สงกรานต์ 2566 ระวังภัยออนไลน์ช่วงเทศกาล สั่งซื้อของ หลอกลงทุน กู้เงินง่าย

สงกรานต์ 2566 ระวังภัยออนไลน์ช่วงเทศกาล สั่งซื้อของ หลอกลงทุน กู้เงินง่าย

ตำรวจเตือนแล้ว สงกรานต์ 2566 ระวังภัยออนไลน์ช่วงเทศกาล สั่งซื้อของ หลอกลงทุน กู้เงินง่าย 3 เรื่องนี้ที่ดูดเงินหมดบัญชี

เตือนภัยออนไลน์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 เปิดตัวเลขสถิติรับแจ้งความออนไลน์ ช่วง 2-8 เม.ย. พบสูงขึ้นถึง 5 พันกว่าเรื่อง เพิ่มขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อน พร้อมเปิดภัยออนไลน์ เกิดขึ้นบ่อย 3 เรื่อง สั่งซื้อของคลายร้อน การหลอกลงทุนมีความเสี่ยง อยากกู้เงินง่ายๆ 

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 นี้ วันหยุดยาว แต่มักจะมีบรรดาพวกมิจฉาชีพกลับฉวยโอกาสนี้ก่อเหตุหลอกลวงเอาเงินจากประชาชน

พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้ร่วมกันนำเสนอสถิติการรับแจ้งความออนไลน์รอบสัปดาห์ ภัยที่เกิดขึ้นใหม่และภัยที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลสงกรานต์ 2566 เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีภูมิป้องกันภัยออนไลน์ ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 2-8 เม.ย. 2566 รวมทั้งสัปดาห์มีผู้แจ้งความ 5,269 เรื่อง เสียหาย 312,510,656 บาท หรือ 312.5 ล้านบาท สถิติการรับแจ้งเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1,224 เคส ความเสียหายลดลง 307,208,129 บาท

สถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ 5 อันดับ ได้แก่

1.คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2,600 เคส เสียหาย 34,066,584 บาท
2.คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 719 เคส เสียหาย 61,185,905 บาท
3.คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 539 เคส เสียหาย 22,793,579 บาท
4.คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 286 เคส เสียหาย 72,795,550 บาท
5.คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) 276 เคส  เสียหาย 47,917,957.49 บาท

ภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้นมากในรอบสัปดาห์ มีจำนวน 3 เรื่อง ดังนี้

1. “สั่งซื้อของคลายร้อน ไม่ได้ของ แถมหัวร้อน” คดีนี้มิจฉาชีพทำการปลอมเพจเฟซบุ๊กให้คล้ายของจริง นำภาพ ซึ่งคัดลอกมาจากเพจอื่น มาโพสต์เพื่อหลอกขายเสื้อสงกรานต์ ปืนฉีดน้ำ และสินค้าอื่นๆ ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมิจฉาชีพได้หลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินก่อน โดยไม่ส่งสินค้าให้

2. “การลงทุนมีความเสี่ยง ควรปรึกษา 1441” คดีนี้มิจฉาชีพทำการปลอมเพจเฟซบุ๊กโดยใช้รูปโปรไฟล์บุคคลที่มี ชื่อเสียง อาชีพและฐานะที่น่าเชื่อถือ แล้วชักชวนผู้เสียหายลงทุนเทรดหุ้น ในแอปพลิชั่น โดยนำผลตอบแทนจำนวนมากมาเป็นเหยื่อล่อ เมื่อผู้เสียหายลงทุนครั้งแรกๆ ผู้เสียหายจะได้รับค่าตอบแทน แต่ผู้ต้องสงสัยได้เก็บทุนไว้อ้างว่าจะเก็บไว้เพื่อลงทุนต่อให้ สุดท้ายได้หลอกให้ผู้เสียหายลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีเสียเงินไปจำนวนมาก

3. “อยากกู้เงินง่ายๆ แต่ได้เงื่อนไขยากๆ” คดีนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมิจฉาชีพสร้างเว็บไซต์ปลอม แอบอ้างเป็นบริษัทคันทรี่กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ (CGH) หลอกให้กู้เงินออนไลน์ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับสัปดาห์นี้คนร้ายได้แอบอ้างเป็น บริษัท ฉัตรชัย ลิสซิ่ง จำกัด เพื่อหลอกให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำอีกเช่นกัน
โดยจะส่งลิงก์ปลอมเพื่อให้เห็นว่ายอดเงินกู้ได้รับการอนุมัติแล้ว จากนั้นจะอ้างว่าผู้เสียหายเป็นลูกค้าใหม่ ต้องโอนเงินค้ำประกันก่อน เพื่อแสดงว่ามีความสามารถผ่อนชำระได้ และในการโอนจะตั้งเงื่อนไขเข้มงวดเพื่อหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินใหม่ทุกๆ ครั้งที่ทำผิดพลาด กรณีนี้อ้างว่าไม่ใส่เศษสตางค์ในการโอน และโทษว่าเป็นความผิดของผู้เสียหายที่กรอกข้อมูลผิด สุดท้ายข่มขู่และหลอกให้โอนเพิ่ม

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สตช. มีความห่วงใยประชาชน จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่เดินทางกลับไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ที่บ้าน ช่วยกันแจ้งเตือนว่า กรณีสั่งซื้อของออนไลน์ต้องตรวจสอบเพจร้านค้าให้ละเอียดก่อนซื้อขายทุกครั้ง ไม่หลงเชื่อลงทุนกับคนแปลกหน้า และหากต้องการกู้เงินให้ติดต่อขอกู้จากแหล่งที่น่าเชื่อถือเท่านั้น