Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 10 April 2023

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 10 April 2023

ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง หลังกลุ่มโอเปคปรับลดกำลังการผลิต ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 10 April 2023

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (10 – 14 เม.ย. 66)

ราคาน้ำมันดิบ คาดการณ์ว่าทรงตัวในระดับสูง หลังกลุ่มโอเปคและรัสเซียประกาศลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมกว่า 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน พ.ค. 66 เป็นต้นไป ส่งผลให้เกิดความกังวลเรื่องอุปทานตึงตัว รวมถึงปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลง จากปริมาณความต้องการใช้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และการส่งออกของอิรักที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถบรรลุข้อตกลงในการกลับมาส่งออกน้ำมันดิบผ่านท่อ Kirkuk-Ceyhan ซึ่งมีกำลังขนส่งน้ำมันดิบทั้งสิ้นราว 450,000 บาร์เรลต่อวัน 
 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

-  อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลง หลังกลุ่มโอเปค (OPEC) และรัสเซีย มีมติปรับลดกำลังการผลิตลงเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมีผลตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไปจนทิ้งสิ้นปี นำโดยการปรับลดลงของซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ที่ราวประเทศละ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้ที่มีการปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ โดยรวมทั้งสิ้นกำลังการผลิตจะปรับลดลงกว่า 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนที่ราว 3.7% ของอุปสงค์น้ำมันดิบของโลก

-  สถาบันการเงินหลายแห่งปรับมุมมองคาดการณ์ราคาน้ำมันขึ้น หลังการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปคและรัสเซีย โดย Goldman Sachs ปรับเพิ่มราคาน้ำมันดิบเบรนท์ขึ้นจากเดิมขึ้นราว 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล โดยเพิ่มขึ้นมาเฉลี่ยในเดือน ธ.ค. 66 ที่ 95 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ในเดือน เม.ย. 67

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน จากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง รวมถึงการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง โดย สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. ปรับลดลง 3.7 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ 

 


 

-  การส่งออกน้ำมันของอิรักจากท่อ Kirkuk-Ceyhan มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังรัฐบาลอิรักและเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการกลับมาดำเนินการส่งออกได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าล่าสุดยังไม่ได้มีการกลับมาดำเนินการส่งออกเนื่องจากตุรกีต้องการเจรจาเงื่อนไขเพิ่มเติม หลังก่อนหน้านี้ ตุรกีได้สั่งปิดการส่งออกท่อดังกล่าวไป โดยทั้งนี้ คาดปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้นและกลับมาอยู่ที่ราว 400,000 - 450,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 10 % ของกำลังการผลิตทั้งหมดของอิรัก 

เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการชะลอตัวลงและอาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐฯ และจีนที่ปรับตัวลดลงจากระดับ 47.7 และ 51.6 ในเดือน ก.พ. 66 เหลือ 46.3 และ 50 ตามลำดับในเดือน มี.ค. 66

-  เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคและผู้ผลิตสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 66 ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 66 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ 

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 – 7 เม.ย. 66)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 5.03 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 80.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ที่ปรับเพิ่มขึ้น 5.35 ดอลลาร์สหรัฐฯ  มาอยู่ที่ 85.12 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบดูไบ ปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 84.36 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

หลังกลุ่ม OPEC และรัสเซียปรับลดกำลังการผลิตลงกว่า 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา เพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้ที่เคยปรับลดกำลังการผลิตลงกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ การปรับลดกำลังการผลิตมีผลตั้งแต่เดือน พ.ค. 66 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงกว่า 3.7 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มชะลอตัวลง สะท้อนจากตำแหน่งงานว่างที่เปิดรับและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ปรับลดลง