ดาวโจนส์ทะยาน 371 จุด รับข่าว "บิ๊กโฟร์" ทุ่ม 2 หมื่นล้านดอลล์อุ้ม FRB

ดาวโจนส์ทะยาน 371 จุด รับข่าว "บิ๊กโฟร์" ทุ่ม 2 หมื่นล้านดอลล์อุ้ม FRB

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพฤหัสบดี(16มี.ค.)พุ่งขึ้น 371 จุด หลังมีข่าวว่า ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งของสหรัฐเตรียมอัดฉีดเงินเสริมสภาพคล่องของธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRB ซึ่งเป็นธนาคารในระดับภูมิภาคของสหรัฐ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 371.98 จุด หรือ 1.17% ปิดที่ 32,246.55 จุด

ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 68.35 จุด หรือ 1.76% ปิดที่ 3,960.28 จุด

ดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 283.22 จุด หรือ 2.48% ปิดที่ 11,717.28 จุด

 

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวระบุว่า ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐเตรียมทุ่มเงินอัดฉีดสภาพคล่องราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์ให้แก่ FRB

รายงานระบุว่า สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ทั้ง 4 แห่งของสหรัฐ ซึ่งได้แก่ โกลด์แมน แซคส์, มอร์แกน สแตนลีย์, เจพีมอร์แกน เชส และซิตี้กรุ๊ป รวมทั้งธนาคารอีกหลายแห่ง เตรียมให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อ FRB เนื่องจากกังวลว่า การล่มสลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB และซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) หรือเอสเอ็นจะส่งผลกระทบลุกลามไปยังธนาคารประจำภูมิภาคของสหรัฐ

 

 

ทั้งนี้ FRB เป็นธนาคารที่มีปริมาณเงินฝากที่ไม่ได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลสหรัฐสูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจากเอสวีบี และเอสบี ทำให้มีลูกค้าจำนวนมากโยกย้ายเงินฝากออกจาก FRB ไปยังธนาคารขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ราคาหุ้น FRB ทรุดตัวลงเกือบ 75% นับตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค.

ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมสัปดาห์หน้า และจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. เร็วกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 81.9% ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. และให้น้ำหนักเพียง 18.1% ที่เฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

 

 

นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในเดือนพ.ค. สู่ระดับ 5.00-5.25% ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในเดือนมิ.ย.

นายเอ็ดเวิร์ด ยาร์เดนี ประธานบริษัทวิจัยยาร์เดนี ระบุว่า การล่มสลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือเอสวีบีจะส่งผลให้เฟดยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้

"วิกฤตการณ์ของเอสวีบีจะทำให้เฟดยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น และจะทำให้บอนด์ยีลด์แตะจุดสูงสุด ซึ่งหากเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย และเงินเฟ้อดีดกลับขึ้นมา เฟดก็สามารถกลับมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้" นายยาร์เดนีกล่าว

ทั้งนี้ เฟดดำเนินนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุกในช่วงที่ผ่านมาเพื่อสกัดเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวก็ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ซึ่งรวมถึงธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งเป็นฐานลูกค้าสำคัญของเอสวีบี

นอกจากนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดยังได้ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลดีดตัวขึ้น และส่งผลให้ราคาพันธบัตรปรับตัวลง เนื่องจากราคาพันธบัตรจะปรับตัวผกผันต่ออัตราผลตอบแทน

รัฐบาลสหรัฐสั่งปิดกิจการของเอสวีบีหลังจากที่ราคาหุ้นSVB ทรุดตัวลงอย่างหนัก ท่ามกลางความกังวลว่าจะเกิดการเพิ่มทุนจำนวนมากเพื่อชดเชยการขาดทุนมหาศาลจากการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

โดยเอสวีบีจำเป็นต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำกว่าหน้าตั๋ว เนื่องจากราคาพันธบัตรปรับตัวลงสวนทางกับดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นตามนโยบายเฟด ขณะที่ธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยีได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง และได้แห่ถอนเงินฝากจากเอสวีบี