หุ้นยักษ์ใน Corner

ช่วงเร็วๆ นี้  ในตลาดหุ้นไทยเราได้เห็น  “หุ้นปาฏิหาริย์” เกิดขึ้นบ่อย  คำๆ นี้มีความหมายถึงหุ้นที่มีราคาขึ้นไปเร็วและสูงมากจน  “เป็นไปไม่ได้” ตามพื้นฐานหรือปัจจัยอื่นยกเว้นแต่จะเป็นเรื่องของ “ปาฏิหาริย์”

แต่ในความคิดของผมแล้ว มันไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์อะไรเลย  มันคงเป็นเรื่องของการที่หุ้นถูก “Corner” หรือถูก “ต้อนเข้ามุม” หรือการที่หุ้นถูกซื้อมากกว่าปกติโดยไม่ได้คำนึงถึง “มูลค่าที่แท้จริง” จนหุ้นที่ “หมุนเวียน” ในตลาดเหลือน้อยมาก ซึ่งทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปสูงมาก อาจจะเป็น 10 เท่าของราคาก่อนที่จะมีการ Corner ในเวลาอันสั้น อาจจะแค่ไม่กี่เดือน 

และหลังจากนั้น ราคาหุ้นก็อาจจะค้างอยู่สูงประมาณนั้นได้อีกนาน อาจจะเป็นหลายเดือนหรือเป็นปี ๆ  ถ้า Corner นั้นยัง  “ไม่แตก” แต่บ่อยครั้ง ภายในเวลาไม่นาน  หุ้นก็อาจจะตกลงมาอย่างแรง  หลายครั้งแทบจะถล่มทลายเมื่อ Corner นั้น “รั่วหรือแตก”  เพราะนักลงทุนขาดความมั่นใจและเทขายหุ้นอย่างไม่คิดชีวิต

 

  เดิมนั้นหุ้นปาฏิหาริย์หรือหุ้นที่ถูก Corner มักเกิดกับหุ้นตัวเล็กที่มีหุ้นหมุนเวียนต่ำ ต่อมาก็เกิดขึ้นกับหุ้นขนาดกลางที่ถูก Corner จนกลายเป็น “หุ้นแสนล้านบาท” อานิสงค์จากนักลงทุนไทยที่มีเงินมากขึ้นมาก  หลายคนก็ผันตัวจากการเป็นนักธุรกิจที่อาจจะมองว่าการเล่นหุ้นทำเงินง่ายกว่าธุรกิจมาก  อีกส่วนหนึ่งอาจจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่เติบโตขึ้นมากจากการลงทุนโดยเฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะในส่วนของการเก็งกำไร  ให้ผลตอบแทนที่งดงามในยามที่โลกทั้งโลกอยู่ในภาวะของการเก็งกำไรหนักมากในช่วงโควิด-19

 จนถึงในช่วงเร็วๆ นี้และถึงวันนี้  การ Corner หุ้นก็ถึงจุดพีกหรือจุดสูงสุด  นั่นก็คือ  หุ้นที่ถูก Corner หลายตัวกลายเป็น  “หุ้นยักษ์” ที่มีมูลค่าสูงขึ้นมากจนติดอันดับ 1 ใน 10 ของหุ้นที่มี  Market Cap. สูงที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ไทย  บางตัวสูงเป็นอันดับต้นๆในระดับ “ล้านล้านบาท” ทั้งๆที่รายได้และกำไรของธุรกิจนั้นน่าจะอยู่ในระดับกลางเท่านั้นเมื่อเทียบกับหุ้น “Top-Ten” หรือหุ้นระดับกลางอื่น ๆ   ซึ่งนี่ก็ทำให้ผมนึกถึงกระแสของการเก็งกำไรหุ้นในตลาดสหรัฐในช่วงโควิดที่เราได้เห็นการ Corner หุ้นตัวเล็กอย่างหุ้น “GameStop” และหุ้นขนาดกลางที่กลายเป็นหุ้นยักษ์อย่างหุ้น “Tesla” ซึ่งส่งผลให้หุ้นเทสลากลายเป็นหุ้นยักษ์ที่ท้าทายหุ้น “Top-Ten” ของอเมริกา

