5 นักเศรษฐศาสตร์ ฟันธง กนง. ขึ้น ‘ดอกเบี้ย’ 0.25% วันนี้

5 นักเศรษฐศาสตร์ ฟันธง กนง. ขึ้น ‘ดอกเบี้ย’ 0.25% วันนี้

นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง กนง.ขึ้นดอกเบี้ยวันนี้ 0.25% ส่งผลดอกเบี้ยแตะ 1.50% หลังเศรษฐกิจฟื้น เงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูง ห่วงค่าเงินบาท หนุนธปท.แทรกแซงไม่ให้แข็งค่านำภูมิภาค หวังเพิ่มทุนสำรองเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาว

         ประเด็น “ดอกเบี้ย” ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามต่อเนื่องในปี 2566 แม้ที่ผ่านมา ดอกเบี้ยนโยบายของหลายประเทศ รวมถึงไทย ปรับเพิ่มขึ้นมามากแล้ว แต่ภายใต้ “เงินเฟ้อ” ที่ยังอยู่ระดับสูง ส่งผลให้หลายประเทศ ยังคงเดินหน้า “ขึ้นดอกเบี้ย”อย่างต่อเนื่องในปีนี้

        เช่นเดียวกัน ประเทศไทย ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)อย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 ไปสู่ภาวะปกติ หรือ Normalization เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ให้อยู่ในกรอบที่ 1-3%

     "กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ยังคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.ขึ้นต่อเนื่องไปอีก 3 ครั้งในปีนี้ โดยวันนี้จะขึ้นอีกที่ระดับ 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับ 1.50% จากระดับ 1.25% และคาดดอกเบี้ยจะไปหยุดที่ระดับ 1.75% หรือ 2.0%ได้ใน พ.ค.นี้

       ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. กอบศักดิ์ มองว่าอาจไม่ต้องรีบร้อนในการขึ้นดอกเบี้ยแรง เพราะเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว “เงินเฟ้อ”จะค่อยๆ ทยอยกลับมาสู่เป้าหมายได้ในไม่ช้าที่ระดับ 1-3% และเวลานี้ “วิกฤติ”ได้ผ่านไปแล้ว
 

       แต่จุดสำคัญที่ต้องจับตา ที่จะเป็นจุดชี้วัด “ดอกเบี้ย” ของไทยคือ ในสิ้นเดือนพ.ค. ว่าจะเป็นจุดสิ้นสุด ของการขึ้นดอกเบี้ยของไทยหรือไม่ เนื่องจากภาพในขณะนั้นจะเห็นภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นหากการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก แย่กว่าที่คาด จะเป็น “โจทย์” สำคัญที่ทำให้ กนง.ต้องทบทวนว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือไม่ เพราะปัจจัยต่างๆ ไม่เอื้อ แต่หากสถานการณ์ไม่ได้รุนแรงกว่าคาด ก็อาจเห็นการขึ้นดอกเบี้ยต่อ และไปจบที่ 2%ได้

      “เงินบาท” ที่แข็งค่า เชื่อว่าไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ กนง.ต้องลดการขึ้นดอกเบี้ย เพราะที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การขึ้นดอกเบี้ย ไม่ได้ทำให้เงินแข็งค่าขึ้น ในหลายประเทศแม้ดอกเบี้ยอยู่ระดับสูง แต่ค่าเงินยังอ่อนค่า

      แต่สิ่งที่กังวลคือ การแข็งค่าของค่าเงินบาทในปัจจุบัน เป็นการแข็งค่านำภูมิภาค จากเงินทุนไหลเข้า หลังต่างประเทศมองอาเซียนเป็นเซฟ เฮฟเว่น และจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากขึ้น ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดบวกต่อเนื่อง

      ดังนั้นการปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง อาจกระทบต่อเสถียรภาพ กระทบต่อภาคธุรกิจได้ ดังนั้น มองว่า ธปท.ต้องเข้าไป “แทรกแซง”หรือดูแลเงินบาท ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับภูมิภาค อีกทั้งการซื้อสกุลเงินต่างประเทศเข้ามา จะเป็นการช่วยเพิ่มความมีเสถียรภาพให้ “ทุนสำรอง” ของไทยมากขึ้น เพื่อรองรับปัจจัยเสี่ยงในระยะข้างหน้ามากขึ้น

    “พชรพจน์ นันทรามาศ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า คาดการณ์ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยต่อวันนี้ที่ 0.25% โดยมี 3 ปัจจัยหลักหนุนการขึ้นดอกเบี้ย ปัจจัยแรก ดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบัน ถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก หากเทียบกับอดีต และต่างประเทศ

