ค่าเงินบาทเปิดตลาด’อ่อนค่า’ที่ 34.62 บาทต่อดอลลาร์ กังวลธนาคารสหรัฐ-ยุโรป

ค่าเงินบาทเปิดตลาด’อ่อนค่า’ที่ 34.62 บาทต่อดอลลาร์  กังวลธนาคารสหรัฐ-ยุโรป

กรุงไทย ชี้ตลาดยังความวิตกต่อระบบธนาคารสหรัฐฯ และธนาคารยุโรป กดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาด ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนหนัก จับตาฟันด์โฟลว์ต่างชาติ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.45-34.70บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (16มี.ค.) ที่ระดับ  34.62 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.60 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.70 บาทต่อ ดอลลาร์ 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ประเมินว่า แม้เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าในช่วงคืนที่ผ่านมาจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ แต่ทว่า เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ซึ่งช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทลง ทำให้โดยรวมเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงไปมาก

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ในวันนี้ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนหนัก โดยในช่วงก่อนที่ตลาดจะรับรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เงินบาทมีโอกาสเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ที่อาจส่งผลต่อเนื่องให้ นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นฝั่งขายสุทธิสินทรัพย์ในฝั่งไทยได้

 อย่างไรก็ดี เรามองว่า แรงขายจากนักลงทุนต่างชาติอาจไม่ได้รุนแรงมาก เนื่องจากแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคารสหรัฐฯและยุโรป ล่าสุด มีลักษณะ panic sell และหากพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมจะเห็นได้ว่า ความเสี่ยงที่ปัญหาดังกล่าวจะลุกลามกลายเป็นวิกฤตยังมีโอกาสเกิดไม่มากนัก และเป็นสิ่งที่ทางการสหรัฐฯ และยุโรปสามารถเข้ามาให้ความช่วยเหลือได้

 

อนึ่ง เรามองว่า ควรจับตาความผันผวนในตลาดช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุมของ ECB อย่างใกล้ชิด โดยเรามองว่าหาก ECB แสดงความมั่นใจว่า วิกฤตในภาคธนาคารจะไม่เกิดขึ้น และเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ +0.50% เราอาจเห็นการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) ซึ่งอาจจะหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้ แต่หาก ECB ขึ้นดอกเบี้ยเพียง+0.25% เงินยูโรอาจไม่ได้รีบาวด์แข็งค่าขึ้นไปมาก และในกรณีที่ ECB ไม่ขึ้นดอกเบี้ย หรือ ลดดอกเบี้ยลง (ซึ่งเรามองว่า โอกาสเกิดกรณีนี้ ต่ำมาก) ตลาดจะตีความว่า ปัญหาระบบธนาคารยุโรปมีความน่ากังวลจริงและมีความเสี่ยงสูง ซึ่งอาจเห็นแรงขายสินทรัพย์ฝั่งยุโรปเพิ่มเติม กดดันให้เงินยูโรอ่อนค่าลงชัดเจนได้ไม่ยาก โดยในกรณีนี้ เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อทดสอบโซนแนวต้านแถว 34.90-35.00 บาทต่อดอลลาร์ได้

ในช่วงนี้ เรามองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ความวิตกต่อระบบธนาคารสหรัฐฯ และธนาคารยุโรป ยังคงกดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างกลับมาเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารสหรัฐฯ อีกครั้ง (ซึ่งเรามองว่า เป็นการขายแบบpanic sell จากความวิตกกังวลมากเกินไป) ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวลง -0.70% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่อง ของหุ้นกลุ่มเทคฯ ขนาดใหญ่สหรัฐฯ อาทิ Alphabet +2.3%, Microsoft +1.8% หลังให้ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสที่จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ และมองว่าเฟดมีโอกาสจะกลับมาลดดอกเบี้ยลงได้ราว -0.75% จนแตะระดับ 4.00% ในการประชุมเดือนธันวาคม

