แบงก์ชาติ โยนโจทย์เข้ม ‘Virtual bank’ ห้ามล่มเกิน 2ชั่วโมงต่อครั้ง

แบงก์ชาติ โยนโจทย์เข้ม ‘Virtual bank’ ห้ามล่มเกิน 2ชั่วโมงต่อครั้ง

“แบงก์ชาติ” เปิด 7 หลักเกณฑ์ให้ไลเซนส์ ‘เวอร์ชวล แบงก์’ ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 5 พันล้านบาท ย้ำระบบไอทีต้องเป็นเลิศ หากขัดข้องต้องแก้ไขภายใน 2 ชั่วโมงต่อครั้งหรือ 8 ชั่วโมงต่อปี เผยมีผู้สนใจแล้วกว่า 10 ราย เตรียมประกาศผู้ได้ไลเซนส์กลางปี 67 ช่วงแรกให้ไม่เกิน 3 ราย

       ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (Financial Landscape) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ออกมาเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา โดยมีจุดมุ่งหวังให้ภาคการเงินมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น

      หนึ่งในเสาหลัก ภายใต้ Financial Landscape คือ อยากให้ประเทศได้รับประโยชน์จากการใช้นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทางการเงินมากขึ้น จึงเป็นที่มา ที่ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นแนวทางการอนุญาต “จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” Virtual Bank

     นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank ถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับระบบเศรษฐกิจการเงินของไทย ซึ่งหากดูในต่างประเทศ มีทั้งประเทศที่ทำแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดตั้ง

      โดย ธปท. หวังว่า การมีธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา จะทำให้การให้บริการของผู้ให้บริการ หลุดจากการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์แบบดั่งเดิม ที่ใช้คนจำนวนมาก มีกระบวนการเยิ่นเย้อ มีระบบงานเก่า ปรับเปลี่ยนได้ยาก ดังนั้นการมีธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา จะเข้ามาตอบโจทย์ในการให้บริการที่คล่องตัวมากขึ้น บนการให้บริการผ่านดิจิทัลทั้งหมด

    ทั้งนี้ สำหรับการจัดตั้ง ธนาคารไร้สาขา มี 7 คุณสมบัติหลักด้วยกัน  

      1. ธุรกิจต้องมี Business Model ที่ตอบโจทย์ให้เกิดความยั่งยืน ทั้งการขยายฐานลูกค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มได้ และมีการบริหารรายได้และต้นทุนได้อย่างยั่งยืน

     2.มีธรรมาภิบาลที่ดี โดยผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร กรรมการต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม 3.มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการดิจิทัล ที่สร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า 

     4.มีการใช้เทคโนโลยีที่ยืดหยุ่นคล่องตัว ลดต้นทุนการดำเนินงาน และพัฒนาภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว

     5.มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงทางการเงินได้อย่างยั่งยืน ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของระบบ 

     6.มีความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อนำไปให้บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม และสุดท้าย 

     7.มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องสามารถสนับสนุนให้ Virtual Bank ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

      ทั้งนี้ มีการ กำหนด ทุนจดทะเบียน สำหรับ ผู้ที่ขอใบอนุญาต Virtual Bank ที่ 5,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยการจัดตั้ง Virtual Bank ที่ฮ่องกง เกาหลีใต้

     อย่างไรก็ตาม การเข้ามากำกับ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ในช่วงแรก ธปท. จะมีการเข้ามาดูแลอย่างเข้มข้น มากกว่าพิเศษ มากกว่าการกำกับธนาคารพาณิชย์

     โดยผู้ให้บริการ จะต้องมีระบบไอทีที่เป็นเลิศ หรือมีเสถียรภาพค่อนข้างมากในการให้บริการบนดิจิทัล โดยผู้ให้บริการต้องสามารถแก้ระบบขัดข้องได้แต่ละครั้งไม่ควรเกิน 2 ชั่ว และไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปี

    ทั้งนี้ ธปท.หวังว่า หลังปิดรับฟังความคิดเห็น วันที่ 12 ก.พ.นี้ ธปท.จะมีการนำข้อเสนอ มาปรับหลักเกณฑ์ ของ Virtual Bank โดยคาดจะออกมาอย่างเป็นทางการในไตรมาสแรกปีนี้ และคาดจะเปิดให้ผู้ให้บริการเข้ามาขอใบอนุญาต 9เดือน และปิดรับพิจารณา สิ้นปี 2566

     นอกจากนี้ ธปท. คาดว่า จะสามารถเปิดเผย ผู้ได้ไลเซนส์ได้ราวกลางปี 2567 และหลังจากนั้น จะให้เวลา ผู้ประกอบการ เตรียมพร้อมในการจัดตั้งธุรกิจ 1 ปี และคาดจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ กลางปี 2568

