อย่าหวังพึ่งพา 'ประกันสังคม' อย่างเดียว ต้องวางแผน 'เกษียณ' วิธีอื่นด้วย

อย่าหวังพึ่งพา 'ประกันสังคม' อย่างเดียว ต้องวางแผน 'เกษียณ' วิธีอื่นด้วย

อย่าฝากความหวังเรื่องเงินเกษียณไว้กับ "ประกันสังคม" เพียงอย่างเดียว 100% เพราะอนาคตไม่แน่นอน วัยทำงานต้อง "วางแผนการเงิน" เพื่อให้มีเงินใช้หลัง "เกษียณอายุ" ในรูปแบบอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย!

Key points:

  • นักวิชาการประเมินว่า "กองทุนประกันสังคม" กำลังจะขาดสภาพคล่อง และมีความเสี่ยงล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า ด้วยเหตุโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่ "สังคมสูงวัย"
  • สาเหตุหลักมาจากประเทศไทยมีอัตราการเกิดน้อยลง คนวัยทำงานก็น้อยลงตามไปด้วย ประกอบกับวัยทำงานจำนวนมากเลือกทำอาชีพอิสระ ไม่ได้เข้าระบบประกันสังคมทุกคน ทำให้กองทุนประกันสังคมมีรายได้จากเงินสมทบน้อยลง
  • ดังนั้นวัยทำงานไม่ควรหวังพึ่งเงินเกษียณจาก "กองทุนประกันสังคม" เพียงอย่างเดียว 100% แต่ควรวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุในรูปแบบอื่นๆ ด้วย

ในช่วงเกือบสัปดาห์ที่ผ่านมา ลูกจ้างแรงงานเป็นกังวลกันไม่น้อย หลังมีกระแสข่าวว่า "กองทุนประกันสังคม" เริ่มมีความไม่มั่นคงทางการเงิน และอาจเสี่ยงล้มละลาย โดยมีนักวิชาการหลายภาคส่วนศึกษาพบว่า กองทุนประกันสังคมกำลังจะขาดสภาพคล่อง และมีโอกาสที่จะล้มละลายในอีก 30 ปี ข้างหน้า ด้วยเหตุโครงสร้างประชากร

ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวเกิดจากสัดส่วนการจ่ายเงินบำนาญชราภาพนั้น มีการ "จ่ายออก" มากกว่าการ "เก็บเงินสมทบเข้า" ในกองทุนฯ เนื่องจากสัดส่วนผู้สูงอายุในไทยเพิ่มขึ้น (เข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย) ทำให้เงินบำนาญชราภาพกลายเป็นค่าใช้จ่ายระยะยาวก้อนโตที่สุดของกองทุนฯ เพราะจะต้องจ่ายเงินให้ผู้ประกันตน ตั้งแต่อายุ 55 ปี ไปจนกว่าจะเสียชีวิต 

อย่าหวังพึ่งพา \'ประกันสังคม\' อย่างเดียว ต้องวางแผน \'เกษียณ\' วิธีอื่นด้วย

อีกทั้งประเทศไทยมีอัตราการเกิดน้อยลง ทำให้มีคนวัยทำงานน้อยลงตามไปด้วย ประกอบกับวัยทำงานจำนวนมากเลือกทำอาชีพอิสระ จึงไม่ได้เข้าระบบประกันสังคมทุกคน (ไม่ได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ) รวมถึงรัฐบาลค้างจ่ายเงินเข้ากองทุนอีกกว่า 7 หมื่นล้านบาท และอีกบางส่วนพบว่า นายจ้างหักเงินลูกจ้างแต่ไม่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนอีกด้วย จากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้นี่เอง ที่ส่งผลให้กองทุนประกันสังคมมีรายได้จากเงินสมทบน้อยลงไปเรื่อยๆ 

  • ปัญหาเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมมีมานานแล้ว และภาครัฐพยายามแก้ไขมาตลอด

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า ปัญหาเสถียรภาพความมั่นคงในระยะยาวของกองทุนประกันสังคม ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทางคณะกรรมการกองทุนรับทราบเป็นอย่างดี และที่ผ่านมาเคยมีความพยายามในการแก้ปัญหากันมาแล้ว แต่จะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เป็นการแก้ที่ต้นตอของปัญหา

“จากที่เคยเป็นคณะอนุกรรมการกำหนดอัตราบำเหน็จบำนาญ ทำให้ได้เห็นถึงวิธีคิด และวิธีทำงานของ "กองทุนประกันสังคม" ที่มีความพยายามแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเน้นไปที่การลงทุนเพิ่มให้มากขึ้น เพื่อหวังได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยก็เคยได้คำนวณออกมาแล้วว่า แม้กองทุนประกันสังคมจะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้  

