เงินไหลออกตลาดตราสารหนี้ 8.3 ล้านล้าน! แรลลี่ปลายปี '66 หายวับไปกับตา

เงินไหลออกตลาดตราสารหนี้ 8.3 ล้านล้าน! แรลลี่ปลายปี '66 หายวับไปกับตา

สัปดาห์แรกของปี 2567 มีเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้แล้ว 2.4 แสนล้านดอลลาร์ กลบช่วงขาขึ้นปลายปี 2566 ไปทั้งหมด ปัจจัยลบ 'ท่าทีเฟด-ค่าสเปรดพุ่ง-อุปทานหุ้นกู้ล้นตลาด'

Key Points

  • เพียงสัปดาห์แรกของปี 2567 มีเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้แล้ว 2.4 แสนล้านดอลลาร์
  • ภาวะดังกล่าวถือเป็นปีใหม่ที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี และกลบช่วงขาขึ้นปลายปี 2566 ไปทั้งหมด
  • อุปทานตราสารหนี้ใหม่ๆ ที่ออกมาในเดือน ม.ค. ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยลบต่อตลาด
  • นักค้าตั้งความหวังที่การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกในปีนี้ 

 

บลูมเบิร์กรายงานว่าในช่วงสัปดาห์แรกของปีใหม่ 2567 นี้ มีเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ทั้งเกรดการลงทุนและจังก์บอนด์รวมกันมากถึง 2.4 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 8.3 ล้านล้านบาท) แล้ว ทำให้มูลค่าตลาดเหลือเพียง 13.6 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 470 ล้านล้านบาท)

ขณะที่ค่าสเปรด CDS ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยงกลับมาไต่ระดับขึ้นอีกครั้งจนไปแตะระดับเดียวกับช่วงแรกของเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา และยังมีขึ้นก่อนที่ภาคเอกชนจะทยอยกันออกหุ้นกู้ในเดือน ม.ค. นี้ ซึ่งเป็นเดือนที่บริษัทมักจะเริ่มการกู้ยืมกันตั้งแต่ต้นปี 

ภาวะดังกล่าวถือเป็นการเทขายช่วงปีใหม่ที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปีของตลาดตราสารหนี้โลก และแทบจะกลายเป็นหนังคนละม้วนจากช่วงปลายปี 2566 ที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ว่า ตราสารหนี้จะเป็นพระเอกของการลงทุนในปี 2567 เพราะเชื่อว่าธนาคารกลางต่างๆ จะลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ หรือตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี 

เงินไหลออกตลาดตราสารหนี้ 8.3 ล้านล้าน! แรลลี่ปลายปี \'66 หายวับไปกับตา

ทว่าปัจจุบันสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปหลังจากที่มีการเปิดเผยผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) ซึ่งบ่งชี้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังไม่มีท่าทีว่าจะลดดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ โดยต้องการรอความชัดเจนมากขึ้นกว่านี้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลงมาอยู่ในระดับต่ำจริง นอกจากนี้ก็ยังมีตัวแปรเรื่องสงครามในตะวันออกกลางที่ยังไม่จบ ซึ่งอาจกระตุ้นราคาน้ำมันและส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อได้อีก  

ทั้งนี้  ส่วนต่างของผลตอบแทนระหว่างหุ้นกู้เอกชนกับพันธบัตรรัฐบาลเมื่อวันที่ 4 ม.ค. ยังพุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งป็นช่วงที่เกิดวิกฤตธนาคารซิลิคอน วัลลีย์ แบงก์ (SVB) ล้มละลาย สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดตราสารหนี้ปัจจุบัน

บลูมเบิร์กระบุว่าเพียงแค่ 2 วันทำการแรกของปีนี้ การขาดทุนในตราสารหนี้เกรดการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 1% แล้ว ทั้งจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับตัวสูงขึ้นและจากสเปรดที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 

ขณะเดียวกัน แรงกดดันในตลาดยังเป็นเพราะอุปทานตราสารหนี้ของภาคเอกชนที่เริ่มระดมทุนกันตั้งแต่ต้นปีในเดือน ม.ค. โดยในสหรัฐมีการออกหุ้นกู้เอกชนที่ไม่ใช่ภาคสถาบันการเงินออกมาแล้ว 2.29 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายใน 2 วันทำการแรกของปีนี้ ขณะที่ฝั่งยุโรปมีการออกหุ้นกู้ประเภทเดียวกัน 5.4 พันล้านดอลลาร์   

"ช่วง 2-3 สัปดาห์แรกนี้น่าจะผันผวนมาก เพราะบรรดาธนาคารกลางกำลังเล่นไม้แข็ง แต่หากเกิดการเปลี่ยนแปลง ตลาดก็จะกลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้ง" ชนาวาซ พิมจี หัวหน้าฝ่ายวิจัยตราสารหนี้ภาคเอกชนของธนาคารเอบีเอ็มอัมโร กล่าว 

สำหรับทิศทางการลงทุนในปีนี้ บรรดานักวิเคราะห์และผู้จัดการสินทรัพย์ของธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งให้น้ำหนักที่หุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับเครดิตสูง เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซา ขณะที่ผลตอบแทนของหุ้นกู้ก็ยังสูงพอที่จะสามารถดึงดูดนักลงทุนได้ 

 

ที่มา: Bloomberg