SGC ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า และจำนำทะเบียนรถ

SGC ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า และจำนำทะเบียนรถ

บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC เป็นบริษัทในกลุ่ม บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่มิใช่สถาบันการเงินโดยให้บริการ

1) สินเชื่อเช่าซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และเครื่องจักร 2) สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์แบบโอนกรรมสิทธิ์เล่มทะเบียน และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 3) สินเชื่อสวัสดิการพนักงาน 4) สินเชื่อผ่อนทอง และ 5) สินเชื่ออื่นๆ การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้เพื่อใช้ในการขยายธุรกิจการให้บริการสินเชื่อ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และชำระคืนเงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าเหมาะสมปี 2566 ที่ 6.00 บาทต่อหุ้น

 

ประเด็นสำคัญในการลงทุน

•    SGC ให้บริการสินเชื่อที่มิใช่สถาบันการเงิน : บริษัทดำเนิน 4 ธุรกิจ 1) สินเชื่อเช่าซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่อใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และเครื่องจักร 2) สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์แบบโอนกรรมสิทธิ์เล่มทะเบียน และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 3) สินเชื่อสวัสดิการพนักงาน 4) สินเชื่อผ่อนทอง และ 5) สินเชื่ออื่นๆโดยมีสัดส่วนรายได้ปี 64 ที่ 59.3% 37.0% 1.1% และ 0.1% ตามลำดับ (รายได้อื่นอีก 2.5%) ทั้งนี้บริษัทมีรายได้และกำไรสุทธิปี 2562-2564  อยู่ที่ 891-1782 ลบ. และ 119-593 ลบ. ตามลำดับ โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย CAGR ตลอด 3 ปีที่ 41.4% และ 123% ต่อปีตามลำดับ ตามการขยายพอร์ตสินเชื่อต่อเนื่อง
 

 

•    อุตสาหกรรมสินเชื่อเช่าซื้อเติบโตสอดคล้องกับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ : อุตสาหกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ในปี 2563 หดตัว เป็นผลจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ทำให้ห่วงโซ่การผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์สะดุดลง รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศและตลาดส่งออกซบเซา ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก จำนวนรถจดทะเบียนสะสมในประเทศ เท่ากับ 42.2 ล้านคัน ณ สิ้น ปี 2564 มียอดจดทะเบียนรถใหม่ 2.68 ล้านคัน และตั้งแต่ ม.ค.-ส.ค. 2565 มียอดจดทะเบียนรถใหม่ 2.07 ล้านคัน ฝ่ายวิจัยคาดว่าปี 2566 ยอดการผลิตรถยนต์และยอดจดทะเบียนรถใหม่จะกลับมาสู่ระดับ 3.0 ล้านคันซึ่งเป็นระดับก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากการรับนักท่องเที่ยวและประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติหลังจากได้รับผลกระทบจาก COVID-19

•    อุตสาหกรรมสินเชื่อส่วนบุคคลเติบโตต่อเนื่อง : จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย มูลค่าสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 354.2 พันล้านบาท หรือ 12.7 ล้านบัญชี ในปี 2560 เป็น 707.1 พันล้านบาท หรือ 18.6 ล้านบัญชี ในปี 2564 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ร้อยละ 18.9 ต่อปี และร้อยละ 10.0 ต่อปี ตามลำดับ โดยในช่วงปี 2560 – 2564 ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน คิดเป็นร้อยละ 56.1 – 61.2 ของมูลค่าสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับทั้งหมด หรือร้อยละ 77.8 – 81.3 ของจำนวนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับทั้งหมด ฝ่ายวิจัยคาดว่าทิศทางการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงอยู่เนื่องจากการขยายสาขาของบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินได้กระจายครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนลดการใช้สินเชื่อนอกระบบและหันมาใช้สินเชื่อจากบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเพิ่มขึ้น

•    คาดการณ์กำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ปี 2564-2566 ที่ 36%ต่อปีหลังเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ : คาดรายได้จากดอกเบี้ยปี 2565 อยู่ที่ 2,159 ลบ. เติบโต 24%YoY โดยคาดว่าจะมี Loan growth ราว 30% สู่ 1.41 หมื่นลบ. ได้แรงหนุนจาก 1) การเพิ่มจำนวนพนักงานขายจากปัจจุบันที่ 274 คนเป็น 344 คน เพิ่มขึ้น 26% เพื่อขยายฐานลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ  2) ปลดล็อกวงเงินในการปล่อยสินเชื่อหลังเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทำให้ D/E Ratio ลดลงจาก 3.7 เท่า เหลือ 1.3-1.7 เท่า และ 3) เพิ่มพันธมิตรใหม่ต่อเนื่องเพื่อขยายสินเชื่อสวัสดิการพนักงาน ด้านอัตราค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเทียบกับรายได้รวมลดลงจาก 28.8% สู่ 27.5% เพราะรายได้จากดอกเบี้ยเติบโตตามการขยายสินเชื่อ แต่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรซึ่งบางส่วนเป็นต้นทุนคงที่ เมื่อพิจารณาเป็นตัวเงินเพิ่มขึ้นจาก 500 ลบ.สู่ 594 ลบ. ขณะที่อัตราส่วนหนี้สงสัยจะสูญและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อลูกหนี้เช่าซื้อ (ECL/Total Loan) จะทรงตัวที่ระดับ 2.7% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและประชาชนยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เมื่อพิจารณาเป็นตัวเงินเพิ่มขึ้นจาก 203 ลบ.สู่ 333 ลบ. ทั้งนี้เราคาดการณ์กำไรปี 2565 อยู่ที่ 682 ลบ. เติบโต 15 %YoY และคาดการณ์รายได้และกำไรปี 2566 ที่ 2,650 ลบ.(สมมติฐาน Loan Growth 23% สู่ 1.73 หมื่นลบ.) และ 860 ลบ. เติบโต 23% และ 36% ตามลำดับ

•    การประเมินมูลค่าหุ้น : ฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าด้วยวิธี Prospective P/E Ratio โดยอ้างอิง P/E Ratio ที่ 23 เท่าซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีของบริษัท HENG MICRO MTC SAWAD THANI TIDLOR และ TSR ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยมีรายละเอียดตามตารางด้านล่าง  และคาดกำไรต่อหุ้น (EPS) สำหรับปี 2566 ที่ 0.26 บาทต่อหุ้นได้ราคาเหมาะสมที่ 6.00 บาทต่อหุ้นสำหรับปี 2566

 

ปัจจัยเสี่ยง

i)    ความเสี่ยงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทปรับตัวขึ้น 
ii)    เศรษฐกิจถดถอยส่งผลให้การเก็บเงินจากลูกหนี้ลดลง และมีความเสี่ยงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น 
iii)    ความเสี่ยงในการขายหลักประกันอาจต่ำกว่ามูลค่าหนี้สิน