เนื่องจากสาเหตุหลักที่ทำให้กองทุนฯ ติดลบในอนาคต เกิดจากโครงสร้างประชากรที่คนเราจะมีอายุยืนยาวมากขึ้น ทางกองทุนจึงต้องจ่ายเงินบำนาญให้กับแรงงานจำนวนมาก ซึ่งมีส่วนต่างมากกว่าอัตราการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ประกอบกับกฎหมายกำหนดให้กองทุนฯ นำเงินไปลงทุนได้เฉพาะในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง (สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ) เท่านั้น จึงทำให้กองทุนฯ ได้ผลตอบแทนที่ไม่สูงมากนัก ต่อให้มีนักลงทุนที่เก่ง และเชี่ยวชาญจำนวนมาก แต่ก็จะไม่สามารถทำกำไรได้ถึง 10% อย่างแน่นอน

สมมติฐานของทีดีอาร์ไอพบว่า หากคณะกรรมการกองทุนฯ ยังคงปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ ในอีก 25 ปีข้างหน้า จะเริ่มเห็นเงินในกองทุนลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นอีก 5 ปี กองทุนก็จะติดลบ และล้มลงในที่สุด เชื่อว่าอีก 30 ปี กองทุนประกันสังคมจะขาดสภาพคล่อง ซึ่งในอนาคตหลังจากนี้ หากฝ่ายการเมืองเห็นว่าเงินในกองทุนประกันสังคมลดลงอย่างรวดเร็ว ก็มีความเป็นไปได้มากที่จะมีการปล่อยสำนักงานประกันสังคมออกเป็นอิสระ” ดร.วรวรรณ กล่าว

อย่าหวังพึ่งพา \'ประกันสังคม\' อย่างเดียว ต้องวางแผน \'เกษียณ\' วิธีอื่นด้วย

 

  • กระทรวงแรงงาน ยืนยัน "กองทุนประกันสังคม" ยังคงมีเสถียรภาพมั่นคง

ล่าสุด..โฆษกกระทรวงแรงงาน ออกมาชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวแล้ว โดยระบุว่า ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมยังคงมีเสถียรภาพมั่นคง เนื่องจากมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในระยะยาว ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีเงินลงทุนสะสมอยู่ที่ 2,345,347 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 3.24% เมื่อเทียบกับข้อมูลปี 2565 

จากการประมาณการสถานะกองทุนประกันสังคม ในปี 2570 คาดว่า จะมีเงินลงทุนสะสมคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งทางกระทรวงแรงงานยืนยันด้วยว่า "กองทุนประกันสังคม" เป็นกองทุนที่มีเสถียรภาพ มั่นคง สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่องและเพียงพอ ดังนั้น ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจได้ว่า ในอนาคตกองทุนไม่มีทางล้มละลาย และจะสามารถจ่ายสิทธิประโยชน์ในระยะยาวให้กับผู้ประกันตนในทุกกรณีได้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ณ เวลานี้จะยังไม่มีปัญหาอะไรมากระทบกับเสถียรภาพทางการเงินของกองทุนประกันสังคมก็จริง แต่ในอนาคตอีก 25-30 ปีข้างหน้า ก็ไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่า รัฐจะชำระเงินที่ค้างจ่ายเข้ากองทุนฯ ได้ครบถ้วน (ในอนาคตจะมีการค้างจ่ายอีกหรือไม่?) รวมถึงผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนฯ ที่ค่อนข้างต่ำต่อปี จะเพียงพอต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้ทุกคนได้ครบถ้วนจริงหรือไม่? นี่ยังไม่นับ "อัตราเงินเฟ้อ" ในอนาคตด้วย ฯลฯ ความไม่แน่นอนเหล่านี้นี่เองคือ ความเสี่ยงหลังวัยเกษียณที่ลูกจ้างทุกคนจ้องเจอ

ดังนั้น ลูกจ้างจึงไม่อาจคาดหวังได้ 100% ว่าจะได้รับเงินก้อนนี้ไว้ใช้หลังเกษียณอย่างครบถ้วน เพราะหากในอนาคตทางกองทุนประกันสังคมไม่สามารถหารายได้เพิ่มเติมให้สมดุลกับรายจ่าย ก็มีโอกาสสูงที่จะล้มละลาย ทางที่ดีลูกจ้างจึงควรวางแผนเกษียณวิธีอื่นๆ ไว้ด้วย อย่าหวังพึ่งพาเฉพาะเงินชราภาพจากกองทุนประกันสังคมเพียงอย่างเดียว

อย่าหวังพึ่งพา \'ประกันสังคม\' อย่างเดียว ต้องวางแผน \'เกษียณ\' วิธีอื่นด้วย

 

  • เปิดวิธีวางแผนการเงินหลังเกษียณรูปแบบอื่นๆ ที่วัยทำงานทำได้

สำหรับวิธีวางแผนเกษียณในรูปแบบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการหักเงินเข้าประกันสังคมนั้น ลูกจ้างสามารถสะสมเงินได้อีกหลายช่องทาง ได้แก่

1. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เป็นกองทุนที่ลูกจ้าง และนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นโดยความสมัครใจ ประกอบด้วยเงินที่ลูกจ้างจ่ายเงินสะสม และนายจ้างจ่ายเงินสมทบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้าง เมื่อยามลูกจ้างเกษียณหรือออกจากงาน ดังนั้น การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงจัดได้ว่าเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งที่นายจ้างมีให้แก่ลูกจ้าง (บางบริษัทมีให้ บางบริษัทไม่มี) เพื่อเป็นแรงจูงใจแก่ลูกจ้างให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ทำงานกับนายจ้างนานยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังถือเป็นการออมที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในยามชราภาพของลูกจ้างอีกด้วย

2. กองทุน RMF 
เป็นการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งเงินเกษียณสำคัญของวัยทำงานเลยก็ว่าได้ เพราะกองทุนรวม RMF นั้นจะต้อง ลงทุนอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องลงทุนไปจนถึงอายุ 55 ปี ทำให้มีวินัยในการลงทุน และข้อดีอีกอย่างของ RMF ก็คือ วัยทำงานสามารถสลับสับเปลี่ยนการลงทุนจากความเสี่ยงสูงไปยังความเสี่ยงต่ำได้ ระหว่างหน่วยลงทุนของกองทุนรวม RMF ซึ่งมีหลากหลายประเภทให้เลือกได้ตามต้องการ 

3. ทำประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity)
คือ ประกันชีวิตที่เน้นการออมเงินคล้ายประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ โดยผู้เอาประกันต้องชำระเงินค่าเบี้ยประกันเป็นระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ทำไว้ แต่รูปแบบการคืนเงิน จะไม่มีการคืนเงินระหว่างทาง ผู้ถือกรมธรรม์ต้องออมเงินอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุเกษียณ (เช่น 55, 60 หรือ 65 ปี แล้วแต่แบบ) และจะได้รับเงินคืนในรูปแบบของเงินบำนาญ จนถึงอายุ 85 หรือ 90 ปี (แล้วแต่แบบ)

โดยข้อดีของประกันบำนาญก็คือ เป็นการออมเงินที่การันตีว่าจะได้รับเงินส่วนหนึ่งสำหรับการเกษียณอายุอย่างแน่นอน แถมยังได้ความคุ้มครองชีวิต กรณีที่ผู้เอาประกันจากไปก่อนวัยอันควร อีกทั้งเบี้ยประกันบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่กฎหมายกำหนด

อย่าหวังพึ่งพา \'ประกันสังคม\' อย่างเดียว ต้องวางแผน \'เกษียณ\' วิธีอื่นด้วย

4. ลงทุนในความเสี่ยงต่ำหรือปานกลาง
สำหรับผู้ที่มีความชำนาญในการลงทุน และยอมรับความเสี่ยงได้ ​​อาจแบ่งเงินบางส่วน (สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินออม และเงินลงทุนทั้งหมด) ไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือสินทรัพย์ที่เปิดโอกาสรับผลตอบแทนสูงขึ้น แต่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เช่น หุ้น และทองคำ เป็นต้น หรืออาจนำไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง เช่น สลากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ หุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับสูง

5. หมั่นเก็บออมให้มากขึ้น และมีวินัยเก็บออมอย่างสม่ำเสมอ
ควรแบ่งรายได้มาเก็บออมก่อนใช้จ่ายเสมอตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน โดยออมเงินสำหรับการเกษียณให้ได้อย่างน้อย 10% ของรายได้ หากรายได้เพิ่มขึ้นก็ควรออมเพิ่มขึ้น และไม่ควรนำเงินออมก้อนนั้นออกมาใช้จนกว่าจะเกษียณ อีกทั้งควรคงเงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้ประมาณ 2 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพื่อให้มีสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเผื่อไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน

--------------------------------------

อ้างอิง : ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, Bangkokbank, SCB 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์