สบน.เร่งชำระหนี้เงินกู้โควิดเหลือยอดคงค้าง 1.35 ล้านล้านบาท

สบน.เร่งชำระหนี้เงินกู้โควิดเหลือยอดคงค้าง 1.35 ล้านล้านบาท

สบน.เร่งชำระคืนหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้โควิด 1.5 ล้านล้านบาท โดยยอดคืนหนี้เกือบ 1 แสนล้านบาท เหลือยอดหนี้รวม 1.35 ล้านล้านบาท ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว 18 ครั้ง วงเงิน 3.59 แสนล้านบาท เพื่อปิดความเสี่ยงในด้านต่างๆ ต้นทุนล่าสุดอยู่ที่กว่า 2.6%

นายแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เปิดเผยแผนบริหารจัดการหนี้เงินกู้โควิดจำนวน 1.5 ล้านล้านบาทว่า การกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19 ทั้ง 2 ฉบับ วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท มีการกู้จริงประมาณ 1.46 ล้านล้านบาท โดย ณ วันที่ 30 เม.ย.2566 มีการชำระคืนแล้วประมาณ 9.4 หมื่นล้านบาท คงเหลือหนี้คงค้างประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ แบ่งเป็นการชำระหนี้ในปีงบประมาณ 2563 จำนวนประมาณ 3 พันล้านบาท ในปีงบประมาณ 2564 ชำระหนี้ประมาณ 1.4 พันล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 ชำระหนี้ประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท และในปีงบประมาณ 2566 ชำระหนี้ประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน หนี้ดังกล่าว ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 18 ครั้ง รวมวงเงินประมาณ 3.59 แสนล้านบาท โดยการปรับโครงสร้างหนี้นั้น ส่วนใหญ่เป็นการแปลงจากเงินกู้ (Term Loan) และตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) เป็นหนี้ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยคงที่ ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาล (LB) 5.45 หมื่นล้านบาท พันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน (ESGLB) 2.57 แสนล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งเป็น PN ระยะสั้น 4.78 หมื่นล้านบาท

สำหรับต้นทุนในการปรับโครงสร้างหนี้เป็นไปตามสภาวะตลาด โดยอัตราผลตอบแทนจากการประมูล ESGLB376A อายุ 14.2 ปี ครั้งล่าสุดอยู่ที่ 2.6352% ต่อปี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คงเหลือวงเงินที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้อีกจำนวน 5 พันล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่าย และหนี้สิน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 2/2566 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภายนอก ประกอบด้วย สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการรายงานต้นทุน และความเสี่ยงหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมี.ค.2566 ประกอบด้วย ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอยู่ในระดับต่ำมาก ขณะที่ มีสัดส่วนของหนี้ที่ยังไม่ได้ปิดความเสี่ยง 0.53% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด

ส่วนความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ โดยหนี้สาธารณะคงค้าง 85.13% เป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ โดยมีต้นทุนการกู้ยืมเงินเฉลี่ย 2.52%ต่อปี และมีความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้ต่ำ โดยมีอายุคงเหลือเฉลี่ยจนกว่าจะครบกำหนด (Average Time to Maturity) จำนวน 8 ปี 9 เดือน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาคงกลยุทธ์การกู้เงิน โดยเน้นการกระจายเครื่องมือการกู้เงิน และยืดอายุเครื่องมือในการระดมทุน พร้อมทั้งได้คงกรอบกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง (Medium-Term Debt Management Strategy : MTDS) สำหรับปีงบประมาณ 2566 - 2570 ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การกู้เงิน รวมถึงมอบหมายให้ สบน. ติดตาม และทบทวนการคาดการณ์ Yield Curve Shape สภาพคล่อง/ตลาดการเงินในประเทศ และต่างประเทศอย่างใกล้ชิด

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์