อย่างไรก็ตาม  หุ้นเทสลาซึ่งตอนที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดนั้น  นักลงทุนต่างก็คิดว่าหุ้นเทสลาเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกที่กำลัง “Take off” บริษัทเริ่มมีกำไรและโรงงานที่เมืองจีนกำลังไปได้สวยมาก  เทสลากำลังปฏิวัติโลกของรถยนต์สันดาปภายในให้กลายเป็นรถไฟฟ้าและจะไม่มีผู้ผลิตรายใดที่จะมาแข่งขันอย่างใกล้เคียงได้  ราคาหุ้นขึ้นไป 10 เท่าในเวลาอันสั้นคือปีเดียว  Market Cap. ใหญ่กว่ามูลค่าหุ้นรถยนต์ “รุ่นเก่า” ทั้งโลกรวมกัน 

เป็นปาฏิหาริย์ที่ทำให้อีลอนมัสก์กลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกหลังจากที่แทบจะล้มละลายขายทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อกู้ธุรกิจก่อนหน้านั้นไม่นาน  อย่างไรก็ตาม  Corner หุ้นเทสลาล่าสุดนั้นดูเหมือนจะ  “แตก” ลงอย่างรวดเร็ว  ราคาหุ้นที่ประมาณ 400 เหรียญเมื่อปลายปี 2021 ตกลงมาเหลือประมาณ 120 เหรียญตอนสิ้นปี 2022 หรือลดลงประมาณ 70% ในเวลาเพียงปีเดียว

  หุ้น “Top-Ten” หรือหุ้นที่ใหญ่ที่สุดวัดจาก Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นของบริษัท 10 อันดับแรกของตลาดหุ้นไทยในวันนี้  ผมคิดว่ามีหุ้นที่น่าจะอยู่ใน Corner ไม่น้อยกว่า 3-4 ตัว  และนั่นก็คือหุ้นที่ผมคิดว่ามีมูลค่าสูงกว่าพื้นฐานทางธุรกิจอย่างชัดเจน  และเหตุผลที่ราคาหุ้นสูงมากนั้นส่วนสำคัญมาจากการที่มีนักลงทุน  ไม่ว่าจะเป็นใครซึ่งรวมถึงเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยได้เข้าไปซื้อหรือไม่ขายหุ้นออกไปแม้ว่าราคาหุ้นจะสูงเกินพื้นฐานไปมาก  และการซื้อหรือไม่ขายนั้น  มีมากกว่าความต้องการที่จะขายมาก  ส่วนหนึ่งเนื่องจากปริมาณหุ้นที่จะขายมีจำกัด  บางทีแค่ไม่เกิน 20-30% ของหุ้นทั้งหมดหรือที่เรียกว่าหุ้นมี “Free Float” ต่ำ

  หุ้นที่ผมคิดว่าอยู่ใน Corner จำนวน 4 ตัวนั้น  ผมลองมาคำนวณดูพบข้อมูลพื้นฐานดังต่อไปนี้คือ  1) มี Market Cap. โดยเฉลี่ยหุ้นละประมาณ 779,000 ล้านบาท 2) รายได้ “ปกติ” ต่อปีในปี 2565 โดยประมาณจากตัวเลขสูงสุดที่เคยทำได้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยปีละ  72,783 ล้านบาท

3) กำไรต่อปี ประมาณจากกำไรสูงสุดที่ทำได้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยปีละ 13,824 ล้านบาท 4) ค่า P/E ของหุ้นเฉลี่ยถ้าคิดจากตัวเลขเฉลี่ยของข้อ 1 และข้อ 3 ก็คือ ประมาณ 56 เท่า  แต่ถ้าคิดโดยหาค่า P/E ของแต่ละตัวแล้วนำมาเฉลี่ยก็จะได้ค่า PE ประมาณ 59 เท่า  ข้อ 5)ปันผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 0.33% ต่อปี  และสุดท้าย ข้อ 6) ที่เป็นสัญญาณบอกว่าอาจจะเกิดการ Corner หุ้นก็คือ Free Float ของหุ้นที่วัดจากผู้ถือหุ้นที่ถือต่ำกว่า 5 อันดับแรกเป็นต้นไปว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ ก็พบว่าเท่ากับ 26%

