เกณฑ์การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของกลุ่มธุรกิจธนาคาร | สุมาพร

เกณฑ์การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของกลุ่มธุรกิจธนาคาร | สุมาพร

ผู้เขียนขออธิบายเนื้อหาที่สำคัญบางส่วน ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ที่ประกอบธุรกิจและทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ประกาศบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2565 

เหตุผลและที่มา

ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สินทรัพย์ดิจิทัลมีรูปแบบที่หลากหลาย โดยในบางรูปแบบอาจมีความเสี่ยงต่อการผันผวนในเชิงมูลค่า ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการและเศรษฐกิจโดยรวม

ดังนั้น เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ จึงเป็นไปเพื่อสร้างหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจและการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้กับกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์

เช่น การกำหนดอัตราส่วนในการลงทุน กำกับดูแลด้านธรรมาภิบาล กำหนดเกณฑ์การดำรงเงินกองทุน รวมถึงดูแลความเสี่ยงจากการเชื่อมโยงการทำธุรกิจของกลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์

กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารรวมถึงใครบ้าง?

หมายถึง ธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน เช่น บริษัทแม่ บริษัทลูก และบริษัทร่วมทุกแห่งของธนาคารพาณิชย์ โดยให้รวมถึงบริษัทในกลุ่มทั้งที่ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ และบริษัทในกลุ่มที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ

เช่น บริษัทหลักทรัพย์ในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. หรือ บริษัทประกันภัยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. โดยในกรณีที่มีหน่วยงานกำกับดูแลอยู่แล้ว บริษัทดังกล่าวยังมีหน้าที่ในการถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. ฉบับนี้ด้วย

นิยาม “สินทรัพย์ดิจิทัล” ถูกกำหนดไว้อย่างไร?

ประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดนิยาม “สินทรัพย์ดิจิทัล” กว้างกว่าที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้น นอกจากให้หมายความถึง คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว ยังให้รวมถึงสัญญาในการได้มาซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัล และ NFT (Non-Fungible Token) ด้วย

อย่างไรก็ดี นิยามสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ประกาศของ ธปท. ไม่รวมถึง 1) CBDC ภายใต้โครงการของ ธปท. 2) Utility Token แบบพร้อมใช้ ที่กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการเพื่อการอุปโภคที่มีลักษณะไม่ซับซ้อนและออกมา เพื่อการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าหรือส่งเสริมการขาย

เช่น การออก Token พร้อมใช้ที่มีลักษณะคล้ายบัตรกำนัลที่ลูกค้าสามารถนำไปซื้อของแทนเงินสดในร้านค้าได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ผู้ออกดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งแสดงถึงการกำหนดสิทธิที่พร้อมใช้ ไม่ซับซ้อน และเป็นไปเพื่อสร้างสัมพันธ์กับลูกค้า

เกณฑ์การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของกลุ่มธุรกิจธนาคาร | สุมาพร

ข้อจำกัดใน “การประกอบธุรกิจ” สินทรัพย์ดิจิทัล ทำอะไรได้บ้าง? แบ่งเป็นสองกรณี กล่าวคือ

          กรณีของ 1) ธนาคารพาณิชย์ ไม่สามารถประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ซึ่งธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ประกาศฉบับนี้หมายถึง

(1) ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล อันได้แก่ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) และธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

เช่น ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น

(2) ธุรกิจที่ในต่างประเทศมีลักษณะเดียวกันกับธุรกิจที่อยู่ภายใต้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในข้างต้น

(3) ธุรกิจที่มีธุรกิจหรือกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล (พิจารณาจาก Core business หรือ Main activities)

(4) ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ

เกณฑ์การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของกลุ่มธุรกิจธนาคาร | สุมาพร

  2) บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ภายใต้หลักการ “ค่อยเป็นค่อยไป”  โดยให้บริษัทแม่ขออนุญาตต่อ ธปท. เป็นรายกรณี

ในการขออนุญาตบริษัทแม่ต้องตรวจสอบว่า กลุ่มธุรกิจทางการเงินมีความมั่นคงโดยมีเงินกองทุนเพียงพอที่จะรองรับความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากดำเนินการดังกล่าว (โดยเมื่อนำเงินลงทุนมาหักออกจากเงินกองทุนของกลุ่มธุรกิจทางการเงินแล้ว จะต้องยังเป็นไปตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการกำกับดูแลเงินกองทุนสำหรับกลุ่มธุรกิจทางการเงิน)

  ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจจากประกาศฉบับนี้ คือ การป้องกันมิให้ธนาคารและกลุ่มธุรกิจอาศัยช่องว่างทางกฎหมายในการประกอบธุรกิจที่มีลักษณะคล้ายกันแต่อยู่ในต่างประเทศ รวมถึงการทำกิจการอื่นใดที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในประเภทที่ยังไม่ได้มีหน่วยงานในประเทศไทยกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ

 สามารถทำ “ธุรกรรม” เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในแบบใดได้บ้าง?

ทั้งธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินสามารถ

1) ออกและถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลได้หากมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนานวัตกรรม โดยให้ขออนุญาตกับ ธปท. เป็นรายกรณี

เกณฑ์การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของกลุ่มธุรกิจธนาคาร | สุมาพร

2) สามารถลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนหรือใบทรัสต์ของกองทรัสต์ที่มีนโยบายลงทุนส่วนน้อยในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ (ห้ามลงในกองที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหลัก)

จำกัดการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ 3% ของเงินกองทุนอย่างไร?

ในส่วนของการกำกับดูแลการบริหารจัดการความเสี่ยงนั้น ในกรณีของ

1) ธนาคารพาณิชย์ หากประสงค์จะลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ทั้งในและนอกกลุ่ม) หรือให้สินเชื่อแก่บริษัทในกลุ่มที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม) ต้องจำกัดปริมาณในรายการดังกล่าวรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 3% ของเงินกองทุนของธนาคาร

2) บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน จำกัดปริมาณการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุนกลุ่มธุรกิจการเงิน (โดยหากเกิน ให้หักส่วนเกินออกจากออกจากเงินกองทุน CET1 ตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด)

เกณฑ์การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของกลุ่มธุรกิจธนาคาร | สุมาพร

หากบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไปก่อนหน้านี้แล้ว ต้องทำอย่างไร?

กรณีเช่น บริษัทหลักทรัพย์ในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ไปก่อนหน้านี้ ให้ดำเนินการได้ต่อไป โดยไม่ต้องกลับมาขออนุญาตจาก ธปท. อีก

และหากมีองค์ประกอบของคณะกรรมการที่ไม่เป็นไปตามการกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาลตามประกาศฉบับนี้ แต่กรรมการได้ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้อยู่ต่อได้จนครบวาระ

อย่างไรก็ดี หากเป็นกรณีที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ได้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ก่อน แต่มีปริมาณการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเกิน 3% ของเงินกองทุนกลุ่มธุรกิจการเงิน ให้บริษัทดังกล่าวดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศฉบับนี้ภายใน 180 นับจากวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้

ท้ายที่สุด ที่เล่ามาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ผู้เกี่ยวข้องพึงศึกษาในรายละเอียดอย่างรอบคอบเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ ธปท. กำหนด.

คอลัมน์ Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0 
ดร.สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง