ดาวโจนส์ดิ่ง 384 จุดหวั่นวิกฤตแบงก์ลามเกินควบคุม

ดาวโจนส์ดิ่ง 384 จุดหวั่นวิกฤตแบงก์ลามเกินควบคุม

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์(17มี.ค.)ร่วงลง 384 จุด ขณะที่นักลงทุนยังคงเทขายหุ้นกลุ่มธนาคาร ท่ามกลางความกังวลต่อเสถียรภาพในระบบการเงิน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวร่วงลง  384.57 จุด หรือ 1.19% ปิดที่ 31,861.98 จุด

ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลง 1.10%  ปิดที่ 3,916.64 จุด

ดัชนีแนสแด็ก ปรับตัวลง 0.74%  ปิดที่ 11,630.51  จุด

 

หุ้นกลุ่มธนาคารดิ่งลงนำตลาดวันนี้ ขณะที่ SVB Financial Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือเอสวีบี ยื่นเรื่องต่อศาลนิวยอร์กเพื่อขอรับการพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลาย

ราคาหุ้นของธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRB ซึ่งเป็นธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐ ทรุดตัวลงกว่า 20% ในการซื้อขายวันนี้ แม้ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐประกาศอัดฉีดเม็ดเงินรวมกันถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1 ล้านล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ FRB

 

 

สื่อรายงานว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการทำข้อตกลงดังกล่าว ได้แก่ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชส ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐ

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้ FRB ได้รับเงินอัดฉีดในรูปเงินฝากจากธนาคารรายใหญ่วานนี้ แต่มาตรการดังกล่าวจะช่วยพยุงฐานะการเงินของทางธนาคารได้เพียงชั่วคราว ก่อนที่จะต้องขายกิจการในที่สุด

 

 

"แม้ว่าเงินฝากดังกล่าวได้ช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของ FRB แต่ทางธนาคารก็ยังคงต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากดังกล่าว ซึ่งคิดในอัตราปัจจุบัน และจะส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของธนาคาร และเนื่องจาก FRB มีสถานะการเงินที่ย่ำแย่ ทางธนาคารก็อาจจะต้องพิจารณาการขายกิจการในที่สุด" นายอาร์ต โฮแกน หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดของบริษัท B. Riley Wealth Management กล่าว

ทั้งนี้ FRB ได้ทำการกู้ยืมเงินจากเฟดจำนวน 1.09 แสนล้านดอลลาร์ในระหว่างวันที่ 10-15 มี.ค. และเป็นธนาคารที่มีปริมาณเงินฝากที่ไม่ได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลสหรัฐสูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจากซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และซิกเนเจอร์ แบงก์ ซึ่งถูกปิดกิจการไปก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ลูกค้าจำนวนมากพากันโยกย้ายเงินฝากออกจาก FRB ไปยังธนาคารขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ราคาหุ้นธนาคารเครดิต สวิส ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ร่วงลง 5% ในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานะการเงินของทางธนาคาร แม้ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ประกาศให้การสนับสนุนทางการเงินต่อเครดิต สวิส

นายชาร์ลส์-อองรี มองโช หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของธนาคาร Syz Bank กล่าวว่า ธนาคารกลางควรมีการดำเนินการมากขึ้นเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเครดิต สวิส

"มาตรการสนับสนุนจากธนาคารกลางสวิสยังคงไม่เพียงพอที่จะช่วยให้เครดิต สวิสหลุดจากปัญหาอย่างสิ้นเชิง โดยควรมีการค้ำประกันเงินฝากทั้งหมดของเครดิต สวิส และมีการอัดฉีดเงินทุนเพื่อให้เครดิต สวิสทำการปรับโครงสร้าง" นายมองโชกล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และสำนักงานกำกับดูแลตลาดการเงินสวิตเซอร์แลนด์ ให้คำมั่นว่าจะจัดหาสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือเครดิต สวิส หากมีความจำเป็น และยืนยันว่า เครดิต สวิส มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ด้านเงินทุนและสภาพคล่องที่มีการกำหนดไว้สำหรับธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ หลังจากที่เครดิต สวิสประกาศขอกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์จำนวน 5 หมื่นล้านฟรังก์สวิส ภายใต้โครงการจัดหาเงินกู้แบบครอบคลุมและการจัดหาสภาพคล่องในระยะสั้น

หุ้นเครดิต สวิส ดิ่งสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ก่อนหน้านี้ หลังธนาคารซาอุดี เนชั่นแนล แบงก์ (Saudi National Bank) หรือเอสเอ็นบี ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ใหญ่ที่สุดของซาอุดีอาระเบีย และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของเครดิต สวิส ประกาศว่าเอสเอ็นบี ไม่สามารถเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินต่อเครดิต สวิส เนื่องจากจะทำให้เอสเอ็นบีถือหุ้นในเครดิต สวิสมากกว่า 10% ซึ่งจะเป็นการทำผิดกฎระเบียบธนาคาร

เครดิต สวิสเปิดเผยว่า ธนาคารขาดทุนสุทธิ 1.4 พันล้านฟรังก์สวิสในไตรมาส 4/2565 โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.32 พันล้านฟรังก์สวิส ส่งผลให้ยอดขาดทุนตลอดทั้งปีอยู่ที่ 7.3 พันล้านฟรังก์สวิส นอกจากนี้ ลูกค้าแห่ถอนเงินฝากมากกว่า 1.10 แสนล้านฟรังก์สวิสในไตรมาส 4/2565 ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับข่าวอื้อฉาวของธนาคารในการทำผิดกฎระเบียบ และความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดี