ดาวโจนส์บวก 95 จุดได้แรงหนุนจากรายงานการประชุมของเฟด

ดาวโจนส์บวก 95 จุดได้แรงหนุนจากรายงานการประชุมของเฟด

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพุธ(23พ.ย.)พุ่งขึ้น 95 จุด เพราะได้แรงหนุนจากรายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ประจำวันที่ 1-2 พ.ย.

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพุธ(23พ.ย.)พุ่งขึ้น 95 จุด เพราะได้แรงหนุนจากรายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ประจำวันที่ 1-2 พ.ย.

ก่อนที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะปิดทำการในวันพฤหัสบดี(24พ.ย.)ตามเวลาสหรัฐเนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า และจะมีการซื้อขายเพียงครึ่งวันในวันศุกร์

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 95.96 จุด หรือ 0.28% ปิดที่ 34,194.06 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 23.68 จุด หรือ 0.59% ปิดที่ 4,027.26 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 110.91 จุด หรือ 0.99% ปิดที่ 11,285.32 จุด

อย่างไรก็ดี หุ้นพลังงานร่วงลงสวนทางตลาด ตามราคาน้ำมันที่ทรุดตัวลง หลังมีรายงานว่า กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือ G7 เตรียมกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียในกรอบ 65-70 ดอลลาร์/บาร์เรล

ทั้งนี้ G7 รวมทั้งสหภาพยุโรป (อียู) และออสเตรเลียมีกำหนดบังคับใช้เพดานราคาน้ำมันรัสเซียดังกล่าวในวันที่ 5 ธ.ค. เพื่อเป็นมาตรการลงโทษต่อการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนในวันที่ 24 ก.พ. ซึ่งเมื่อมีการประกาศใช้จะทำให้บริษัทเดินเรือ, บริษัทประกันวินาศภัย และบริษัทประกันภัยต่อ ไม่สามารถให้บริการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งคาร์โกน้ำมันรัสเซียที่มีราคาสูงกว่าเพดานที่ G7 และพันธมิตรกำหนดไว้

ขณะที่รายงานการประชุมเฟด บ่งชี้ว่าเสียงส่วนใหญ่จำนวนมากของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน เห็นพ้องกันว่าควรชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย

นับตั้งแต่การประชุมเฟดหนล่าสุดเมื่อวันที่ 1-2 พ.ย. นักลงทุนมองในแง่บวกเพิ่มมากขึ้น ว่าเงินเฟ้อเริ่มทุเลาลงแล้ว ซึ่งเฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 17,000 ราย สู่ระดับ 240,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 225,000 ราย

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนต.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ย.

ทั้งนี้ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อรถยนต์และเครื่องบิน

ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนต.ค. หลังจากลดลง 0.8% ในเดือนก.ย.