    “ช่วง 3-5 ปีแรก ตั้งแต่ได้ผู้ที่ได้ใบอนุญาต ธปท.จะมีการเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ว่าผู้ให้บริการมีความพร้อมจริงไม่ ตอบโจทย์ความคาดหวังของธปท.ได้หรือไม่ และไม่มีพฤติกรรมที่ธปท.ไม่อยากเห็น เพื่อให้มั่นใจว่า ธุรกิจมีความพร้อม และต้องเกิดการให้บริการที่ดีตลอดที่ให้บริการ แต่เมื่อสิ้นสุด5ปี หากผู้ให้บริการทำได้ตามเป้าหมาย ธปท.จะลดการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้ให้บริการทำงานคล่องตัวมากขึ้น”

แบงก์-นอนแบงก์สนใจแล้วกว่า10ราย

   นางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีธนาคารพาณิชย์ ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) แสดงความสนใจ ในการเข้ามาประกอบธุรกิจดังกล่าวแล้วกว่า 10 ราย

    ซึ่งมาจากหลากหลายธุรกิจที่สนใจเข้ามาประกอบธุรกิจดังกล่าว ซึ่งในนี้มีทั้งสถาบันการเงินเอง รวมไปถึงสถาบันการเงินที่ร่วมมือกับผู้ให้บริการในธุรกิจอื่นๆ และมีผู้ให้บริการต่างชาติสนใจเข้ามาประกอบธุรกิจนี้ด้วย

     แต่ เบื้องต้น ธปท.จะพิจารณาให้ใบอนุญาต (ไลเซนส์)กับผู้ให้บริการ ไม่เกิน 3 ราย ก่อนจะเปิดเพิ่มเติมในอนาคต ภายใต้การพิจารณาว่า Virtual Bankสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้บริการเพียงพอหรือไม่

     “เราเชื่อว่า การให้ไลเซนส์ 3ราย คือระดับที่พอดี แข่งขันพอดี เพราะการมีแบงก์ใหม่ ธปท.ต้องเข้าไปกำกับอย่างใกล้ชิด ภายใต้กำลังของธปท.ด้วย”

     ทั้งนี้ กรณี ที่มีธนาคารพาณิชย์ สนใจเข้ามาทำธนาคารไร้สาขา อีกไลเซนส์ นอกเหลือจากไลเซนส์ธุรกิจธนาคารดั่งเดิม ก็สามารถทำได้ แต่ต้องแยกชัดเจน กับธนาคารไร้สาขา ทั้งทุนจดทะเบียน หรือการใช้แบรนด์ การใช้โลโก้ต่างๆ ต้องแยกชัดเจน ให้แตกต่างกับธนาคารที่ให้บริการในปัจจุบัน เพื่อป้องกันการสับสนของผู้ใช้บริการทางการเงิน

       นอกจากนี้ เกณฑ์กำหนด การตั้งธนาคารไร้สาขา จะต้องไม่มี การให้บริการผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือเครื่องอัตโนมัติเช่น CDM เนื่องจาก การให้บริการทั้งหมดต้องทำผ่านดิจิทัล แต่ธนาคารไร้สาขา สามารถจับมือกับ ธนาคารอื่นๆ ผู้ให้บริการนอนแบงก์ ร้านสะดวกซื้อ ที่มีการให้บริการผ่านเงินสด หรือที่มีเครื่อง ATM และCDMได้

      อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการเกิดขึ้น ของธนาคารไร้สาขา ที่จะใช้ระยะเวลา 3ปีหลังนี้ หรือคาดเปิดให้บริการได้กลางปี 2568 ถึงจะสามารถเปิดให้บริการได้นั้น เชื่อว่าไม่นานเกินไป และเป็นไปตามมาตรฐานสาขา และไม่ช้าไปกว่าประเทศอื่นๆ และอาจใช้เวลาน้อยกว่าการจัดตั้งธนาคารไร้สาขาธนาคารอื่นๆด้วยซ้ำ

      ทั้งนี้ ท้ายที่สุดแล้ว หากธุรกิจไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ ธปท.จะยกเลิกใบอนุญาต และผู้ประกอบการต้อง มีหลักเกณฑ์ในการรับผิดชอบต่อผู้ให้บริการทางการเงินตามเกณฑ์มาตรการของการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกันธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ในส่วนของผู้ฝากเงิน จะได้รับการคุ้มครอง จากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก(สคฝ.)

      ส่วนคำถามที่ว่า การให้บริการผ่าน ธนาคารไร้สาขา จะเป็นการเปิดโอกาสให้มิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวงผ่านออนไลน์ ดิจิทัลง่ายขึ้นหรือไม่นั้น กรณีนี้เชื่อว่า ไม่ เนื่องจากการทำธุรกรรมทางการเงินบนดิจิทัลจำเป็นต้องพิสูจน์ตัวตนผ่านดิจิทัลอย่างรัดกุมและได้มาตรฐาน ดังนั้นเชื่อว่าการให้บริการของธนาคารไร้สาขาจะมีมาตรฐานการป้องกัยภัยต่างๆได้เทียบเท่ากับธนาคารพาณิชย์