จุดม้วนกลับ "ดอกเบี้ยโลก" อาจไม่เร็วอย่างที่คิด

จุดม้วนกลับ "ดอกเบี้ยโลก" อาจไม่เร็วอย่างที่คิด

ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.เป็นต้นไป ยุโรป ประกาศเลิกซื้อน้ำมันจากรัสเซีย แน่นอนว่าย่อมกระทบต่อราคาน้ำมันดิบโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่อง "เงินเฟ้อ" ยังวางใจไม่ได้ ดังนั้นอย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจว่า ดอกเบี้ยโลก จะม้วนตัวกลับเร็วๆ นี้

เช้าวันพรุ่งนี้ (2 ก.พ.) เราน่าจะทราบแล้วว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOME) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ตัดสินใจอย่างไรเกี่ยวกับดอกเบี้ยนโยบาย จะเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้หรือไม่ ซึ่งถ้าถามความเห็นของตลาด ณ วันนี้ ดูเหมือนจะฟันธงไปเรียบร้อยแล้วว่า Fed น่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพียงแค่ 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยของ Fed ขยับขึ้นเป็น 4.50-4.75%

ดังนั้นไฮไลท์สำคัญของวงประชุมในรอบนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ระดับดอกเบี้ยในการปรับขึ้น แต่อยู่ที่ความเห็นและสัญญาณของ FOMC ที่มีต่อทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร ใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้วหรือยัง

อย่างที่บอก คือ ตลาดฟันธงไปเรียบร้อยแล้วว่า การประชุมรอบนี้ Fed น่าจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% หลังจากที่ตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา Fed ได้เร่งการขึ้นดอกเบี้ยอย่างบ้าระห่ำชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยรวมถึง 4.25% แบ่งเป็นการปรับขึ้น 0.75% ติดต่อกัน 4 ครั้ง ขึ้นดอกเบี้ยระดับ 0.50% รวม 2 ครั้ง และขึ้นในระดับ 0.25% อีก 1 ครั้ง เป้าหมายเพื่อคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัดหลังจากที่ Fed ชะล่าใจในช่วงก่อนหน้านี้ เพราะไม่คิดว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นรุนแรงและยืดเยื้อ

นอกจากตลาดจะมองว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมรอบนี้แล้ว ยังมองด้วยว่าดอกเบี้ยนโยบายของ Fed อาจขยับไปได้อีกไม่ไกล โดย FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งวิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ บ่งชี้ว่า นักลงทุนเริ่มคาดการณ์ว่า หลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้แล้ว Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งในการประชุมรอบวันที่ 21-22 มี.ค.2566 สู่ระดับ 4.75-5.00% หลังจากนั้น Fed จะคงดอกเบี้ยไปจนถึงเดือนก.ย.2566 ก่อนที่จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังประมาทไม่ได้ คือ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐไตรมาส 4 ปี 2566 ที่ออกมาแข็งแกร่งเกินคาด โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาสดังกล่าวออกมาขยายตัวถึง 3.2% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 2.8%

ข้อมูลนี้แม้จะช่วยคลายความกังวลที่มีต่อประเด็นเรื่องเศรษฐกิจถดถอยไปได้บ้าง แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ทำให้ Fed น่าจะมีความมั่นใจมากขึ้นในการขยับดอกเบี้ยนโยบายเพื่อคุมเงินเฟ้อ และถ้ามองไปข้างหน้าสถานการณ์เงินเฟ้อยังเป็นเรื่องที่ไม่อาจวางใจได้ โดยเฉพาะหลังจากที่ รัสเซีย ตั้งเป้าจะเผด็จศึกยูเครนให้ได้หลังฤดูหนาวผ่านพ้นไป

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.เป็นต้นไป ยุโรป ประกาศเลิกซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป โดยเฉพาะในส่วนของน้ำมันดีเซล ซึ่งแน่นอนว่ารัสเซียเองก็ต้องหาแหล่งระบายน้ำมันในส่วนนี้ แต่มีการประเมินกันว่าการหาผู้รับซื้อรายใหม่เป็นเรื่องค่อนข้างยาก ทำให้รัสเซียอาจต้องปิดหลุมการผลิตไว้ก่อน โดยรัสเซียมีกำลังการผลิตน้ำมันคิดเป็น 2% ของโลก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมกระทบต่อราคาน้ำมันดิบโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราเห็นว่าเรื่อง ‘เงินเฟ้อ’ ยังเป็นเรื่องที่ไม่อาจวางใจได้ ดังนั้นอย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจว่า ดอกเบี้ยโลก จะม้วนตัวกลับในเร็วๆ นี้