ยังอยุ่ในทิศทางชะลอตัว ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการส่งออกในรอบนี้ จะอยู่ในกลุ่มที่เกี่ยวกับอาหารและสินค้าเกษตรเป็นหลัก
 

หุ้นไทยอาจตอบรับปัจจัยลบมากเกินไปแล้วในระยะสั้น เมื่อประเมินจาก 1) ดัชนีปรับลดลงใกล้ 15x PER ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยการซื้อขายช่วง 5 ปี (15-17x PER) 2) กลุ่มหุ้นที่เกี่ยวกับการบริโภคในประเทศและท่องเที่ยว มีโมเมนตัมการเติบโตที่แข็งแกร่ง และไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นการเมือง 3) คะแนนเสียงของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยที่ใกล้เคียงกัน (152 vs 141) ทำให้ในทางปฏิบัติแล้ว ยากที่จะผลักดัน ซึ่งเราเริ่มเห็นแล้วจากการที่ทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกลเริ่มเดินสายพบองค์กรทางเศรษฐกิจที่สำคัญเพื่อสร้างความมั่นใจและลดความกังวลต่อนโยบายนโยบายแบบสุดโต่ง ดังนั้นผลลัพธ์ที่ออกมาจึงอาจไม่แย่หรือเป็นลบมากอย่างที่ตลาดกังวล

ภาพรวมกลยุทธ์: เรามองเป็นโอกาส selective buy เน้นกลุ่มที่น่าจะเห็นการฟื้นตัวได้ชัดเจนในปี 2566 และยังมีการถือครองที่ต่ำ (Underowned) ระวังความผันผวนของหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจ // กลุ่มค้าปลีกและท่องเที่ยว ไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นการเมือง ขณะที่สื่อสารและไฟฟ้า มีโอกาสฟื้นตัว หลังตอบรับปัจจัยลบระยะสั้นมากไป บาทอ่อนรอบนี้บวกกับกลุ่มส่งออกอาหารและเกษตร

หุ้นแนะนำ: MAJOR*, AAV*, GFPT, TU

แนวรับ: 1,518 / แนวต้าน : 1,537-1,550 จุด 

สัดส่วนลงทุน: เงินสด 40% vs พอร์ตหุ้น 60%
 

 

 

ประเด็นการลงทุนที่น่าสนใจ

ดัชนี PMI รวมภาคผลิต-บริการสหรัฐดีดตัว – โดยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.5 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน จากระดับ 53.4 ในเดือนเม.ย. ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ได้รับแรงหนุนจากการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่ ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นปรับตัวลงสู่ระดับ 48.5 ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.1 

AAV จับมือ ททท. - AAV และสายการบินไทยแอร์เอเชียเผยว่า ภายในสิ้นปีนี้สายการบินจะกลับมาให้บริการบินเส้นทางเข้าออกไทยและจีนได้สูงสุด 140 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งกลับไปเทียบเท่าช่วงก่อนโควิด ตอกย้ำการฟื้นตัวธุรกิจท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ 

ทริสเรทติ้งขยับอันดับเครดิต AP – บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ AP Thailand ที่ระดับ A ด้วยแนวโน้ม Stable จากเดิมที่ระดับ A- ด้วยแนวโน้ม Positive \สะท้อนถึงความเชี่ยวชาญและความเป็นผู้นำในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึง แผนการดำเนินงาน อัตราการเติบโตที่มั่นคงและแข็งแกร่ง และการบริหารจัดการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ 

 

ประเด็นติดตาม: 24 พ.ค. – FOMC meeting Minutes / 25 พ.ค . – US GDP, Initial Jobless Claims, Pending Home Sales / 26 พ.ค. – US Core Durable Goods Orders, Core PCE

(* หมายถึง หุ้นทางกลยุทธ์ ซึ่งอาจมีคำแนะนำต่างกับพื้นฐาน หรือที่ไม่ ได้อยู่ในการวิเคราะห์ของ UOBKH ซึ่งนักลงทุนควรพิจารณาตั้งจุดตัดขาดทุน 3-5% ของราคาที่เข้าซื้อ)