นักวิเคราะห์ส่อง ค่าเงินบาทแข็งค่า ต่างชาติทะลักเข้าบอนด์สั้น

นักวิเคราะห์ส่อง ค่าเงินบาทแข็งค่า ต่างชาติทะลักเข้าบอนด์สั้น

เงินบาทพลิกแข็งค่าแตะ 36.83 ต่อดอลลาร์ หลังเงินทุนไหลเข้าตลาดบอนด์ เผย 4 วัน กว่า 7.87 หมื่นล้านบาท นักวิเคราะห์ประเมิน “ขาขึ้น” เงินดอลลาร์ใกล้สิ้นสุด หากพรรครีพับลิกันชนะเลือกตั้ง เฟด ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าตามคาด ประเมินเงินบาทแข็งค่าแตะ 35 บาทต่อดอลลาร์

       สกุลเงินเอเชียในวานนี้(9พ.ย.) ต่างปรับตัวแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังนักลงทุนเริ่มคาดการณ์ว่า พรรครีพับลิกัน จะกลายเป็นผู้ชนะในศึกเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐและครองเสียงข้างมากในสภาล่างของสภาคองเกรส

     ซึ่งจะส่งผลให้หลังจากนี้การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะมีความยากลำบากมากขึ้น 

       แต่ประเด็นนี้จะส่งผลดีต่อตลาดการลงทุน เพราะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยเงินบาทวานนี้ อ่อนค่าลงราว 0.42% มาปิดตลาดที่ระดับ 36.83 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งการอ่อนค่าของเงินบาทนอกจากจะเกิดจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงแล้ว ยังเป็นผลจากการที่มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตร(บอนด์)ไทยจำนวนมากด้วย โดยวานนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดบอนด์ไทยรวมกว่า 5,143 ล้านบาท และหากนับในช่วง 4 วันทำการที่ผ่านมา พบว่า มียอดซื้อสุทธิรวมกันกว่า 78,784 ล้านบาท 


       นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของ เฟด ที่ระดับ 0.75% ได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยการประชุมครั้งหน้าในเดือนธ.ค.อาจเห็นเฟดขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.50% ทำให้ทิศทางดอลลาร์ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง  

      อีกปัจจัยสำคัญ คือ การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ ที่แม้คะแนนจะยังไม่ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่นักลงทุนคาดว่า พรรครีพับลิกันจะสามารถครองเสียงข้างมากได้ ในสภาผู้แทนฯ ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยของ เฟด อาจทำได้ยากมากขึ้น และมีโอกาสเกิดการตั้งคำถามได้ว่า การขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐได้ สวนทางกับหลายประเทศที่เริ่มปรับทิศทางดอกเบี้ย ชะลอการขึ้นลง เหมือนอดีต ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี ที่มีการกดดันการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ 

       ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อาจต้องเผชิญกับอุปสรรคมากขึ้นในระยะข้างหน้าได้ อีกทั้ง หากดูตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบัน เฟดมีการขึ้นดอกเบี้ยมาต่อเนื่อง มาอยู่ที่ ระดับ 3.75-4.00%

      “วันนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย เริ่มกลับมาเกินดุลเล็กน้อย จากผลบวกการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมา ทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในบอนด์ ในหุ้น แต่ปัจจัยชี้วัดการเคลื่อนไหวค่าเงินส่วนใหญ่ เกาะอยู่กับปัจจัยต่างประเทศ 95% ดังนั้นมองว่า หากระยะข้างหน้า เงินบาทเคลื่อนไหวเป็นแข็งค่า ก็คงต้องปล่อยไป เพราะเราคงต้านไม่ไหว แทรกแซงคงเอาไม่อยู่ ไม่มีประโยชน์”

บาทมีโอกาสแข็งค่าสู่36บาทต่อดอลล์

     อย่างไรก็ตาม มองว่าระยะข้างหน้า มีโอกาสที่เงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าได้ จากการที่ดอลลาร์แข็งค่า เพราะมองว่า ปัจจัยลบที่จะมาจากยุโรป จะเห็นมากขึ้น จากผลกระทบรัสเซียยูเครน ทำให้ต้องประหยัดการใช้พลังงาน ใช้แก๊สธรรมชาติ เหล่านี้อาจกระทบทำให้คนตกงานมากขึ้น ดังนั้นการเผชิญข่าวร้ายจากยุโรปในระยะข้าหน้า อาจทำให้นักลงทุน กลับเข้าไปถือดอลลาร์ที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น เพราะภาพเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้ ดูดีกว่ายุโรปมาก

     ดังนั้นมองว่า เงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวได้ทั้งสองทิศทาง คือ ทั้งอ่อนค่ามากขึ้น และแข็งค่าได้มากกว่าปัจจุบัน โดยอาจเห็นเงินบาทไปสู่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ในช่วงสองเดือนที่เหลือนี้ แต่ขณะเดียวกัน เงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าไปสู่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ได้ จากความต้องการดอลลาร์ที่จะเพิ่มขึ้นอีกในระยะข้างหน้า

     สำหรับการแข็งค่าของเงินบาท จะเห็นได้ว่า มีแรงซื้อเข้ามาในพันธบัตรระยะสั้นต่ำกว่า 1ปีมากขึ้น ทำให้ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีแรงซื้อเข้ามาในบอนด์อย่างมีนัยสำคัญ โดยเป็นการซื้อบอนด์ระยะสั้น 7.5 หมื่นล้านบาท และซื้อในบอนด์ระยะยาว 4 พันล้านบาท และหากดูตั้งแต่ต้นปี ถึงปัจจุบัน มีต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิ ในหุ้น และบอนด์แล้ว 2.15 แสนล้านบาท

สิ้นปีบาทแตะ36.50บาทต่อดอลล์

     นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงิน ตลาดทุน Krungthai Global Markets ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า การกลับมาแข็งค่าของเงินบาท มาจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ แต่อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ถือว่ามาเร็วกว่าที่คิด เพราะนักลงทุนมองว่า การมาของพรรคริพับลิกัน อาจทำให้เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ เพราะความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐในระยะข้างหน้าที่ชัดเจนมากขึ้น

     ดังนั้นประเมินว่า ใกล้สิ้นปี เงินบาทอาจแข็งค่า ตามที่คาด โดยคาดว่าเห็นไปสู่ระดับ 36.50บาทต่อดอลลาร์ได้ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในกลางธ.ค. ว่าเป็นไปตามที่นักลงทุนคาดการณ์หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นไปตามที่คาด ก็เชื่อว่าขาขึ้นของดอกเบี้ยสหรัฐ ใกล้สิ้นสุดลงแล้ว ทำให้นักลงทุน มีการถือครองดอลลาร์ลดลงได้

     อีกปัจจัยที่ต้องจับตา คือ เงินเฟ้อสหรัฐ ที่จะชี้วัดดอกเบี้ยของสหรัฐในระยะข้างหน้า หากเดือนนี้ยังเพิ่มขึ้น 0.6-0.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ก็อาจจะเห็นเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงได้อยู่

      “เงินเฟ้อถือเป็นจุดสำคัญที่จะชี้วัด ดอกเบี้ยของเฟดใกล้จบขาขึ้นหรือยัง และนักลงทุนรอดูว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดท้ายที่สุดจะหยุดอยู่ที่ 5.25% หรือไม่ ตลาดก็ไม่เซอร์ไพรส์ ทำให้เงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่าได้ เพราะพื้นฐานเราก็ไม่ได้แย่ และมีโอกาสไปที่ 36.00บาทได้ในระยะข้างหน้า”

ฟันด์โฟลด์ไหลเข้าบอนด์-หุ้น

     นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า ในช่วง 2-3วันที่ผ่านมา เห็นเงินทุนไหลเข้าไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะเข้ามาในบอนด์วันละ 3 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นระยะสั้นๆ 

     โดยปัจจัยบวกที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากดุลบัญชีเดินสะพัด ที่กลับมาบวกมากขึ้น จากท่องเที่ยวที่ดีขึ้น และค่าขนส่งที่ลดลง ทำให้ดุลบริการเริ่มกลับมาบวกมากขึ้น ดังนั้นระยะสั้น เห็นเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ตามทิศทางค่าเงินในภูมิภาค

     แต่อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด มองว่า เงินบาทมีโอกาสกลับมาอ่อนค่าได้ ในกลางเดือนธ.ค. จากการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งของเฟด ซึ่งจะส่งผลให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าได้ หากเทียบกับสกุลเงินต่างๆ จนกว่าจะหมดวัฏจักรขาขึ้นของดอกเบี้ยสหรัฐ หรือราวต้นปีหน้า ดังนั้นตั้งแต่นี้เป็นต้นไป จนถึงต้นปีหน้า คาดว่าตลาดเงินตลาดทุน และค่าเงินบาทจะผันผวนต่อเนื่องได้