 ตัวเลขของหุ้น Top-Ten อีก 6 ตัวที่ไม่น่าจะมีการ Corner เพราะหุ้นมีการกระจายในกลุ่มนักลงทุนทั่วไปและแทบจะไม่มีรายใหญ่เป็นเรื่องราวหรือถ้ามีรายใหญ่ก็เป็นรายใหญ่ที่เป็นรัฐหรือบริษัทจดทะเบียนอื่น  พบว่า 1) หุ้นมี Market Cap. โดยเฉลี่ยหุ้นละ 619,126 ล้านบาท เล็กกว่า “หุ้นที่อยู่ใน Corner” เล็กน้อย 2) รายได้ต่อปีของปี 2565 ประมาณว่าอยู่ที่เฉลี่ยบริษัทละ 915,079 ล้านบาท หรือมากกว่าหุ้นที่ถูก Corner กว่า 10 เท่า  จริงอยู่ว่ามีหุ้นตัวหนึ่งที่ใหญ่กว่าปกติมาก  อย่างไรก็ตาม  ถ้าตัดหุ้นตัวนี้ออก  ค่าเฉลี่ย 5 ตัวก็ยังสูงถึงบริษัทละ 409,165 ล้านบาทต่อปี มากกว่าหุ้นใน Corner ถึงเกือบ 5 เท่า  3)  กำไรเฉลี่ยของบริษัทในปี 2565 อยู่ที่ประมาณบริษัทละ 41,797 ล้านบาท สูงกว่าหุ้นใน Corner 4 ตัว ถึง 3 เท่า

4) ค่า P/E เฉลี่ยของหุ้น Top-Ten 6 ตัวอยู่ที่ 14.8 เท่า เทียบกับ 56 เท่า  หรือถ้าคิดค่า P/E รายตัวแล้วนำมาเฉลี่ย ก็จะอยู่ที่ 21.8 เท่า เทียบกับ 59 เท่า  5) ปันผลตอบแทนต่อปีโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.4% ดีมากเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มที่ถูก Corner ที่ 0.33% เท่านั้น  และสุดท้ายคือ 6)  Free Float ของหุ้น 6 ตัวนี้เฉลี่ยเท่ากับ 37.9% ซึ่งทำให้การ Corner ทำได้ยากมาก

อาจจะมีคำถามว่าใครเป็น “เจ้ามือ” ในการ Corner หุ้นที่ใหญ่ขนาดนั้นได้?  ผมเองก็ตอบไม่ได้  บางทีอาจจะไม่ได้มีเจ้ามือเป็นเรื่องเป็นราวแบบที่มักจะเกิดขึ้นกับหุ้นตัวเล็กที่เห็นได้ชัดว่าทำได้ง่าย  เช่น หุ้นที่มี Free Float เพียงไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ที่ในยุคนี้มีคนสามารถเข้าไปทำ Corner ได้มากมาย  แต่ในกรณีของหุ้นยักษ์ระดับ Top-Ten นั้น

  บางทีคนที่เข้าไปซื้ออาจจะไม่ได้คิดว่าหุ้นนั้นมีราคาแพงกว่าปกติมาก  พวกเขาอาจจะเข้าไปเพราะมีคนซึ่งรวมถึงผู้บริหารและนักวิเคราะห์ที่บอกว่าหุ้นเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ที่จะโตขึ้นไปในระดับโลกภายในเวลาไม่กี่ปี  ดังนั้น  ราคาหุ้นที่แพงจัดไม่เป็นประเด็น  และนี่เป็น  “หุ้นเติบโต” ที่เห็นได้ชัดจากการขยายธุรกิจไปอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรม  “แห่งอนาคต”

และสิ่งที่พิสูจน์ว่าเรื่องทั้งหลายจะเป็นจริงก็คือราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไปพร้อม ๆ  กับผู้บริหารและ/หรือเจ้าของและนักลงทุนรายใหญ่เริ่มเข้าไปไล่ซื้อหุ้นอย่างหนัก  ซึ่งก็ดึงดูดให้นักลงทุนที่ชอบเก็งกำไรเข้าไปเล่นและผลักดันให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปอีกจน “ติดลม”  ต่อมาก็อาจจะมาจากผลประกอบการบริษัทที่ดีขึ้นอย่างน่าประทับใจ  หุ้นก็ยิ่งโตขึ้นไปอีก  ถึงจุดหนึ่ง หุ้นอาจจะถูกนำไปคำนวณในดัชนีที่ใหญ่ขึ้นซึ่งก็  “บังคับ” ให้กองทุนต้องเข้าไปซื้อหุ้นที่ติดอยู่ในมุมหรือถูก Corner อยู่แล้ว  ผลก็คือ  ราคาหรือมูลค่าหุ้นก็อาจจะ “ทะลุหลุดโลก” โดยที่หาคนทำไม่เจอ

คำเตือนของผมก็คือ  ในระยะยาวแล้ว  ราคาหุ้นยังไงก็หนีไม่พ้นพื้นฐานที่แท้จริง  และการที่หุ้นจะตกลงมาอย่างหนักนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเมื่อ  “ความจริงปรากฏ”  หุ้นเทสลาเป็นตัวอย่างที่ดี  ดังนั้น  ถ้าเป็น VI ระยะยาวที่แท้จริงแล้ว  เราก็ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง