‘นักเศรษฐศาสตร์’ หวั่น เอฟเฟกต์ SVB กระทบเป็น ‘โดมิโน’

‘นักเศรษฐศาสตร์’ หวั่น เอฟเฟกต์ SVB กระทบเป็น ‘โดมิโน’

ตลาดเงินโลกส่อเค้าป่วนหนัก หลังธนาคารในสหรัฐปิดกิจการถึง 2 แห่งในสัปดาห์เดียวจากปัญหา ‘แบงก์รัน’ ด้านนักเศรษฐศาสตร์แนะจับตาใกล้ชิดหวั่นเกิดโดมิโนกระทบ 3 ด้าน ลามแบงก์อื่น ป่วนหุ้นโลก ชี้ต้นเหตุจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

key points 

  •  ตลาดการเงินโลกปั่นป่วนอีกระลอก หลังสองแบงก์ใหญ่ประกาศปิดกิจการ  ต้นเหตุจาก ผู้ฝากเงินแห่ถอนเงินฝาก จนเกิดภาวะ Bank Run
  • นักวิเคราะห์ชี้ ต้นเหตุแบงก์ล้ม จากสภาพคล่องสตาร์ทอัพหด หลังต้นทุนทางการเงินพุ่ง เอฟเฟกต์เฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วแรง
  • ชี้ ผลกระทบลามเป็นโดมิโน กระทบ3ด้าน หวั่นแบงก์ในสหรัฐล้มต่อ จากวิกฤติขาดความเชื่อมั่น คนแห่ถอนเงิน
  • จับตา เกมส์ล่าแม่มด  จากแบงก์ล้ม ส่งผลนักลงทุนเทขายหุ้นเทคฯหุ้นแบงก์ต่อลดความเสี่ยง
  • เชื่อไม่กระทบต่อฐานะการเงินต่อธุรกิจ-แบงก์ในไทย แต่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ฝากเงิน-นักลงทุนระยะสั้น 
  • โยนแบงก์ชาติ ต้องกลับมาทบทวนการ “ขึ้นดอกเบี้ย” หลังเฟดเจอบทเรียนจากการขึ้นดอกเบี้ยเร็วแรง จนนำไปสู่แบงก์- บริษัทในสหรัฐล้ม 

       

        สถานการณ์ตลาดการเงินโลกกลับมาปั่นป่วนอีกครั้งหลังจากที่มีธนาคารในสหรัฐถึง ‘2 แห่ง’ ต้องปิดกิจการภายในสัปดาห์เดียว คือ ธนาคารซิลเวอร์เกท ที่เน้นให้บริการด้านคริปโทเคอร์เรนซี และ ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์(เอสวีบี)  เน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจสตาร์ตอัป

     โดยการล้มลงของทั้ง 2 ธนาคารเกิดจากการที่ผู้คนจำนวนมากแห่มาถอนเงินจนเกิดภาวะ Bank Run  
โดยการล้มลงของ เอสวีบี เป็นที่จับตาของตลาดมากสุด เนื่องจากเป็นธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐ ทรัพย์สินรวมกันกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งธนาคารเผชิญกับภาวะ Bank Run จนต้องขายพันธบัตรทั้งที่ขาดทุนเพื่อนำเงินไปคืนให้กับผู้ที่มาไถ่ถอนเงิน จนธนาคารเกิดผลขาดทุนมากกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์ 
    

     นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสาเหตุการปิดกิจการของเอสวีบี คือ สภาพคล่องที่หายไป หากเทียบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะอดีต เอสวีบี เป็นแบงก์ที่สตาร์ตอัป ผู้ลงทุน(วีซี) ถึง 40% ในสหรัฐเลือกทำธุรกรรมการเงินเป็นแบงก์หลัก ทำให้ช่วงที่ผ่านมา เงินฝาก เอสวีบี เติบโตขึ้นอย่างมาก

      แต่ปัจจุบัน สภาพคล่องที่ลดลง บนต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และการระดมทุนของเหล่าสตาร์ตอัปทำไม่ได้ง่ายเหมือนอดีต ทำให้เงินที่ วีซี หรือ สตาร์ตอัปหมุนเวียน หรือฝากไว้ในแบงก์จึงลดลงต่อเนื่อง เพราะต้องการนำกระแสเงินสดออกไปหมุนเวียน หรือใช้จ่ายกับการดำเนินกิจการ(Cashburn)มากขึ้น

ห่วงเกิด ‘โดมิโน’ กระทบ 3 ด้าน

       นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่อง จนนำไปสู่การขายพันธบัตรออกมา ก่อนที่จะครบอายุ ขณะที่ราคาพันธบัตรก็ปรับตัวลดลง จนทำให้เกิดผลขาดทุน 

      “แม้ เอสวีบี จะปิดกิจการไปแล้ว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจเป็นโดมิโนที่กระทบหลายช่องทาง อย่างน้อยก็ 3 ด้าน”

      สำหรับด้านแรก นักลงทุนหรือตลาดจะจับตาว่า เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว จะเกิดขึ้นกับแบงก์อื่นๆ หรือไม่ ธนาคารที่มีขนาดใกล้เคียงกันหรือคล้ายกันจึงมีความเสี่ยงสูง

