MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 30 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2566

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 30 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2566

เงินบาทผันผวน ขณะที่หุ้นไทยขยับขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน    

•    เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบผันผวนทั้งในช่วงก่อน-หลังการประชุมเฟด ก่อนจะอ่อนค่าลงตามแรงขายหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติ และแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนรายงานตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ปลายสัปดาห์

•    SET Index เคลื่อนไหวผันผวนก่อนจะกลับมาปิดบวกได้ในช่วงปลายสัปดาห์ตามแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีก่อนการรายงานผลประกอบการไตรมาส 4/65
 

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทปรับตัวผันผวน และอ่อนค่าลงช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงแรกตามภาพรวมสกุลเงินเอเชีย นำโดย เงินหยวน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากความหวังเกี่ยวกับข่าวมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของทางการจีน อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกอ่อนค่าในช่วงต่อมาท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนการประชุมเฟด  ก่อนจะแข็งค่ากลับมาอีกครั้ง หลังผลการประชุมเฟดล่าสุด กระตุ้นให้ตลาดคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่มีทิศทางชะลอลงอาจทำให้แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดกำลังใกล้ที่จะสิ้นสุดลงในอีกไม่กี่รอบการประชุมข้างหน้า

อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่ากลับมาในช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ หลังการประชุม ECB และ BOE มีสัญญาณแข็งกร้าวน้อยกว่าที่ตลาดคาด นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน 
 

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 30 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2566

ในวันศุกร์ที่ 3 ก.พ. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 32.97 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 32.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (27 ม.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 30 ม.ค.-3 ก.พ. นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 8,994 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 41,586 ล้านบาท (ขายสุทธิ 32,243 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 9,343 ล้านบาท)
 

สัปดาห์ถัดไป (6-10 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.70-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคเดือนก.พ. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนม.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน

 

 

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีตลาดหุ้นไทยกลับมาปิดบวกได้ช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้ หุ้นไทยร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์ โดยเผชิญแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติเพื่อลดสถานะเสี่ยงระหว่างรอผลการประชุมเฟด โดยหุ้นกลุ่มที่ถูกเทขายหลักๆ ได้แก่ กลุ่มแบงก์และพลังงานซึ่งมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลง อย่างไรก็ดีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงกลางสัปดาห์ ท่ามกลางความคาดหวังว่าเฟดจะชะลอขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ย ก่อนจะย่อตัวลงเล็กน้อยหลังตอบรับประเด็นบวกดังกล่าวไปแล้ว และผลประชุมเฟดออกมาตามคาด หุ้นไทยขยับขึ้นอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก่อนการรายงานผลประกอบการ รวมถึงมีประเด็นเฉพาะจากการปรับลดหน่วยการซื้อหุ้นขั้นต่ำของหุ้นบางบริษัท

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 30 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2566

ในวันศุกร์ (3 ก.พ.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,688.36 จุด เพิ่มขึ้น 0.42% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 64,393.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.33% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.77% มาปิดที่ระดับ 613.24 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (6-10 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,670 และ 1,650 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,700 และ 1,720 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนม.ค. ของไทย ผลประกอบการงวดไตรมาส 4/65 ของบจ. ไทย รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลนำเข้าและส่งออกเดือนธ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนก.พ. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือนธ.ค. ของยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนม.ค. ของญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนม.ค. ของจีน