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 กลับมาดิ่งลงแรงกว่า -2.92% ท่ามกลางความวิตกของผู้เล่นในตลาดต่อปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารยุโรปในลักษณะ panic sell (UBS -8.7%, Intesa Sanpaolo -6.9%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP -8.3%, TotalEnergies -5.6%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงต่อเนื่อง (WTI หลุดระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล)

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อปัญหาในภาคธนาคารสหรัฐฯ และยุโรป ได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับลดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและเพิ่มโอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟด ได้ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลงสู่ระดับ 3.45% ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ ควรมองเป็นโอกาสในการทยอยขายทำกำไรสถานะถือบอนด์ มากกว่า ไล่ราคาซื้อ เนื่องจากเราประเมินว่า ปัญหาในภาคธนาคารสหรัฐฯ และยุโรปจะไม่ลุกลามและบานปลาย กลายเป็นวิกฤต อีกทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นในฝั่งสหรัฐฯ ก็มีความต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในฝั่งยุโรป กับ ธนาคาร Credit Suisse แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในสองภูมิภาคมีสิ่งที่เหมือนกัน คือเป็นวิกฤตศรัทธาต่อระบบธนาคาร ซึ่งสถานการณ์สามารถทยอยคลี่คลายลงได้ หากทางการหรือธนาคารกลางสามารถฟื้นความเชื่อมั่นกลับมาได้ ดังนั้น เราจึงมองว่า บรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และ ECB อาจให้น้ำหนักปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูง (และชะลอลงช้า) มากกว่าวิกฤตศรัทธาในภาคธนาคาร ทำให้การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจะยังไม่จบ และบอนด์ยีลด์ระยะยาวมีโอกาสปรับตัวขึ้นจากระดับปัจจุบันได้    

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.6 จุด หลังความวิตกกังวลต่อระบบธนาคารล่าสุด มีจุดสนใจที่ฝั่งธนาคารยุโรป ซึ่งความกังวลดังกล่าว ได้กดดันให้เงินยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.058 ดอลลาร์ต่อยูโร ตามการปรับลดโอกาส ECB ขึ้นดอกเบี้ย+0.50% ของผู้เล่นในตลาด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเลือกที่จะถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยต่อเนื่อง กอปรกับ ผู้เล่นในตลาดต่างก็ปรับลดโอกาสที่บรรดาธนาคารกลางหลักจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อตัวลง สู่ระดับ 1,928 ดอลลาร์ต่อออนซ์ทั้งนี้ เรามองว่า โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวมีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท แม้ว่าในช่วงคืนที่ผ่านมาเงินดอลลาร์จะกลับมาแข็งค่าขึ้นพอสมควร

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเราคาดว่า ECB จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ต่อเนื่อง +0.50% สู่ระดับ 3.00% ได้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนยังอยู่ในระดับที่สูงถึง 8.5% เมื่อเทียบกับเป้าหมายของ ECB ที่ 2.0% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตา คาดการณ์เศรษฐกิจใหม่ของ ECB รวมถึง ถ้อยแถลงของประธาน ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ ECB โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับเสถียรภาพของระบบธนาคารยุโรป ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าธนาคารสำคัญของยุโรปมีความเสี่ยงที่จะปิดตัวลง

ส่วนในฝั่งเอเชีย จะมีผลการประชุมของธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ให้รอติดตาม โดยเราประเมินว่า BI จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.75% ต่อ หลัง BI อาจมองว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องและการขึ้นดอกเบี้ยก่อนหน้าอาจเพียงพอที่จะคุมปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ค่าเงินรูเปียะห์ (IDR) ก็เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น

นอกจากการประชุมของธนาคารกลางดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯและยุโรป ต่อเนื่อง ซึ่งความกังวลต่อปัญหาระบบธนาคารอาจกดดันบรรยากาศการลงทุนในระยะสั้นนี้ได้