      ด้านที่สองคือ ความกังวลจะลาม ไปสู่ สตาร์ตอัป  และวีซี ที่อยู่กับแบงก์เอสวีบีว่าจะมีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจต่อไปหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ แม้จะได้เงินจากการประกันเงินฝาก แต่คิดเป็นเงินจำนวนน้อยหากเทียบกับเงินฝากทั้งหมดที่สตาร์ตอัปหรือวีซีฝากไว้

      ด้านที่สาม ผลกระทบจะลามไปสู่ ธนาคารอื่นๆ สู่ตลาดทุน ตลาดหุ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ที่อาจมาจากการตั้งข้อสังเกตของตลาด ว่าจะมี Unrealized loss (มูลค่าความเสียหายที่ยังไม่เกิดขึ้น) ตามมาอีกหรือไม่ หรือมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากวิกฤติความกังวลดังกล่าว อาจลามกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน ต่อตลาดค่อนข้างมาก

จับตา ‘ล่าแม่มด’ ถล่มหุ้นแบงก์

     ดังนั้นเชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจต้องมีบทบาทในการเข้ามาประคองความเชื่อมั่นของนักลงทุน หรือลดความตื่นตระหนักดังกล่าว โดยการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง หรือผ่านเครื่องมือต่างๆ กับธนาคารที่อาจประสบปัญหาลักษณะดังกล่าว เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามมากขึ้นในเร็วๆ นี้

     “ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ เอสวีบี จะเป็นโดมิโนกระทบลามไปหลายด้าน เพราะตลาดจะจับตาว่า หลังจากนี้จะมีแบงก์ไหนที่ประสบปัญหาอีกหรือไม่ และสตาร์ตอัป หรือวีซี ที่อยู่กับแบงก์นี้มีใครบ้าง จนอาจนำไปสู่การเทขายหุ้น หรือพอร์ตลงทุนออกมา ภาพเหล่านี้จะทำให้เกิดการล่าแม่มดซึ่งมาจากวิกฤติศรัทธา จากความไม่รู้ว่าปัญหาจะใหญ่แค่ไหน ดังนั้นหุ้นคอมมูนิตี้ หุ้นเทคฯ หุ้นแบงก์คงต้องโดนเทขายอีกระลอก เชื่อว่าเฟดคงต้องมีบทบาทออกมาช่วยแก้ปัญหาในเร็วๆ นี้”

      ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หรือต่อตลาดทุน ตลาดหุ้นไทย เชื่อว่า อาจกระทบด้านความเชื่อมั่น แต่เป็นช่วงสั้นๆ และสถานการณ์ไม่น่าลามมาสู่แบงก์ไทย

ผลกระทบจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ย

    นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การล้มของสองแบงก์ใหญ่ เชื่อว่าจะต่างจากวิกฤติแบงก์ในอดีต ที่มาจากความเสี่ยงการปล่อยสินเชื่อ แต่ปัจจุบันมาจากผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น จากการขึ้นดอกเบี้ยเร็ว และแรงของสหรัฐ มีธุรกิจส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถรับภาระดอกเบี้ยขาขึ้นได้ และจากดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นยังส่งผลให้ราคาหน้าตั๋วพันธบัตรปรับลดลง จนนำมาสู่ผลขาดทุนในที่สุด

     การปิดแบงก์ครั้งนี้ เชื่อว่าจะไม่ลามกระทบไปสู่แบงก์ใหญ่ หรือธุรกิจขนาดใหญ่ แต่เป็นที่จับตาต่อไปว่า แบงก์เล็กๆ และธุรกิจสตาร์ตอัปที่เหลือของสหรัฐ จะเผชิญวิกฤติแบบเดียวกันหรือไม่ แต่เชื่อว่าผลกระทบจะไม่ลามจนส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว

      “ผมไม่คิดว่า การล้มของ 2 แบงก์นี้จะเป็นแรงกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐทรุดจนต้องลดดอกเบี้ย และไม่คิดว่าลามมาไทย เพราะเป็นปัจจัยเฉพาะจากต่างประเทศ แต่อาจมีผลกระทบบ้างช่วงสั้นๆ ด้านความเชื่อมั่น และจากวิกฤติครั้งนี้เชื่อว่านำมาสู่บทเรียนสำคัญ ว่าไม่ควรลงทุนที่แหล่งใดแหล่งหนึ่งมากจนเกินไป แต่ควรกระจายความเสี่ยงในการลงทุนให้มากเพื่อรับกับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า”

    อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงไม่ถึงกับทำให้เฟด ต้องพิจารณาหยุดการขึ้นดอกเบี้ยหรือปรับลดดอกเบี้ยลง เพราะสหรัฐยังเผชิญเงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูง แต่อาจเห็นสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยลดลง ทำให้ดอกเบี้ยปลายทางสหรัฐอาจไปแตะที่ระดับ 5.5% ไม่ใช่ 5.75% ตามที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้

 บทเรียนแบงก์ชาติพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยต่อ?     

     นายอมรเทพ ย้ำว่า เหตุการณ์นี้ อาจเป็นบทเรียนให้แบงก์ชาติไทย ต้องกลับมาทบทวนมากขึ้น จากการขึ้นดอกเบี้ย ที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงมากกว่าคาด เพราะบทเรียนจากการขึ้นดอกเบี้ยมากๆ ย่อมมีผลกระทบย้อนมาสู่เศรษฐกิจ และธุรกิจในประเทศได้ ดังนั้นอาจเห็น ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยไปสู่1.75%ในมี.ค.นี้เท่านั้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์