       สอง ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง ที่เป็นตัวสนับสนุนให้สามารถขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ และสุดท้าย เงินเฟ้อที่ยังคงสูงกว่ากรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะสูงต่อเนื่องไปอย่างน้อยครึ่งปี ทำให้ครึ่งปีแรกเงินเฟ้อจะสูงกว่ากรอบเป้าหมายของ ธปท. ทำให้เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลให้ดอกเบี้ยไทยยังอยู่ในทิศทางขาขึ้นต่อเนื่อง

      ส่วนปัจจัย ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เชื่อว่าอาจไม่มีผลมากนัก ที่ทำให้ กนง. ต้องลดการขึ้นดอกเบี้ยลง เนื่องจาก ประเด็นส่วนต่างดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้มีผลมากนัก ที่ทำให้เงินทุนไหลเข้าไหลออก อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยไทย ต่ำกว่าหลายประเทศ แต่ยังมีเงินไหลเข้าประเทศต่อเนื่อง ดังนั้นเชื่อว่า กนง.น่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้ต่อเนื่อง และไปจบที่ระดับ 3% เร็วสุดสิ้นสุดไตรมาส 2 และช้าสุดภายในไตรมาส 3 ปีนี้

      “อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยของไทย ต่อเนื่องที่ 0.25% ครั้งนี้ จากเงินเฟ้อที่เติบโตช้าลง และการเปิดเมืองของจีน ที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้น

      ที่ห่วงคือ เสถียรภาพ ตลาดเงินตลาดทุน และปัญหาหนี้เสีย ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการกระจายตัวของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ที่เป็นปัจจัยฉุดให้ กนง.ไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรงได้ แต่ภายใต้การขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. อย่างต่อเนื่อง อย่างค่อยเป็นค่อยไป บวกกับต้นทุนการนำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ อาจเห็น ธปท. มีการส่งสัญญาณถึงธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้มีการ “ส่งผ่าน” ดอกเบี้ยสู่ระบบลดลงได้ เพื่อลดผลกระทบที่จะมีขึ้นจากต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

       ทั้งนี้ มองว่า เดือนมี.ค. จะเป็นช่วงที่สำคัญ ที่หลายประเทศจะมีการปรับมุมมองเศรษฐกิจ หลังการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกชัดเจนมากขึ้น ทำให้หลายประเทศชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้นต้องติดตามว่า กนง.จะส่งสัญญาณ การชะลอการขึ้นดอกเบี้ยด้วยหรือไม่

      นอกจากนี้ ภายใต้ สถานการณ์ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง แซงเพื่อนบ้าน เหล่านี้เป็นประเด็นน่าห่วง ดังนั้น ต้องจับตา การออกมาตรการเพื่อสกัดการเก็งกำไรค่าเงินออกมาในระยะถัดไปด้วย จากปัจจุบันที่เห็นการเข้ามาซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นของต่างชาติต่อเนื่อง เหล่านี้เป็นปัจจัยกดดันเงินบาท ให้แข็งค่าต่อเนื่อง

     “พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร เชื่อว่า การขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. จะขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ที่ระดับ 0.25% จากภาพเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการเข้ามาของนักท่องเที่ยวที่มาเร็วกว่าคาด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยได้ง่ายมากขึ้น

       ขณะที่เงินเฟ้อ ทยอยลดลง ดังนั้น ปัจจัยกดดัน สำหรับการขึ้นดอกเบี้ย ถือว่าลดลง ซึ่งการทยอยขึ้นดอกเบี้ย อีกด้านเป็นวิธีที่ช่วยดูแล ครัวเรือน เอสเอ็มอี ไม่ให้ถูกกระทบจาก ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นด้วย

      “นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ยังคงคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ต่อเนื่อง โดยขึ้นที่ 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย ในเดือนม.ค. มี.ค. และพ.ค. ที่ระดับ 0.25% และคาดกลางปี ดอกเบี้ยไทยจะไปอยู่ที่ระดับ 2.0% 

       อย่างไรก็ตาม หากโมเมนตัมของเศรษฐกิจไทย ยังมีต่อเนื่อง เศรษฐกิจโลกไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก มองว่า กนง.ยังสามารถขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ในครึ่งปีหลังของ ปี 2566 อีก 1 - 2% ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยสูงสุดของไทย อาจไปแตะระดับที่ 2.25 - 2.50% ได้ 

      “การขยายตัวเศรษฐกิจไทย ก็ยังมีแรงส่งจากในประเทศ​จากกิจกรรมเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาขยายตัวได้มากขึ้น ดังนั้นอาจเป็นปัจจัยส่ง ให้เศรษฐกิจไทย กลับมาฟื้นตัวต่อได้ จากภายในประเทศ อาจทำให้กนง.สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ต่อ ในครึ่งปีหลังได้ ดังนั้นก็มีโอกาสที่ดอกเบี้ยไทย จะเห็นจุดสูงสุดที่ระดับ 2.5% ได้”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์