หมดยุคดอลลาร์ขาขึ้น

    นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาท หลักๆมาจากการที่ดอลลาร์อ่อนค่า และแผ่วลงชัดเจน แม้เฟดขึ้นดอกเบี้ยล่าสุดที่ 0.75% แต่ดอลลาร์ไม่ได้ทำจุดสูงสุดใหม่ สะท้อนว่า ตลาดเริ่มรับปัจจัยบวกจากดอลลาร์ไปค่อนข้างมากแล้ว ทำให้เริ่มมองหาปัจจัยบวกอื่นๆมากขึ้น

     ทั้งนี้ มองว่า ตัวที่จะชี้วัดทิศทางเงินดอลลาร์ที่ชัดเจน ว่าจะเป็นขาขึ้นต่อ หรือหมดยุคขาขึ้นของดอลลาร์แล้ว คือ วันนี้(10พ.ย.) จะเป็นตัวสำคัญ จากการประกาศตัวเลข ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนต.ค. ที่จะออกมา หากออกมาสูงกว่าคาด แต่ตลาดไม่ได้มีการซื้อดอลลาร์กลับ หรือมีแรงซื้อต่อเนื่อง อาจสะท้อนได้ว่า ขาขึ้นของดอลลาร์จบแล้ว

เงินบาทแตะ35บาทได้ปีหน้า

    อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่แข็งค่า ส่วนหนึ่งมีเงินไหลเข้าในบอนด์ระยะสั้นๆ โดย 3-4 วันทำการที่ผ่านมา มีแรงซื้อในบอนด์ต่ำกว่า1ปี กว่า 7หมื่นล้านบาท ทำให้เงินกลับมาแข็งค่าเร็ว แต่คาดว่าส่วนหนึ่ง เป็นการเข้ามาลงทุนเน้นเข้าเร็วออกเร็ว และแบ่งรอบเพื่อเข้าไปซื้อหุ้นระยะข้างหน้า สะท้อนปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล ดังนั้นมีโอกาสที่เงินบาทจะกลับมายืนที่ระดับ 35 บาทได้ในปีหน้า

    สำหรับทิศทางเงินบาทระยะสั้นถึงสิ้นปีนี้ ให้กรอบที่ 36.00-38.50บาท โดยต้องติดตาม เงินที่เข้ามาลงทุนในระยะสั้นจะเปลี่ยนมาเป็นการลงทุนระยะยาวหรือไม่ หรือพร้อมจะพลิกเป็นไหลออก ในระยะข้างหน้าเมื่อเซ็นติเม้นท์เศรษฐกิจเปลี่ยนไป

เงินเฟ้ออาจร่วงหากรีพับลิกันชนะ

     ด้าน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน ผลสำรวจความคิดเห็นและตลาดพนันชี้ว่า พรรครีพับลิกันส่อเค้าได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่พรรคเดโมแครตโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ครองทำเนียบขาว ผลการเลือกตั้งแบบนี้ทำให้สภากับรัฐบาลมาจากต่างพรรค ซึ่งในอดีตมักจะส่งผลดีกับตลาดหุ้นในระยะยาว

     หลังจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจมหภาคและนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวของตลาดในปีนี้ การเมืองในสภาอาจส่งผลต่อราคาหุ้นต่อไป

    ในอดีตหุ้นมักไปได้ดีเมื่อประธานาธิบดีมาจากเดโมแครตแต่รีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภา นักลงทุนมองว่าการขัดขากันทางการเมืองทำให้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญ

     อาร์บีซีแคปิตอลมาร์เก็ต รวบรวมข้อมูลตั้งแต่ พ.ศ.2475 พบว่า ผลตอบแทนเอสแอนด์พี 500 เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 14% เมื่อสภาคองเกรสครองกันคนละพรรค 13% เมื่อรีพับลิกันครองสภาคองเกรสภายใต้ประธานาธิบดีเดโมแครต เทียบกับผลตอบแทนเฉลี่ย 10% เมื่อเดโมแครตได้เป็นทั้งประธานาธิบดีและครองเสียงข้างมากในสภา

     นายทรอย เกเยสกี ประธานนักกลยุทธ์ตลาดบริษัทเอฟเอสอินเวสต์เมนต์ กล่าวว่า สภาคองเกรสที่นำโดยรีพับลิกันอาจยุติมาตรการกระตุ้นทางการคลัง และทำให้ “การลดเงินเฟ้อของเฟดง่ายขึ้นเล็กน้อย”