กนง.ปรับลดจีดีพีปี65-66จับตา2ปัจจัยเสี่ยง

กนง.ปรับลดจีดีพีปี65-66จับตา2ปัจจัยเสี่ยง

กนง. มติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% ประเมินเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ต้องจับตา 2 ปัจจัยเสี่ยงใหญ่ "เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และ การส่งผ่านต้นทุนธุรกิจที่สูงขึ้น ประเมินเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดแล้ว

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องซึ่งภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังเป็นแรงส่งสำคัญ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงทำให้ กนง. ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 3.2% และปีหน้าลดลงเหลือ 3.7% 

 

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า คณะกรรมการฯมีความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังเป็นแรงส่งสำคัญต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไปและลดทอนผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

 

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 มีแนวโน้มสูงกว่าประมาณการครั้งก่อนจากราคาพลังงานในประเทศเป็นสำคัญ แต่จะยังโน้มลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในไตรมาสสามของปีหน้า โดยมองว่า เงินเฟ้อเทียบเดือนต่อเดือนจะปรับลดลงจากฐานที่สูงปีก่อนจากราคาพลังงานและอาหารสดที่จะลดลง

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยนั้น คณะกรรมการฯประเมินว่า มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่ต้องติดตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวจึงเหตุผลสำคัญและควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการฯพร้อมจะปรับเงื่อนเวลาในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป

ส่วนประมาณการเศรษฐกิจนั้น ในปีนี้ จะอยู่ที่ 3.2% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3.3% ส่วนปีหน้าจะอยู่ที่ 3.7% จากคาดการ์เดิม 3.8% ส่วนการส่งออกปีนี้จะอยู่ที่ 7.4% จาก 8.2% ส่วนปีหน้าจะอยู่ที่ 1% จาก 1.1%

ด้าน ภาพเศรษฐกิจที่คณะกรรมการฯได้พิจารณาในครั้งนี้ ในภาพรวมมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนต่อเนื่องจากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชน ซึ่งจะลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ในแง่การท่องเที่ยว พบว่า นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศสูงกว่าที่ประเมินไว้ครั้งก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเฉลี่ยต่อวันก็เริ่มเข้าสู่ 50% ของช่วงก่อนโควิด โดยนักท่องเที่ยวในแถบเอเชียเข้ามามาก ทำให้คาดว่าในปี 2566 และปี 2567 การพึ่งพานักท่องเที่ยวเอเชียจะเป็นตัวหลักช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ เพราะเศรษฐกิจในเอเชียก็มีแนวโน้มดีกว่าประเทศเศรษฐกิจหลัก ฉะนั้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะกระทบต่อการท่องเที่ยวของเราไม่มากนัก

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปนั้น ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในช่วงไตรมาสที่สามของปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นเพราะแรงกดดันด้านราคาคลี่คลายลง ทั้งราคาน้ำมัน แก๊ส และสินค้าโภคภัณฑ์ก็ลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเงินเฟ้อในปีหน้านั้น คณะกรรมการฯมองว่า จะขยายตัวจากประมาณการเดิมจาก 2.6% เป็น 3.0% หลักๆมาจากสมมติฐานการปรับขึ้นราคาพลังงานในประเทศ และแนวโน้มต้นทุนค่าไฟฟ้าคาดว่า จะทยอยส่งผ่านไปยังราคาไฟฟ้าในปีหน้า ส่วนปีนี้ อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 6.0% และ ปี 67 จะอยู่ที่ 2.1%

เขากล่าวว่า หากมองการดำเนินนโยบายการเงินในภาพรวมตั้งแต่ต้นปีนี้ ทางคณะกรรมการฯอยากให้มั่นใจว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสามารถไปได้ โดยไม่สร้างแรงกดดันเงินเฟ้อในอนาคต ด้านเงินเฟ้อเริ่มผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและมีแนวโน้มลดลงตามที่ประเมินไว้ ส่วนเสถียรภาพระบบการเงินก็มีแนวโน้มที่ดีจากการจ้างงานและรายได้มีการฟื้นตัว แต่ยังมีกลุ่มเปราะบางที่ต้องจับตาทั้งต้นทุนจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่ม

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯมองความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป คือ

1.เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และเรื่องเศรษฐกิจจีนที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ได้สะสางปัญหาให้เต็มที่ รวมถึง นโยบายเปิดประเทศ

2.การส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจที่อาจเพิ่มขึ้น และการปรับราคาพลังงานในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน