กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ แกว่งตัวในกรอบต่อไป... ปัจจัยต่างประเทศยังคงไม่ชัดเจน

กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ แกว่งตัวในกรอบต่อไป... ปัจจัยต่างประเทศยังคงไม่ชัดเจน

ในสัปดาห์ที่แล้ว (10-12 เมษายน) ตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงพักฐานก่อนเข้าสู่วันหยุดยาว โดยที่มูลค่าการซื้อขายในตลาดต่ำ นักลงทุนเป็นกังวลกับเศรษฐกิจสหรัฐลดลงหลังจากที่อัตราการว่างงานเดือนมีนาคมออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้

ในขณะที่ตัวเลข headline CPI ต่ำกว่าที่คาดเล็กน้อย จากนั้นในช่วงปลายสัปดาห์ที่ตลาดหุ้นไทยปิดสงกรานต์ มีการออกรายงานการประชุม Fed ของเดือนมีนาคมซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาดอื่น ๆ ให้ขึ้นได้อีกครั้ง เพราะมีการระบุว่ากรรมการใน FOMC คาดว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างอ่อน ๆ ในระยะต่อไป

 

สำหรับในสัปดาห์นี้ (17-21 เมษายน) เราคาดว่าดัชนี SET จะยังคงอยู่ในโหมดของการพักฐานต่อไปโดยในแง่บวก แบบจำลอง GDP ของ Fed ล่าสุดพยากรณ์ว่า GDP ใน 1Q66 จะฟื้นตัวได้ดีโดยขยายตัว 2.5% QoQ SAAR ในขณะที่ธนาคารใหญ่ของสหรัฐสองสามแห่ง ซึ่งได้แก่ Citigroup, JP Morgan และ Wells Fargo ประกาศผลประกอบการ 1Q66 ออกมาดีเกินคาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เรามองว่าความกลัวว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยจะยังคงมีอยู่ต่อไปหลังจากที่มีการเผยแพร่รายงานการประชุม FOMC รอบล่าสุดออกมา นอกจากนี้ ในสัปดาห์นี้จีนจะรายงานตัวเลข GDP ปี 1Q66 ออกมาในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กำหนดทิศทางของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกด้วย

 

 

 

ติดตามตัวเลขที่อยู่อาศัยในสหรัฐ, GDP 1Q66 ของจีน และผลประกอบการกลุ่มธนาคารไทย

ปัจจัยภายนอก: นักลงทุนควรจะติดตามตัวเลขที่อยู่อาศัยเดือนมีนาคมของสหรัฐที่จะมีการประกาศออกมาในสัปดาห์นี้ ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลขชุดสุดท้ายก่อนที่จะมีการประกาศตัวเลข GDP 1Q66 เบื้องต้นของสหรัฐออกมา นอกจากนี้ จีนยังมีกำหนดจะประกาศตัวเลข GDP ใน 1Q66 ออกมาในวันที่ 18 เมษายน ซึ่ง consensus คาดว่า GDP ในไตรมาสแรกของจีนจะขยายตัว 3.8% YoY (2.9% YoY ใน 4Q65) ยิ่งไปกว่านั้น ความเห็นของเจ้าหน้าที่ Fed ยังอาจส่งผลกระทบต่อตลาดได้เช่นกัน หลังจากที่ FOMC ออกมาเตือนว่าอาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างอ่อนๆ ขึ้นได้ในปีนี้

ปัจจัยภายใน: ปัจจัยภายในที่สนใจในสัปดาห์นี้น่าจะได้แก่ผลประกอบการ 1Q66 ของกลุ่มธนาคาร ซึ่งตามประมาณการของนักวิเคราะห์กลุ่มธนาคารของเรา กำไรรวมในไตรมาสแรกของกลุ่มธนาคารน่าจะฟื้นตัวขึ้น 34% QoQ และ 6% YoY แต่ในขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ของเรายังคงจับตาพอร์ตการลงทุนของ BBL* อย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดโลกแกว่งตัวแรงในเดือนมีนาคมเนื่องจากระบบธนาคารในสหรัฐและยุโรปประสบปัญหา

 

 

 

ยังคงเน้นหุ้นในธีมการเลือกตั้งซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ได้อานิสงส์อย่างชัดเจนที่สุด ในขณะที่กลุ่มไฟแนนซ์ประเภท non-bank finance จะมีข่าวบวกเรื่อง NPLs กำลังผ่านจุดสูงสุด
 

เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนจึงควรเน้นลงทุนในกลุ่ม domestic plays และหุ้นในธีมการเลือกตั้งต่อไป เพราะเป็นธีมที่จะได้อานิสงส์อย่างชัดเจนมากที่สุดในระยะสั้น ทั้งนี้ ดังที่เราเคยระบุเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ว่าจากสถิติในอดีตช่วงก่อนเลือกตั้ง หุ้นกลุ่มธนาคาร ไฟแนนซ์ อสังหาริมทรัพย์ และนิคมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มจะ outperform ตลาดหุ้นโดยรวมซึ่งหุ้นเด่นในกลุ่มเหล่านี้ของเรายังคงเป็น BBL*, KTB*, SAWAD*, MTC*, AP*, WHA* และเรายังแนะนำให้ซื้อ AMATA* ในเชิง tactic ด้วย ทั้งนี้ ในการประชุมนักวิเคราะห์ของ AEONTS* เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผู้บริหารประเมินว่ามีโอกาสสูงที่ NPLs ของทั้งอุตสาหกรรมจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ซึ่งเรามองว่าอาจจะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นภาวะตลาดในระยะสั้นของหุ้นกลุ่มนี้ได้