"เวอร์ชวลแบงก์"เนื้อหอม บจ.ไทยแห่ลงสนามคึกคัก

"เวอร์ชวลแบงก์"เนื้อหอม บจ.ไทยแห่ลงสนามคึกคัก

ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เป็นอย่างดี คือ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์

เพราะทุกวันนี้ลูกค้าแทบไม่ต้องเดินทางไปที่แบงก์แล้ว เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็สามารทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งโอนเงิน จ่ายบิลค่าสินค้า บริการต่างๆ จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ซื้อประกัน กองทุน หรือแม้กระทั่งกู้เงิน ได้ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้

โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ถูกดิสรัปอย่างหนักจาก “FinTech” แต่ละแบงก์ต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล บทบาทของธนาคารค่อยๆ เปลี่ยนไป ทุกวันนี้ลูกค้าที่ใช้บริการผ่านสาขา ค่อยๆ ลดลง โดยเปลี่ยนมาทำธุรกรรมผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแทน เพราะสะดวกสบายกว่ากันเยอะ แบงก์จึงเริ่มทยอยปิดสาขา ปรับลดพนักงานลงต่อเนื่อง

เมื่อภูมิทัศน์ทางการเงินเปลี่ยนไป จึงเป็นที่มาของธุรกิจใหม่ “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” หรือ “Virtual Bank” ที่จะนำบริการของแบงก์ทั้งหมดเข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มคิกออฟเปิดให้บริการไปแล้วในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร, จีน, เกาหลีใต้, สิงค์โปร์, ฮ่องกง ฯลฯ

ส่วนในประเทศไทยใกล้จะมีการเปิดตัวแล้วเช่นกัน หลังล่าสุดแบงก์ชาติได้ประกาศหลักเกณฑ์และไทม์ไลน์การออกใบอนุญาต Virtual Bank เป็นที่เรียบร้อย โดยคุณสมบัติหลักๆ เช่น มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การให้บริการดิจิทัล โดยบริษัทต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งจะมารายเดียว หรือ ร่วมทุนก็ได้ แต่ถ้าพันธมิตรเป็นต่างชาติต้องถือหุ้นไม่เกิน 25%

ทั้งนี้ แบงก์ชาติย้ำว่าเกณฑ์กำกับดูแล Virtual Bank จะเข้มข้นกว่าแบงก์พาณิชย์ปกติ เนื่องจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยกำหนดว่าหากระบบเกิดการขัดข้องต้องแก้ไขให้ได้ภายใน 2 ชั่วโมง และไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปี

ขณะนี้มีทั้งแบงก์และนอนแบงก์สนใจเข้าสู่ธุรกิจนี้กว่า 10 ราย แต่ในเฟสแรกจะให้ไลเซนส์ก่อนไม่เกิน 3 ราย เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่แบงก์ชาติอย่างติดตามอยากใกล้ชิด และเพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันมากจนเกินไป เบื้องต้นจะเปิดรับสมัครในช่วงไตรมาส 2-3 นี้ จากนั้นใช้เวลาคัดเลือก 6 เดือน และขออนุมัติจากกระทรวงการคลังอีก 3 เดือน

และคาดประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกในไตรมาส 2 ปี 2567 และให้เวลาเตรียมความพร้อมอีก 1 ปี ก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2568

Virtual Bank สร้างความตื่นตัวให้ผู้ประกอบการไทยอย่างมาก ทั้งธุรกิจธนาคารดั้งเดิม กลุ่มธุรกิจการเงินที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็แสดงความสนใจเช่นกัน แต่ที่ประกาศตัวเป็นรายแรก พร้อมลุยธุรกิจธนาคารไร้สาขา เห็นจะเป็นธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB จับมือมากับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออันดับ 1 ของไทย

คู่นี้หลายคนมองว่า เหมาะสมกันราวกับ “กิ่งทองใบหยก”  โดย ADVANC มีฐานลูกค้ามือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านรวมกว่า 50 ล้านราย หลังพึ่งปิดดีลซื้อ 3BB ส่วน KTB มีความพร้อมทั้งจากฐานลูกค้าเงินฝาก และความเชี่ยวชาญด้านระบบการเงิน จากกาพัฒนาแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน”

\"เวอร์ชวลแบงก์\"เนื้อหอม บจ.ไทยแห่ลงสนามคึกคัก

ส่วนรายล่าสุดที่พึ่งเปิดตัว คือ กลุ่มบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ที่หวังอาศัยจุดแข็งจากทุกบริษัทในเครือลุยธุรกิจใหม่นี้เช่นกัน ทั้งฐานลูกค้าจากบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ความเชี่ยวชาญในการติดตามหนี้ของบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMTและเทคโนโลยีจากบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (J Ventures) ที่สำคัญยังได้พันธมิตรใหญ่ KB Financial Group กลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำจากเกาหลีใต้เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งอีกแรง

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทที่มีข่าวว่าแสดงความสนใจเช่นกัน ทั้งกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ “ซีพี” ที่ไม่น่าพลาด ด้วยความพร้อมจากเครือข่ายธุรกิจที่ครบวงจร รวมทั้งบรรดาบิ๊กแบงก์ของไทย รวมถึงผู้ประกอบการนอนแบงก์ก็คงไม่อยากตกขบวน

ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า การเปิดให้บริการ Virtual Bank จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเงินทุนและระบบดิจิทัล โดยเฉพาะผู้ให้บริการโทรคมนาคม ลุ้นเป็น S Curve ใหม่ และเป็นจิตวิทยาบวกต่อผู้ที่มีแผนรุกธุรกิจดังกล่าว คือ ADVANC จากจุดแข็งด้านเทคโนโลยี บวกกับฐานลูกค้ามือถือ 45 ล้านราย และล่าสุด คือ JMART ที่มีจุดแข็งจากเครือข่ายของ SINGER, ผู้นำการตามหนี้ JMT เทคโนโลยี Blockchain, Digital Lending Platform และพันธมิตรธนาคารต่างประเทศ KB Kookmin