จับตาปัญหา 'เพดานหนี้' ส่อสะเทือนสหรัฐ เขย่าศก.โลก ดอลลาร์อาจเสื่อมพลัง

จับตาปัญหา 'เพดานหนี้' ส่อสะเทือนสหรัฐ เขย่าศก.โลก ดอลลาร์อาจเสื่อมพลัง

 สหรัฐเผชิญความไม่แน่นอนมากมาย หนึ่งในนั้นคือวิกฤติเพดานหนี้สาธารณะ ด้าน “เจเน็ต เยลเลน” ประเมิน เศรษฐกิจสหรัฐส่อล้ม หากไม่ขยายเพดานหนี้ให้ทัน 1 มิ.ย.  กูรูชี้จากสถิติสหรัฐยังไม่เคยผิดนัดชำระหนี้

Key Points

  • สหรัฐเผชิญวิกฤติเพดานหนี้สาธารณะที่ใกล้แตะจุดสูงสุด
  • เควิน แมคคาร์ธี  เสนอดันเพดานหนี้ขึ้นอีกประมาณ​ 49.5 ล้านล้านบาทและลดการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางลง 3 เท่า 
  • พรรคเดโมแครตอาจไม่สนับสนุนร่างดังกล่าวเพราะตัดงบในนโยบายที่ใช้หาเสียง
  • นักวิเคราะห์ประเมินจากสถิติสหรัฐยังไม่เคยผิดนัดชำระหนี้

ตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา สหรัฐเผชิญกับ “ความไม่แน่นอน” ทางเศรษฐกิจมากมาย เริ่มมาตั้งแต่ ความไม่แน่นอนเรื่องราคาสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นผลมาจากความผันผวนของราคาน้ำมันจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความไม่แน่นอนในภาคธนาคารพาณิชย์จากการล่มสลายของธนาคารซิลลิคอน วัลเลย์ รวมทั้งความไม่แน่นอนจากสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นจากนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) 

แต่เหนือสิ่งอื่นใด อีกหนึ่งความไม่แน่นอนที่ประชาชนทั่วไปและบรรดานักลงทุนต่างจับตามากที่สุดในตอนนี้ คือความไม่แน่นอนจากประเด็นเรื่อง “เพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐ” 

โดยหากย้อนกลับไปในวันที่ 14 ม.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันแรกๆ ที่เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ออกมาเตือนว่า เพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐใกล้แตะระดับสูงสุดแล้ว และหากไม่รีบขยายเพดานหนี้ฯ สหรัฐจะต้องเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่จากรัฐบาล และหน่วยงานทางการเงินระดับโลกก็จะลดระดับความน่าเชื่อถือของประเทศลง

ต่อมาในวันที่ 19 เม.ย. 2566 เควิน แมคคาร์ธี (Kevin McCarthy) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ จากพรรครีพับลิกัน เปิดเผยแผนขยายเพดานหนี้โดยเสนอปรับเพิ่มเพดานหนี้ขึ้น 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ​ 49.5 ล้านล้านบาท) และลดการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางลง 3 เท่า 

ทั้งนี้ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ (สภาล่าง) ซึ่งปัจจุบันพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ที่ 222 ต่อ 213 เสียง ผ่านแผนการขยายเพดานหนี้ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว 

ทว่า นักวิเคราะห์จำนวนมากต่างประเมินว่า อาจมีความติดขัดในขั้นตอนที่โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐ ต้องลงนามรับรองผ่านกฎหมายดังกล่าว เพราะร่างกฎหมายของแมคคาร์ธีมุ่งตัดงบประมาณในโครงการที่พรรคเดโมแครตใช้หาเสียง

ยกตัวอย่างเช่น

  • นโยบายจูงใจด้านพลังงานสีเขียว (Green-energy Incentives)
  • นโยบายปลดหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษามูลค่า 4 แสนล้านดอลลาร์ (13.2 ล้านล้านบาท)
  • นโยบายช่วยเหลือทางการเงินในช่วงโควิด-19
  • นโยบายด้านงบประมาณล่าสุดที่จะใช้ในหน่วยงานจัดเก็บภาษีอากรของสหรัฐ (The Internal Revenue Service) 

ทั้งหมดคล้ายกับว่า ในมุมหนึ่ง ไบเดน ก็ต้องรีบผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้สาธารณะเพื่อช่วยให้ประเทศไม่เผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงเม็ดเงินที่ใช้เพื่อดำเนินนโยบายตามที่พรรคเดโมแครตหาเสียงไว้เมื่อการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินว่า ประเด็นเรื่องการขยายเพดานหนี้มักเป็นหนึ่งในประเด็นถกเถียงกันในรัฐสภาสหรัฐ ระหว่างพรรคเดโมแครตกับรีพับลิกันในฐานะ “เครื่องมือทางการเมือง” อยู่แล้ว และไม่ว่าจะถกเถียงกันอย่างดุเดือดเพียงใด แต่ทุกครั้งก็จบลงที่การอนุมัติขยายเพดานหนี้อยู่ดี เนื่องจากทุกภาคส่วนไม่ต้องการให้สหรัฐสูญเสียความน่าเชื่อถือทางการจากการผิดนักชำระหนี้จากรัฐบาล

ด้านบทวิเคราะห์ “What is the US debt ceiling and what will happen if it is not raised?” จากสำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) ของอังกฤษ เน้นย้ำสมมุติฐานข้างต้นว่า แม้จะมีข่าวออกมามากมายว่าสหรัฐอาจผิดนัดชำระหนี้หากไม่รีบขยายเพดานหนี้ให้ทันวันที่ 1 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ ทว่าจากสถิติที่ผ่านมาในอดีตเหตุการณ์เหล่านั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง ดังนั้นก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าหากสหรัฐผิดนัดชำระหนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น 

ทั้งนี้ อาจประเมินความเสียหายส่วนหนึ่งได้จากถ้อยแถลงของ เยลเลน ในจดหมาย “Secretary of the Treasury Janet L. Yellen Sends Letter to Congressional Leadership on the Debt Limit” ที่กล่าวต่อสื่อมวลชน ฉบับวันที่ 13 ม.ค. 2566 ซึ่งมีใจความบางส่วนว่า

“การผิดนัดชำระหนี้จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ชีวิตคนอเมริกัน และเสถียรภาพการเงินของโลกอย่างไม่สามารถกลับมาแก้ไขได้ เพราะนักลงทุนจะสูญเสียความเชื่อมั่นในการลงทุนผ่านสกุลเงินดอลลาร์ และเศรษฐกิจก็จะยิ่งอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว ตำแหน่งงานลดลง ท้ายที่สุดรัฐบาลก็จะไม่สามารถให้บริการทางสาธารณะใดๆ ได้อีกต่อไป” 

สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody's Investors Service) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกที่มองว่า หากสหรัฐไม่ขยายเพดานหนี้จะทำให้ประชาชนราว 6 ล้านคนตกงาน รวมทั้งกระทบตลาดหุ้นอย่างรุนแรง จนท้ายที่สุดครอบครัวชาวอเมริกันอาจสูญเงินรวมกว่า 15 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 495 ล้านล้านบาท)

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงสาเหตุที่เพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐเพิ่มขึ้นจนใกล้แตะระดับสูงสุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลสหรัฐดำเนินนโยบายทางการคลังแบบขาดดุล ผ่านการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อพยุงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจขณะนั้นไว้ 

จากสาเหตุทั้งหมดส่งผลให้ท้ายที่สุด หนี้ในประเทศพอกพูนขึ้นสวนทางกับรายได้จากการเก็บภาษีที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระหนี้ที่มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันหนี้ของสหรัฐคิดเป็นสัดส่วนถึง 130% ต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

เอกสารประกอบการเขียน

1. https://home.treasury.gov/news/press-releases/jy1188

2. https://www.theguardian.com/business/2023/apr/30/what-is-the-us-debt-ceiling-and-what-will-happen-if-it-is-not-raised

3. https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1064110

4. https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1064282